xs
xsm
sm
md
lg

‘พันธวณิช’แนะรัฐผ่าระบบอี-ออคชั่น ประหยัดงบประมูล 4 หมื่นล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พันธณิชแนะรัฐบาลใหม่ผ่าระบบอี-ออกชัน ลดเพดานมูลค่าการประมูลจาก 2 ล้านบาท เหลือ 1 ล้านบาท เชื่อประหยัดประมาณปีนี้ได้ถึง 4 หมื่นล้านบาท ย้ำอ้างทำอี-ออกชันเป็นอุปสรรคการจัดซื้อฟังไม่ขึ้น เผยน้ำมันแพง บาทแข็งจะเป็นตัวกระตุ้นให้ตลาด e-Procurement โต ส่วนรายได้ปีที่ผ่านมา 170 ล้านบาท ตั้งเป้าปีนี้โต 30%

นายไตร กาญจนดุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พันธวณิช ผู้ให้บริการตลาดอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Marketplace และบริการด้านการจัดซื้อ e-Procurement กล่าวว่า ปัจจุบันการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาใช้ในการจัดซื้อจัดจ้างได้รับความสนใจเป็นอย่างมากทั้งภาครัฐและเอกชน เนื่องจากการจัดซื้อจัดหาผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ สามารถสร้างประโยชน์ด้านการบริการต้นทุนในการดำเนินงานและการลดระยะเวลาในการจัดซื้อจัดหา ซึ่งจะเห็นได้จากการรายงานของ Aberdeen Benchmark ที่ระบุว่าการใช้ e-Procurement สามารถเพิ่มประสิทธิภาพได้หลายด้าน

"อย่างทวีปอเมริกาเหนือนั้นสามารถควบคุมการใช้จ่ายให้อยู่ในการจัดซื้อผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้เพิ่มขึ้นจาก 50% เป็น 65% และสามารถลดขั้นตอนในการดำเนินงานและต้นทุนได้มากกว่า 50% หรืออย่างยุโรปสามารถลดระยะเวลาดำเนินการได้ 45% และลดค่าใช้จ่ายลงถึง 69%"

จากมุมมองของผู้บริหารพันธวณิชเห็นว่า ตลาดการจัดซื้อด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ในไทยยังสามารถขยายตัวได้อีกมาก ทั้งนี้ จากการสำรวจบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯกว่า 500 บริษัท พบว่าจำนวนบริษัทใช้ระบบ e-Procurement ยังมีสัดส่วนน้อยมาก

“เท่าที่พูดคุยกับบริษัทต่างๆ ปัจจุบันความสนใจของผู้บริหารบริษัทได้เปลี่ยนจากการลดต้นทุนไปเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานด้านการจัดซื้อให้กับบริษัทมากขึ้น”

กระทุ้งรัฐผ่าระบบอี-ออกชัน

ด้านพ.อ.รังษี กิติญาณทรัพย์ ที่ปรึกษาประธานเจ้าหน้าที่บริหาร พันธวณิช กล่าวว่า  ที่ผ่านมาจำนวนการประมูลออนไลน์ หรืออี-ออกชัน ภาครัฐมีงบประมาณลดลง โดยงบประมาณที่มีการใช้จ่ายผ่าการทำอี-ออกชันของภาครัฐลดลงจาก 62% ในปี 2549 เหลือเพียง 48% ในปี 2550 เพราะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและปัญหาความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2550

“สิ่งที่น่าสังเกตคือในขณะที่จำนวนการประมูลออนไลน์ของภาครัฐลดลง อัตราการคอร์รัปชันกลับปรับตัวสูงขึ้น ดังนั้น รัฐบาลชุดใหม่จึงควรที่ที่จะส่งเสริมการใช้อี-ออกชันในกระบวนการของภาครัฐ เพื่อทำให้ใช้งบประมาณมีประสิทธิภาพ เพิ่มความโปร่งใส”

ในมุมมองของพ.อ.รังษีเห็นว่า รัฐบาลสามารถผลักดันให้มีการใช้จ่ายงบประมาณผ่านอี-ออกชันได้ถึง 60% ของงบประมาณรายจ่ายเพื่อการลงทุนทั้งหมด อย่าง 4 ปีที่ผ่านมาการทำอี-ออกชันสามารถประหยัดงบประมาณได้ 8% หรือประมาณ 2 หมื่นล้านบาท แต่ถ้ามีการลดเพดานการประมูลจากที่มีมูลค่า 2 ล้านบาท เหลือ 1 ล้านบาท จะทำให้ประหยัดงบประมาณในปีนี้ที่กำหนดไว้ 2.4 แสนล้านบาทได้ถึง 4 หมื่นล้านบาท

“รัฐบาลต้องผ่าระบบอี-ออกชันคือต่ำกว่า 2 ล้าน เหลือ 1 ล้าน จะทำให้มีการทำอี-ออกชันมากขึ้น และฮั้วกันก็ได้ไม่กี่สตางค์ อย่าง อบต. ทั่วประเทศงบประมาณอยู่ที่ละประมาณ 1 ล้าน เขาก็เลี่ยงไม่ต้องทำอี-ออกชัน ซึ่งอาจทำให้เกิดการฉ้อฉลได้ และทุกวันนี้หน่วยงานราชการมีความรู้เรื่องนี้แล้ว จะอ้างว่าเป็นอุปสรรคในการจัดซื้อจัดจ้างไม่ใช่แล้ว ซึ่งเรื่องนี้ผมเคยเสนอในที่ประชุมกับกรมบัญชีกลาง แต่กลับส่วนทาง เพราะมีแต่เสนอให้เพิ่มงบการประมูล”

น้ำมันแพงบาทแข็งหนุนตลาดโต

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ที่ปรึกษาประธานเจ้าหน้าที่บริหาร พันธวณิช กล่าวถึงทิศทาง e-Procurement ว่า หลังการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา สิ่งที่จะต้องจับตาหลังการจัดตั้งรัฐผสม 6 พรรคการเมืองคือ โฉมหน้าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่จะเข้าบริหารประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทีมเศรษฐกิจที่จะมาดูแลและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ อย่างขณะนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีการคาดการณว่าเศรษฐกิจของประเทศจะเติบโตอยู่ระหว่าง 3.8-5.3% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากสหรัฐอเมริกา ประกอบกับต้นทุนในการผลิตเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีความเป็นไปได้สูงที่อัตราเงินเฟ้อไม่เป็นไปตามกรอบเงินเฟ้อของกระทรวงพาณิชย์ และธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ไว้ การใช้มาตรการรหรือนโยบายแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการแทรกแซงราคาจะเป็นภาระงบประมาณในอนาคต

ดังนั้น  การการออกมาตรฐการควบคุมเงินเฟ้อที่ต้องทำอย่างระมัดระวังในสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว สิ่งที่ภาคเอกชนจะสามารถทำได้ระหว่างการอมาตรการ หรือนโยบายรัฐบาลใหม่คือการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การทำงาน รวมทั้งลดต้นทุน เพื่อรักษากำไรของกิจการไม่ให้ลดต่ำมากเกินไป การจัดซื้อผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์จึงเป็นอีกทางออกที่จะช่วยภาคเอกชนรับมือกับภาวะต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น และสถานการณ์เงินเฟ้อสูงได้

“จากสภาวะเศรษฐกิจอย่างนี้ ค่าน้ำมันแพง ถ้าไม่ทำ e-Procurement ต้นทุนก็จะสูง หรือการที่ค่าเงินบาทแข็งก็จะเป็นโอกาสของกาสของ e-Procurement เพราะจะเป็นการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจจากพึ่งพาการส่งออกมาเป็นพึ่งพาการลงทุน ซึ่งจะทำให้มีการจัดซื้อจัดจ้างมากขึ้น”

Company Related Links :
พันธวณิช
กำลังโหลดความคิดเห็น