xs
xsm
sm
md
lg

“แอลเอสไอ”โต้เสียงค้านชนะไอแบ็ก อย่าเปรียบรายอื่นท้าจับตาการส่งมอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตั้งข้อสังเกตกลุ่มแอลเอสไอ ผู้ชนะโครงการไอแบ็ก  เลือกโซลูชั่นซีอาร์เอ็ม “INFOR” แบรนด์โนเนมคนในวงการไม่รู้จัก  กสท ให้ผ่านเข้ารอบถึงประมูลได้ ทั้งที่วางสเปคสูง    สงสัยอี-อ็อคชั่นอย่างมีเงื่อนงำ  โปรเจกเมเนแจอร์ยันคุณสมบัติสู้ซีเบล ได้ แถมพ่วงดีกรีรางวัลยูโรเปียนอวอดส์ 2007 อย่ายกเทียบบิลลิ่ง ทีโอที ลั่นส่งมอบงานได้ทันภายใน 12 เดือน

จากผลการจัดประกวดราคาจ้างจัดสร้างระบบ INTEGRATED BILLING AND CUSTOMER SERVICES SYSTEM (IBACSS) หรือไอแบ็ก และระบบ BILLING MEDIATION ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อวันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมา   และได้กำหนดวงเงินงบประมาณไว้ที่ 1,400 ล้านบาท ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเสนอราคาที่ผ่านการพิจารณาด้านเงื่อนไขและข้อกำหนดทางเทคนิคจำนวน 3 ราย ได้แก่ กิจการค้าร่วม แอล เอส ไอ (LSI CONSORTIUM) กิจการค้าร่วมไอเอสเอ (ISA CONSORTIUM)  และเดอะคอนโซเตียม ออฟ เอสทีซีซี แอนด์ เจทีเอส (The Consortium of STCC and JTS)
      
การประกวดราคาระบบไอแบ็กครั้งนี้ ผู้ที่เสนอราคาต่ำสุด คือ กิจการค้าร่วม แอล เอส ไอ โดยเป็นผู้ที่เสนอราคาต่ำสุดที่ราคา 891,000,000 บาท  ต่ำกว่าวงเงินงบประมาณที่กำหนดไว้ 509,000,000 บาท หรือ 36.6 % ส่วนกิจการร่วมค้า ISA เสนอราคาที่ 978,500,000 บาท  และ The Consortium of  STCC and JTS เสนอราคาที่ 1,244,000,000 บาท

ทั้งนี้ ผู้ชนะการประมูลคือกิจการค้าร่วม แอล เอส ไอ  ซึ่งมีพาร์ตเนอร์ประกอบด้วย 1. เอสเอซี ไอที  2. บริษัท ไออีซี เทคโนโลยี 3.บริษัท โลคัส เทเลคอมมิวนิเคชั่น อิงค์   โดยการดำเนินงานในโครงการไอแบ็กครั้งนี้ เอสเอซี ไอที จะแกนหลักในการบริหารจัดการระบบทั้งหมด   ซึ่งระบบไอแบ็ก  ซึ่งในระบบหลัก 3 กลุ่ม คือ ระบบบิลลิ่ง ได้เลือกใช้ “คอมเวิร์ส” ระบบอินเตอร์คอนเนค เลือกใช้ “ชูเบค” ระบบซีอาร์เอ็ม  เลือกใช้  “อินโฟร์”

ส่วนระบบประกอบเซิร์ฟเวอร์และระบบปฏิบัติการ เช่น ระบบอีเอสบี (ESB) ใช้ โซลูชั่นเว็บสเปียร์ของ “ไอบีเอ็ม” ระบบสำรองและกู้ข้อมูล เลือกใช้ “เวอร์ริทัส” ส่วนฮาร์ดแวร์ เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ของ “ซัน ไมโครซิสเต็มส์” เวิร์กสเตชั่น เลือกใช้  “เลอเนอโว”

จากผลการประมูลที่เกิดขึ้น แหล่งข่าวจากอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ได้ตั้งข้อสังเกกับผู้ชนะการประมูลในครั้งนี้ ที่ผ่านทางเทคนิค จนสามารถเข้าสู่กระบวนการ อี-อ็อคชั่น ได้อย่างไร เพราะซอฟต์แวร์ด้านโซลูชั่น บริหารจัดการลูกค้าสัมพันธ์ หรือซีอาร์เอ็ม ที่ใช้ผลิตภัณฑ์ อินโฟร์ (INFOR) ว่า ผ่านกฎเกณฑ์และคุณสมบัติทางเทคนิคตามทีโออาร์เข้ามาได้อย่างไร เพราะ กสท กำหนดคุณสมบัติไว้สูง และต้องการผลิตภัณฑ์จากผู้พัฒนาชื่อดัง เข้ามาร่วมประมูล เนื่องจากระบบซีอาร์เอ็ม เป็นหนึ่งในสามของระบบหลักของโครงการที่ต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากแบรนด์ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์มีชื่อเสียง และเป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม

เกี่ยวกับโซลูชั่น CRM  ของอินโฟร์ที่มีการตั้งข้อสังเกตคือ 1. ผู้ชนะ คือ ISA คอนซอเตียม นำเสนอ Software CRM ซึ่งเป็นส่วนที่ กสท  ได้ล็อกไว้ให้ใช้ของดี แต่ผู้ชนะราคาใช้ Software CRM ยี่ห้อ INFOR ซึ่งไม่มีใครในวงการรู้จักหรือได้ยินมาก่อน

2. บริษัท ข้ามชาติที่มีอาชีพรับจ้าง Implement Software ที่เป็นที่รู้จักกันอย่างดีในวงการ IT อย่าง  Tech Mahindra หรือ Sortium ผู้มีประสบการณ์ในการ Implement Software มาทั่วโลกก็ยังไม่เคยรู้จัก Software CRM ยี่ห้อ INFOR มาก่อน

3. ใน Web Site ก็ไม่ปรากฏ ยี่ห้อ INFOR และไม่มีข้อมูล บริษัท INFOR เลย และ 4. ข้อมูลของผู้ชนะนั้นรู้เฉพาะกรรมการ ใน กสท เท่านั้น

สรุปแล้วยี่ห้อ INFOR ดังกล่าวผ่านคุณสมบัติจริงหรือไม่  และเมื่อไม่เป็นที่รู้จักเลยจะมีประสบการณ์ให้บริการ หรือ Referenceได้อย่างไร  และบริษัทไอเอสเอ ผู้นำในกลุ่มไอเอสเอคอนซอเตียมนั้น ใช้ใครมาทำการติดตั้ง (Implement) ให้ หรือทำกันเองโดยบริษัท ไอเอสเอ

“อินโฟร์ ได้ผ่านคุณสมบัติทางเทคนิค จริงหรือไม่  และผ่านเข้ารอบมาได้อย่างไร ใครเป็นผู้ตรวจสอบหรือรับรองให้ผ่านคุณสมบัติดังกล่าว น่าจะจริงดังข่าวลือที่ได้ยินกันบ่อยๆว่าเจ้าที่ของ กสท บ้างท่านมีผลประโยชน์ร่วมกับบริษัทไอเอสเอ” แหล่งข่าวกล่าว

นางจินตนา ศิริกังวาลกุล ผู้จัดการโครงการ บริษัท เอสเอซี ไอที ในฐานะตัวแทนหลักกลุ่มกิจการร่วมค้า แอลเอสเอ กล่าวว่า  เข้าใจกับมุมมองและการตั้งข้อสังเกตกับการที่ กลุ่มได้เข้ารอบ  รวมถึงที่มาในส่วนของโซลูชั่นแต่ละกลุ่ม  ซึ่งประเด็นของ อินโฟร์นั้น ทางบริษัทได้พิจารณาอย่างเหมาะสมแล้ว และผลิตภัณฑ์อินโฟร์ ร์ ของบริษัท Infor Global Solutions เป็นไปตามข้อกำหนดในทีโออาร์

อย่างไรก็ตาม โซลูชั่น ซีอาร์เอ็ม ของ INFOR  ต้องยอมรับในด้านชื่อเสียง ที่หลายคนในอุตสาหกรรมอาจจะไม่เป็นที่รู้จัก แต่ทางด้านมาตรฐานแล้ว ในปีที่ผ่านมา โซลูชั่น ซีอาร์เอ็ม ที่จะนำมาใช้กับโครงการไอแบ็ก ได้รับรางวัลจากงานยูโรเปียน อวอดส์ 2007  ซึ่งแสดงถึงการยอมรับและอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน  อีกทั้งโซลูชั่นชุดนี้ ได้ถูกบริษัท เทเลคอม ในประเทศ ตุรกี แคนาดา นำไปใช้งานแล้ว  จึงไม่น่าจะเป็นข้อกังวลหรือวิตกแต่อย่างใด

ขณะเดียวกันด้านข้อเปรียบเทียบของชื่อเสียง แบรนด์ อินโฟร์ จะเป็นน้องใหม่ของตลาดโซลูชั่นในไทย เพราะที่ผ่านมา ผู้ประกอบการไทย  รวมถึงลูกค้า มักจะยึดติดหรือนึกถึงแบรนด์ของซีเบล (SEBEL)  ซึ่ง อินโฟร์  มีคุณสมบัติทางเทคนิคไม่แตกต่าง และเทียบเท่า

ส่วนเรื่องของโลคัส ที่เข้ามาส่วนร่วมและเป็นหนึ่งในผู้ร่วมโครงการนี้  นางจินตา กล่าวว่า  ไม่ใช่ปัญหา และจากที่หลายคนนำไปเปรียบเทียบกับระบบบิลลิ่ง ทีโอที ที่ โลคัส เข้าไปเป็นหนึ่งในผู้รับผิดชอบ แต่เรื่องดังกล่าวไม่ใช่ความผิดพลาดในเรื่องระบบโซลูชั่นของ โลคัส  แต่ปัญหาความผิดพลาดได้เกิดจากการลดต้นทุน ของ บริษัท เทเลเมติคส์ และเรื่องปัญหาของบที่เข้ามาพัฒนา ที่ยังไม่เข้าใจถึงความต้องการลูกค้าแท้จริง

“หากมีคนนำไปเปรียบเทียบกับระบบบิลลิ่งของทีโอที ที่มีข้อผิดพลาด ทางกลุ่มไม่อยากให้เอานำไปเปรียบเทียบ เพราะระบบบิลลิ่งของทีโอที ผิดพลาดในส่วนของ การอิมพลิเมนต์ โดยทาง เทเลเมติคส์ ได้อินทริเกรต ไม่ครบตาม ทีโออาร์ เพราะต้องลดต้นทุนให้ต่ำ ซึ่งคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ในทีโอที ก็รู้และทราบดี”

นางจินตนากล่าวว่า  ในเรื่องของการส่งมอบ ทางกลุ่มมั่นใจว่าสามารถแล้วเสร็จได้ทันตามกำหนดและสามารถส่งมอบได้ทันตามกำหนดในระยะเวลา 12 เดือนนับจากวันที่ลงนามสัญญาจ้าง  โดยระบบทั้งหมดของโครงการ ในแต่ละกลุ่ม คือ บิลลิ่ง ซีอาร์เอ็ม อินเตอร์คอนเน็ค จะสามารถบริหารจัดการได้ ตามข้อกำหนดในทีโออาร์ และไม่มีปัญหาด้านการทำงานร่วมของระบบซอฟต์แวร์บริหารจัดการในแต่ละกลุ่มใช้งาน รวมถึง การรองรับการเชื่อมต่อเข้ากับระบบไอเอ็นของซีดีเอ็มเอ

สำหรับแผนดำเนินโครงการ ทางบริษัทได้วางกรอบการทำงานและพัฒนาระบบให้แล้วเสร็จในระยะเวลา ประมาณ 9 เดือน ส่วนในระยะ 3 เดือนที่เหลือ จะเป็นช่วงการทดสอบระบบ ให้เป็นไปตามทีโออาร์  รวมถึงการทดลองเสมือนจริงในการออกใบเสร็จ (บิลลิ่ง) การรายงานผลการใช้งาน การวัดปริมาณทราฟิก และ การรวบรวมข้อมูลเพื่อนำมาใช้ทำการตลาด และดูแลลูกค้า  ซึ่งขณะนี้ ทางบริษัทได้เตรียมทีมพัฒนาระบบและดูแลโครงการนี้แล้ว 50 คน เพื่อให้ได้งานแล้วเสร็จตามกำหนดและส่งมอบได้ไม่มีปัญหาด้านการใช้งาน

ส่วนการที่คณะกรรมการ กสท ได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามประเมินผลโครงการ  นางจินตนากล่าวว่า จะเป็นเรื่องที่ดีอย่างยิ่ง หากมีคนทั้งสองฝ่ายได้ทำงานร่วมกัน ตั้งแต่เริ่มต้น จะช่วยการประสานงาน และการแก้ปัญหาระหว่างการทำงานได้อย่างราบรื่น ไม่มีอุปสรรค หรือมีผลกับโครงการ  ซึ่งแนวคิดของบอร์ดที่ให้ดำเนินการลักษณะนี้ จะเป็นผลดีอย่างยิ่ง และเชื่อว่าโครงการจะสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จทันตามกำหนด

“กลุ่มเราไม่รู้สึกกดดัน และมั่นใจ 100% ว่าสามารถจะเสร็จทันตามกำหนด และไม่เป็นปัญหา เป็นเพราะเราได้เตรียมวางแผน และหาต้นทุนเหมาะสมกับการดำเนินโครงการ  หากงานนี้ผ่านพ้นและใช้งานได้ จะเป็นบทพิสูจน์ให้กับบริษัท รวมถึงกู้ชื่อให้กับกลุ่มที่เข้าร่วมได้ เพราะโครงการไอแบ็ก เป็นโครงการที่สังคมและทุกฝ่ายจับตามอง”

Company Related Links :
Cattelecom
กำลังโหลดความคิดเห็น