xs
xsm
sm
md
lg

โซลูชันดูแลปกป้องระบบ ประตูสู่เวอร์ชวลไลเซชัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เวอร์ชวลไลเซชัน (virtualization) เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ในปัจจุบัน องค์กรที่ใช้ระบบไอทีจำนวนมากกำลังประสบกับความท้าทายรูปแบบใหม่ที่มีตัวช่วยหลักอย่างเวอร์ชวลไลเซชัน ตั้งแต่การควบคุมเซิร์ฟเวอร์บนระบบไปจนถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและให้ความสะดวกในการกอบกู้ระบบ กล่าวได้ว่าเวอร์ชวลไลเซชันนั้นช่วยตอบทุกปัญหาได้อย่างยอดเยี่ยม

แต่ที่เป็นปัญหาจริงๆ ก็คือจะบรรลุเป้าหมายด้านเวอร์ชวลไลเซชันได้อย่างไร การเปลี่ยนระบบไอทีทางกายภาพ (physical) ให้เป็นแบบระบบเสมือน (virtual) หรือที่เรียกว่า P2V (physical-to-virtual) นั้นเป็นแค่จุดเริ่มต้น เพราะยังมีอีกหลายองค์กรที่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนจากระบบเสมือนให้กลับสู่ระบบทางกายภาพ ขณะที่ชุดเครื่องมือที่มีอยู่นั้นมักจะช่วยลูกค้าในทิศทางเดียวคือ P2V ทำให้การแปลงแบบ V2P (virtual-to-physical) กลายเป็นเรื่องที่ยากลำบากอยู่บ่อยครั้ง

ยังดีที่ในปัจจุบันมีโซลูชันที่ช่วยให้กระบวนการเปลี่ยนแปลงระบบดังกล่าวเป็นไปอย่างราบรื่น อาจแปลกใจที่โซลูชันเหล่านั้นก็คือ โซลูชันด้านความปลอดภัยของระบบ ซึ่งแม้จะถูกออกแบบมาเพื่อช่วยในการกอบกู้ระบบบนแพลตฟอร์มฮาร์ดแวร์ที่แตกต่างกันให้รวดเร็วที่สุด ขณะเดียวกันก็ยังช่วยกระชับกระบวนการแปลงระบบทั้งแบบ P2V และ V2P ได้ด้วยเช่นกัน

สู่หนทาง P2V ที่เร็วกว่า

การย้ายระบบทางกายภาพเข้าสู่ระบบเวอร์ชวล ไม่ว่าจะด้วยการใช้ชุดเครื่องมือใดก็ตาม ล้วนมีกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับระบบปฏิบัติการและทุกสิ่งทุกอย่างบนโอเอสดังกล่าว ตั้งแต่แอปพลิเคชัน ข้อมูล การตั้งค่า ฯลฯ เพื่อดึงเอาทั้งหมดออกจากฮาร์ดแวร์ แล้วเปลี่ยนระบบทำงานจากที่เชื่อมตรงทางกายภาพกับฮาร์ดแวร์มาเป็นการทำงานร่วมกับฮาร์ดแวร์เสมือนจริงแทน

มีเหตุผลมากมายที่สนับสนุนการเปลี่ยนระบบทางกายภาพให้เข้าสู่ระบบเสมือนจริง เช่น ฮาร์ดแวร์จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยการติดตั้งเวอร์ชวลเซิร์ฟเวอร์หลายระบบลงบนเครื่องเซิร์ฟเวอร์กายภาพชุดเดียว ในมุมมองด้านการกอบกู้ระบบ เวอร์ชวลเซิร์ฟเวอร์สามารถช่วยทำสำรองระบบคอมพิวเตอร์ได้มากเท่าที่ต้องการด้วยต้นทุนที่ประหยัดกว่าโดยไม่จำเป็นต้องใช้ฮาร์ดแวร์เพิ่มเติม นอกจากนี้ ระบบเสมือนจริงยังทำหน้าที่เป็นศูนย์ทดสอบในกรณีที่จำเป็นต้องมีการ

ทดลองเปลี่ยนแปลงเพื่อให้มั่นใจว่าทุกอย่างจะไม่กระทบกับระบบงานทางกายภาพขององค์กร

ผู้ผลิตซอฟต์แวร์เวอร์ชวลไลเซชันบางรายนำเสนอชุดเครื่องมือสำหรับโอนถ่ายระบบเพื่อช่วยเหลือในการเปลี่ยนแปลง ทำให้ลูกค้าได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีดังกล่าว เพิ่มคุณค่าทางธุรกิจ และบรรลุวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพ

เช่นเดียวกับโซลูชันสำหรับดูแลความปลอดภัยของระบบ ซึ่งก็มักจะมีชุดเครื่องมือสำหรับแปลงเข้าสู่ระบบเวอร์ชวล เพื่อช่วยเรียกคืนระบบ ณ สถานะที่เคยบันทึกไว้ไม่ว่าจะเป็นบนสภาพแวดล้อมเสมือนจริงของค่ายใด ตั้งแต่ VMDK (VMware Virtual Disk) ไปจนถึง VHD (Microsoft Virtual Disk) เป็นต้น และจุดแตกต่างที่สำคัญของโซลูชันจากซอฟต์แวร์สำหรับดูแลความปลอดภัยของระบบก็คือ อินเทอร์เฟสแบบเป็นขั้นตอนที่ง่ายและชัดเจนในการใช้งาน

ตัวอย่างเช่น บนกระบวนการแปลงระบบตามปกติ ขั้นตอนแรกก็คือการจัดเก็บสถานะของระบบเพื่อสร้างจุดเรียกคืน (recovery point) จากนั้นก็เลือกฟอร์แมตของเวอร์ชวลดิสก์และระบุโฟลเดอร์ที่ต้องการจัดเก็บไฟล์อิมเมจ (image) ของเวอร์ชวลดิสก์ แต่สำหรับกระบวนการแบบ VMDK นั้น ไฟล์เวอร์ชวลดิสก์สามารถถูกแบ่งออกให้มีขนาดเล็ก เพื่อให้เวอร์ชวลดิสก์สามารถถูกก๊อปปี้ได้แม้อยู่บนระบบ FAT32 หรือบันทึกลง DVD เป็นต้น โดยโซลูชันเหล่านี้จะช่วยกระชับการโอนถ่ายระบบ เช่น ย้ายไฟล์ VMDK ไปยังเซิร์ฟเวอร์ VMware ESX เพื่อให้องค์กรมีความยืดหยุ่นในการจัดการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ระบบเวอร์ชวลได้ดีขึ้น

ที่ดีไปกว่านั้นก็คือ โซลูชันสมบูรณ์แบบเหล่านี้สามารถเปลี่ยนจากระบบกายภาพให้เป็นระบบเวอร์ชวลได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งคิดเป็นเพียงเวลาเสี้ยวเดียวเมื่อเทียบกับซอฟต์แวร์ทั่วไปที่ติดมากับผู้พัฒนาระบบเวอร์ชวลไลเซชัน หลายครั้งผู้ดูแลระบบไอทีสามารถลดระยะเวลาดังกล่าวจาก 2 ชั่วโมงลงได้เหลือเพียง 15 นาทีเท่านั้น

ทั้งนี้ เพราะโซลูชันดูแลความปลอดภัยของระบบเหล่านี้ใช้เทคโนโลยีจดจำสถานะของระบบ (image capture) ที่มีประสิทธิภาพทั้งในส่วนของดิสก์และอินพุต/เอาต์พุต (I/O) ด้วยการก๊อปปี้เฉพาะเซ็กเตอร์ (sectors) บนระบบที่มีข้อมูลอยู่เท่านั้น ทำให้ไม่เกิดความซ้ำซ้อน และกลไกการทำงานของซอฟต์แวร์ดังกล่าวมีความคล่องตัวและทำงานได้เร็วกว่า

V2P อีกหนึ่งกลไกแห่งความคล่องตัวขององค์กร

คุณสมบัติใหม่ประการหนึ่งของโซลูชันดูแลความปลอดภัยที่เหนือกว่าชุดเครื่องมือที่ติดมากับเวอร์ชวลไลเซชันซอฟต์แวร์ทั่วไปก็คือ การแปลงจากระบบเสมือนไปสู่ระบบทางกายภาพ (V2P) ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับองค์กรที่ต้องการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ระบบเวอร์ชวลเพียงชั่วคราว เช่น เมื่อมีการซ่อมแซมหรือเปลี่ยนฮาร์ดแวร์ เพื่อรอกลับไปใช้งานตามปกติอีกครั้ง

V2P ยังจำเป็นในยามที่ระบบเวอร์ชวลถูกใช้เพื่อทดสอบชุดซ่อมแซม ทดสอบการติดตั้งแอพพลิเคชัน การเปลี่ยนแปลงการตั้งค่า หรือการอัพเดตไดรเวอร์ต่างๆ ก่อนที่จะนำการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นเข้าสู่ระบบขององค์กรต่อไป ซึ่งคุณสมบัติ V2P จะช่วยให้องค์กรสามารถสร้างและตรวจวัดคุณสมบัติระบบภายใต้สภาพแวดล้อมเสมือนจริงก่อนที่จะนำระบบขึ้นออนไลน์เพื่อใช้งานจริงบนเซิร์ฟเวอร์กายภาพต่อไป

นอกจากนี้ กระบวนการแปลงจากระบบเสมือนกลับสู่ระบบทางกายภาพยังทำหน้าที่เป็นโซลูชันเพื่อปกป้องระบบคอมพิวเตอร์ในองค์กรได้อย่างดีด้วย โดยเราสามารถจดจำสถานะระบบ ณ เวลาหนึ่งๆ (recovery point) บนระบบเวอร์ชวล แล้วจัดเก็บบนสื่อบันทึกข้อมูล เพื่อนำไปใช้บูตเข้าสู่ฮาร์ดแวร์ชุดใหม่ในยามจำเป็น ทำให้อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลและบริการด้านระบบเครือข่ายถูกตรวจสอบและเรียกใช้งานโดยอัตโนมัติพร้อมๆ กับการดึงไฟล์อิมเมจของระบบขึ้นมาใช้งาน โดยที่ไดรเวอร์ที่จำเป็นจะถูกโหลดและติดตั้งบนระบบเสมือนเพื่อให้ทำงานบนเซิร์ฟเวอร์กายภาพชุดใหม่ได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งเมื่อจัดการเรื่องไดรเวอร์เรียบร้อย ระบบก็พร้อมรีบูตตัวเองใหม่ และเชื่อมต่อกลับเข้าสู่ระบบเครือข่ายเพื่อเริ่มให้บริการได้อีกครั้ง

เช่นเดียวกับประโยชน์ด้าน P2V ของโซลูชันสำหรับดูแลความปลอดภัยของระบบคอมพิวเตอร์ ที่ให้กระบวนการด้าน V2P ที่เร็วกว่า โดยบางโซลูชันนั้นทำเวลาได้ในระดับ 1-3 กิกะไบต์ต่อนาทีเลยทีเดียว

มุ่งสู่กลยุทธ์ที่เหนือกว่า

องค์กรธุรกิจจำนวนมากกำลังมุ่งสู่เทคโนโลยีเวอร์ชวลไลเซชัน ขณะเดียวกันก็มองเห็นถึงความจำเป็นในการรับมือกับภัยพิบัติอันอาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด ไม่ว่าจะเป็นความผิดพลาดบนฮาร์ดแวร์หรือระบบคอมพิวเตอร์จนต้องมีการสับเปลี่ยนอุปกรณ์ อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ปัญหาด้านกระแสไฟฟ้า ภัยธรรมชาติ และภัยคุกคามจากโค้ดอันตราย โดยทั้งหมดมีจุดร่วมเช่นกันก็คือ ดาวน์ไทม์เป็นเรื่องที่ต้องหลีกเลี่ยงให้ไกลที่สุด

องค์กรควรสามารถกอบกู้ระบบจากเหตุการณ์ดังที่กล่าวไปได้ในเวลาไม่กี่นาที ไม่ใช่เป็นชั่วโมงหรือเป็นวัน อย่างไรก็ดีมีบริษัทน้อยแห่งที่ยอมเสียค่าใช้จ่ายมหาศาลในการสำรองฮาร์ดแวร์อีกหนึ่งชุดเอาไว้เพื่อทำหน้าที่ทดแทนยามเกิดปัญหา ทำให้การบรรลุเป้าหมายในการกอบกู้ระบบในเวลาอันสั้นจึงเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่ง

แต่ด้วยการใช้โซลูชันดูแลปกป้องระบบที่ทำงานอิสระบนทุกฮาร์ดแวร์แพลตฟอร์มพร้อมคุณสมบัติด้านระบบเวอร์ชวล จะช่วยให้องค์กรสามารถเสริมกลยุทธ์ด้านการกอบกู้ระบบจากภัยพิบัติด้วยการนำเทคโนโลยีเวอร์ชวลไลเซชันเข้ามาช่วยเพื่อปกป้องความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจและให้โครงสร้างระบบไอทีในองค์กรที่มีประสิทธิภาพเหนือกว่า

โซลูชันเหล่านี้ทำให้ความแตกต่างด้านฮาร์ดแวร์ไม่ใช่สิ่งสำคัญอีกต่อไป ต่างจากแนวทางการกอบกู้ระบบแบบเดิมที่มักเกิดความเข้ากันไม่ได้เมื่อต้องการกอบกู้ระบบบนฮาร์ดแวร์ที่มีลักษณะต่างกัน ทำให้โซลูชันดูแลปกป้องระบบแบบใหม่สามารถตอบโจทย์และกอบกู้ระบบได้รวดเร็วกว่า

เมื่อโซลูชันเหล่านี้มีความสามารถในการแปลงระบบไปมาได้ทั้งสองทางระหว่างระบบทางกายภาพและระบบเสมือนจริง ทำให้ปัจจุบันโซลูชันด้านการดูแลปกป้องระบบกลายเป็นทางออกที่คุ้มค่าสำหรับเป้าหมายในการกอบกู้ระบบจากภัยพิบัติและการทำเวอร์ชวลไลเซชันในองค์กร เพราะสามารถใช้เพื่อแปลงเวอร์ชวลไลเซชันจากแพลตฟอร์มหนึ่งไปสู่เวอร์ชวลไลเซชันจากผู้พัฒนาอีกรายหนึ่งแบบข้ามแพลตฟอร์มได้อย่างไม่มีปัญหา เช่นเดียวกับการแปลงเวอร์ชวลไลเซชันไปมาบนแพลตฟอร์มที่ต่างกันจากค่ายเดียวกันด้วย

อาจกล่าวสรุปได้ว่า โซลูชันเพื่อการดูแลปกป้องระบบในปัจจุบันกำลังกลายเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ช่วยให้องค์กรบรรลุเป้าหมายที่ต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งด้านความสามารถในการกอบกู้ระบบด้วยแนวทางที่ยืดหยุ่นกว่า รวมไปถึงคุณสมบัติด้านการแปลงระบบไปมาระหว่างระบบทางกายภาพและระบบเวอร์ชวล ทำให้องค์กรธุรกิจสามารถรับมือกับยุคแห่งเวอร์ชวลไลเซชันได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

บทความพิเศษ
กำลังโหลดความคิดเห็น