xs
xsm
sm
md
lg

ซอฟต์แวร์พาร์คลุยตลาดอัญมณี จับคู่ธุรกิจสร้างจุดแข็งซอฟต์แวร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ซอฟต์แวร์พาร์คเดินแผนรุกสร้างตลาดใหม่ให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ ด้วยการเจาะเข้าไปในตลาดอัญมณีเป็นกลุ่มแรก จับเอสเอ็มอีชนเอสเอ็มอี หวังต่อยอดระยะยาว สร้างซอฟต์แวร์เฉพาะทางที่เป็นจุดแข็ง ผู้ผลิตอัญมณีเผยตลาดนี้ 90% รอซอฟต์แวร์ไทย

นางสุวิภา วรรณสาธพ ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย หรือ ซอฟต์แวร์พาร์ค  เปิดเผยว่า ได้มีการจับคู่ธุรกิจระหว่างนักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทย และผู้ประกอบการอัญมณีภายในนิคมอุตสาหกรรมอัญธานี เพื่อเข้ามาให้บริการด้านซอฟต์แวร์แก่ผู้ประกอบการอัญมณีขนาดย่อม ซึ่งมีจำนวนกว่า 90% ของทั้งอุตสาหกรรม โดยทางซอฟต์แวร์พาร์คมีเป้าหมายให้นิคมฯ เพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินงาน โดยเฉพาะความต้องการซอฟต์แวร์ที่จะเข้ามาช่วยในเรื่องของการควบคุมการผลิต ลดการสูญเสีย, ซอฟต์แวร์เกี่ยวกับการจัดการข้อมูลที่มีอยู่ และระบบการตลาดอัจฉริยะ

เนื่องจากกลุ่มผู้ผลิตอัญมณีที่มีขนาดใหญ่ต่างอยู่ระหว่างการพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับอุตสาหกรรมนี้ แต่ยังไม่พบซอฟต์แวร์ที่มีความเหมาะสม ทั้งที่มาจากซอฟต์แวร์ต่างประเทศและซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นเอง อย่างไรก็ตามตลาดใหญ่ของอุตสาหกรรมนี้อยู่ที่ผู้ประกอบการอัญมณีขนาดเล็ก ดังนั้นการที่บริษัทซอฟต์แวร์ขนาดเล็กได้เข้ามาต่อเชื่อมเป็นแบบ Cluster หรือร่วมกันทำ จะทำให้ซอฟต์แวร์เกิดความสมบูรณ์ ใช้ได้ทั้งกระบวนการผลิต ในราคาที่ถูก จะทำให้ทั้งสองฝ่ายเติบโตไปด้วยกัน และในส่วนของซอฟต์แวร์จะมีความแข็งแกร่ง เนื่องจากเข้าใจกระบวนการที่ถูกต้อง จนสามารถนำไปใช้เป็นจุดแข็งและขยายฐานการตลาดออกไปต่างประเทศได้

ส่วนซอฟต์แวร์ที่อยู่ในความต้องการของผู้ประกอบการอัญมณีขณะนี้ได้แก่ ระบบ Enterprise recourse planning หรือ ERP ที่ไม่ใช่ระบบขนาดใหญ่ เพื่อควบคุมและลดการสูญเสียระหว่างการผลิต, ระบบการจัดการข้อมูล ซึ่งต้องเป็นฐานข้อมูลรวมของทั้งอุตสาหกรรมได้, ระบบ RFID ที่สามารถตรวจจับป้องกันสินค้าหายได้, ระบบ Market Intelligence ซึ่งเข้ามาช่วยจัดการด้านการตลาด, ระบบ Prototype Model ซึ่งช่วยจัดการในการออกแบบอัญมณีและเครื่องประดับ, ระบบ simulation training ซึ่งช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถฝึกอบรมก่อนไปดำเนินงานจริง เพื่อลดการสูญเสียระหว่างการผลิต, ระบบ CRM และระบบ Social Innovation ที่ทำให้ผู้ซื้อสามารถเลือกแบบที่ต้องการเองได้

การดำเนินการครั้งนี้อยู่ในแผนการกระตุ้นความต้องการด้านซอฟต์แวร์ของตลาด ถือเป็นการเปลี่ยนยุทธศาสตร์ใหม่ ที่แต่เดิมหน่วยงานรัฐมักจะส่งเสริมความสามารถของบริษัทผู้ผลิตซอฟต์แวร์ไทยเพียงด้านเดียว ซึ่งในครั้งนี้มีบริษัทซอฟต์แวร์ประมาณ 30 รายเข้าร่วมฟังความต้องการของลูกค้ากลุ่มอัญมณี โดยเป้าหมายของปีนี้ซอฟต์แวร์พาร์คตั้งเป้าหมายให้บริษัทที่ได้รับผลประโยชน์จากการดำเนินงานโครงการนี้ 100 แห่ง โดยต้องเกิดผลิตผลทางการผลิต ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มรายได้ 10% หรือลดรายจ่าย 10% ก็ตาม

สำหรับในปีนี้ซอฟต์แวร์พาร์คจะมุ่งเน้นในการจับคู่ธุรกิจระหว่างนักพัฒนาซอฟต์แวร์ และกลุ่มอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ด้วยการเข้าไปกระตุ้นให้อุตสาหกรรมหลักเกิดความต้องการใช้ไอทีมากขึ้น โดยซอฟต์แวร์พาร์คตั้งเป้าจับคู่ธุรกิจไว้ที่ 5 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ ท่องเที่ยว, สิ่งทอ, อาหาร, จิวเวลรี่ หรืออัญมณี และ การศึกษา

ทั้งนี้ สำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่ต้องการเงินลงทุนในส่วนของซอฟต์แวร์ จะได้รับการสนับสนุนจาก ไอแท็บส์ ( Industrial Technology Assistant Program ) ในสัดส่วน 50% นอกจากนี้ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ทางซอฟต์แวร์พาร์ค จะขยายการจับคู่ธุรกิจเข้าสู่ธุรกิจการเงินการธนาคาร รวมถึงการขยายการจับคู่ไปสู่รัฐสภา ในด้านรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์  นอกจากนี้ซอฟต์แวร์พาร์คมีแผนที่จะขยายมาตรฐานการประเมินวุฒิภาวะ ทางด้านการปรับปรุงกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ (CMMI)  โดยภายในสิ้นปีงบประมาณในเดือนกันยายนนี้ จะต้องมีบริษัทภายใต้ซอฟต์แวร์พาร์คได้รับมาตรฐาน CMMI จำนวน 9 บริษัทได้ระดับ 2 และใน 18 เดือนจำนวน 15 บริษัทในระดับ 3 และในระยะเวลา 2 ปีครึ่ง จำนวน 2 บริษัท ในระดับ 5 เนื่องจากปัจจุบันมีเพียง 4 บริษัทเท่านั้นที่ได้รับมาตรฐาน CMMI


ด้านนายชยุตม์ อัศรัสกร ที่ปรึกษางานบริหารการตลาด นิคมอุตสาหกรรมอัญธานี กล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับนับเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยเป็นอย่างมาก โดยในปีที่ผ่ามา ทั้งอุตฯคาดว่าจะมีรายได้รวมอยู่ที่ 170,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นกำไรประมาณ 30% แต่เมื่อเทียบกับประเทศอินเดียซึ่งมีรายได้รวมสูงกว่าประมาณ 4 เท่า

“ถ้าเรายังไม่มีการปรับตัวเราจะล้าหลังเขามากขึ้น สิ่งสำคัญที่ต้องได้รับการพัฒนามากที่สุด คือการควบคุมคุณภาพของสินค้า ลดการสูญเสีย เนื่องจากเราทำงานด้านจิวเวลรี่ เป็นไปได้ที่จะไม่มีขโมย ดังนั้น เราจึงมีความต้องการซอฟต์แวร์ที่จะเข้ามาช่วยเราในเรื่องของการควบคุมต้นทุน หรือควบคุมคุณภาพของสินค้า”

ปัจจุบันหลายบริษัทใช้ซอฟต์แวร์ต่างประเทศแต่มีขนาดใหญ่เกินไป ไม่ตรงกับระบบและกระบวนการผลิตของคนไทย ซึ่งหากซอฟต์แวร์พาร์คและบริษัทซอฟต์แวร์ที่มาเข้าร่วมสามารถพัฒนาครั้งเดียวและรองรับได้ทีเดียวทั้ง 10,000 บริษัทก็จะเกิดประโยชน์อย่างมาก

Company Related Links :
Softwarepark
กำลังโหลดความคิดเห็น