xs
xsm
sm
md
lg

ทีโอทีพลิกวิกฤตเป็นโอกาส จูงเอไอเอสร่วมบริการFMC

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทีโอทีดิ้นหนีตายรายได้ตก กำไรหด จับมือเอไอเอสเป็น strategic partner เข็นแนวคิด FMC เชื่อมโยงบริการระหว่างฟิกซ์กับโมบายเข้าด้วยกันในช่วงแรก ก่อนพัฒนาไปสู่การเปลี่ยนระบบจีเอสเอ็มของเอไอเอสให้กลายเป็น 3G UMTS900 ปลดล็อกอุตสาหกรรมโทรคม

แหล่งข่าวจากบอร์ดบริษัท ทีโอที กล่าวว่า ภายในสัปดาห์นี้หรืออย่างช้าภายในเดือนม.ค.คาดว่าทีโอทีจะเซ็นเอ็มโอยูกับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิสหรือเอไอเอสในการเป็นพันธมิตรกลยุทธ์หรือ strategic partner เพื่อร่วมให้บริการตามคอนเซ็ปต์ FMC หรือ Fixed Mobile Convergence ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในประเทศไทยและเป็นไปตามนโยบายของทีโอทีในการจัดตั้งเทเลคอมพูลในประเด็นการใช้ประโยชน์จากโครงข่ายที่มีอยู่ในประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุดรวมทั้งเพื่อลดการลงทุนซ้ำซ้อนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

“การดำเนินการใดๆกับเอไอเอส จะไม่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขสัญญาร่วมการงานที่มีอยู่”

ทีโอทีไม่ได้ปิดกั้นรายอื่นหรือเปิดโอกาสให้เฉพาะเอไอเอสแต่จากการศึกษาและเจรจาที่ผ่านมากับโอเปอเรเตอร์รายอื่นยังไม่ได้ข้อสรุปอย่างกรณีบริษัท ทีทีแอนด์ที ก็ตั้งเงื่อนไขให้ทีโอทีต้องถอนฟ้องคดีความต่างๆก่อนซึ่งทีโอทีไม่สามารถทำได้ หรือกรณีกลุ่มทรูก็ยังไม่ได้ข้อสรุปและไม่มีประโยชน์ที่จะคอนเวอร์เจนซ์ระหว่างฟิกซ์ไลน์กับฟิกซ์ไลน์ด้วยกัน เนื่องจากคอนเซ็ปต์ FMC ควรเป็นความร่วมมือระหว่างโอเปอเรเตอร์ที่มีจุดแข็งด้านฟิกไลน์ กับด้านไวร์เลส จึงจะเหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงสุด ทำให้ทีโอทีบรรลุข้อตกลงกับไอเอสได้เร็วกว่า

“การเป็น strategic partner กับเอไอเอสถือว่าได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเรื่องรายได้และบริการ 3G ในอนาคต”

หลังเซ็นเอ็มโอยูแล้ว คอนเซ็ปต์ FMC สามารถให้บริการได้ทันที โดยที่ในขณะนี้มีลูกค้าที่เป็นอาคารสำนักงานขนาดใหญ่กว่า 4 รายตอบรับพร้อมเป็นลูกค้าทันที โดย FMC จะเริ่มจากการเชื่อมโยงบริการด้านการสื่อสารข้อมูลระหว่างฟิกซ์กับไวร์เลสเข้าด้วยกัน ด้วยการใช้กล่องที่เป็นอุปกรณ์แปลงสัญญาณข้อมูลเท่านั้น โดยแอปพลิเคชั่นแรกๆที่ FMC จะให้บริการจะเป็นในลักษณะ Data Management หรือ บริการด้าน Security

“เมื่อทีโอทีกับเอไอเอสให้บริการร่วมกันแล้ว ค่าบริการจะต้องถูกลง โดยทีโอทีจะได้ 2 เด้งคือประโยชน์ในด้านคนใช้บริการฟิกซ์ไลน์มากขึ้น ในขณะที่เอไอเอสก็จะมีคนใช้มากขึ้นซึ่งส่งผลให้ทีโอทีได้ส่วนแบ่งรายได้กลับมาเพิ่มขึ้น”

บริการ FMCจะทำให้ลูกค้าเมื่อเดินเข้าบ้านก็จะใช้โทรศัพท์บ้านของทีโอทีในขณะที่เมื่อออกจากบ้านก็จะเปลี่ยนเป็นระบบโทรศัพท์มือถือของเอไอเอส หรือลูกค้าคอร์ปอเรตก็ทำให้พนักงานที่ทำงานนอกสถานที่ด้วยอุปกรณ์ไร้สายสามารถเชื่อมโยงข้อมูลกับสำนักงานที่ใช้โทรศัพท์ประจำที่ได้อย่างสะดวก

ภายใต้เอ็มโอยูดังกล่าว ทีโอทียังปลดล็อกปัญหาเรื่องบริการ 3G ที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) ยังไม่กล้าที่จะจัดสรรคลื่นความถี่โดยที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างเงื่อนไขในการขอใบอนุญาต

เขากล่าวว่าเอ็มโอยูจะทำให้ไทยโมบายไม่มีความหมายอีกต่อไป เพราะทีโอทีจะเสนอให้เอไอเอสขยายอายุสัญญาร่วมการงานที่จะหมดลงในปี 2016 ออกไปแลกกับการให้เอไอเอสลงทุนโครงข่าย 3G เพื่อนำมาให้บริการร่วมกัน เนื่องจากความถี่ที่เอไอเอสให้บริการอยู่สามารถพัฒนาเป็น 3G ด้วยเทคโนโลยี WCDMA (ไวร์แบนด์ซีดีเอ็มเอ) ที่ปัจจุบันถือว่าก้าวหน้าและได้รับการยอมรับในเวทีโลกมากกว่าระบบ CDMA 2000-1X ของบริษัท กสท โทรคมนาคม ที่ทำตั้งแต่เทคโนโลยีล้ำหน้าจนตกยุคก็ยังให้บริการไม่ได้

“เหมือนคุณเช่าตึกถ้าสัญญาจะหมดใน 2 ปีคนเช่าจะลงทุนปรับปรุงตึกอีกมั้ย แต่ถ้าสัญญายาวไปอีกเป็นสิบปี แน่นอนคนเช่าก็ต้องกล้าทุ่มเงินลงทุน มันก็เหมือนเอไอเอสถ้ารู้ว่าสัญญายังอยู่อีกยาวเขาก็พร้อมลงทุน 3G”

ทีโอทีเชื่อว่าเมื่อกทช.ออกเงื่อนไขใบอนุญาต 3G ในปีนี้ ที่จะต้องทำก็แค่ยื่นยื่นขอไลเซนส์เข้าไปเท่านั้น ทีโอทีก็สามารถให้บริการได้ โดยใช้ความถี่เดิมที่ได้รับจัดสรรและด้วยเงินลงทุนของเอไอเอส ส่วนเอไอเอสหากต้องการขอไลเซนส์ใหม่เพื่อให้บริการ 3G ด้วยตัวเองก็ทำได้ ซึ่งการเตรียมความพร้อมล่วงหน้าระหว่างทีโอทีกับเอไอเอสคาดว่าจะเสร็จทันพร้อมเงื่อนไขไลเซนส์ทช.ที่จะประกาศ

ในมุมของทีโอทีหากเขียนเป็นแผนภาพ บนสุดจะเป็นทีโอทีบวกเอไอเอส ภายใต้จะประกอบด้วยบริการด้านต่างๆอาทิ 1.บริษัท เอดีซีที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและแอปพลิเคชั่น ซึ่งต่อไปจะแบ่งเซ็กเมนต์ให้ชัดเจนเพื่อแก้ปัญหาในอดีตที่บัดดี้บรอดแบนด์ไม่เวิร์กโดยเอดีซีจะจับกลุ่มพรีเมี่ยมในขณะที่บรอดแบนด์ทีโอทีจะจับกลุ่มแมส 2.บริษัทที่ทำด้านคอนเมนต์ 3.บริษัทที่ให้บริการชำระค่าสาธารณูปโภคต่างๆอย่างจัสเพย์ช้อป ซึ่งทีโอทีมีแนวคิดที่จะให้พนักงานสัก 4 พันคนแยกออกจากบริษัทแม่เพื่อมาทำธุรกิจเป็นเจ้าของกิจการในส่วนนี้ นอกจากนั้นยังรองรับบริษัทพาร์ตเนอร์ต่างๆที่จะเข้ามาร่วมให้บริการภายใต้คอนเซ็ปต์ FMC

ด้านนายสมประสงค์ บุญยะชัย ประธานกรรมการบริหารเอไอเอสกล่าวว่า คอนเซ็ปต์ดังกล่าวเป็นเรื่องที่ดีและต้องเดินหน้าต่อไปเพราะการเป็นพาร์ตเนอร์ระหว่างกันก็เหมือนการเสริมและปิดจุดอ่อนซึ่งกันและกันเหมือนดีแทคกับกสทก็กำลังจะมีความร่วมมือเช่นกัน

Company Related Links :
TOT
กำลังโหลดความคิดเห็น