xs
xsm
sm
md
lg

รวบแก๊งตุ๋นบริษัทดังญี่ปุ่นโอนเงินเข้าไทย อายัดทัน 215 ล้าน คืนให้เหยื่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



ผบช.ไซเบอร์แถลงผลจับกุมแก๊งไทยเทาร่วมมือแอฟริกันตะวันตก หลอกบริษัทดังในญี่ปุ่นโอนเงิน พร้อมตามอายัดทัน 215 ล้านบาท คืนให้ผู้เสียหาย

วันนี้ (9 ก.ค.) ที่ กองบัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สอท. แถลงผลปฏิบัติการ “MONEY CASH BACK ปิดบัญชี ตามล่าม้า คว้าเงินคืน EP.17” โดยตำรวจไซเบอร์คืนเงินเหยื่อครั้งสูงสุด หลังจับไทยเทาร่วมแอฟริกันตะวันตกลวงข้ามชาติ หลอกบริษัทดังในญี่ปุ่นโอนเข้าไทย อายัดทัน 215 ล้าน นำคืนให้ผู้เสียหาย

ทั้งนี้ สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับแจ้งจากธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งในประเทศไทย หลังได้รับการประสานจากธนาคารญี่ปุ่นว่าเกิดเหตุฉ้อโกงทางการเงิน (Cyber Fraud) กับบริษัทชื่อดังของญี่ปุ่น โดยถูกหลอกให้โอนเงินเข้าบัญชีในไทยจำนวนกว่า 228 ล้านบาท ผ่านการหลอกลวงทางอีเมล จากการตรวจสอบพบว่า กลุ่มมิจฉาชีพได้แอบดักจับอีเมลระหว่างบริษัทญี่ปุ่นกับบริษัทคู่ค้า ก่อนจะสร้าง โดเมนอีเมลปลอม ที่มีลักษณะใกล้เคียงกันอย่างแนบเนียน เพื่อส่งข้อความหลอกเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของบริษัทญี่ปุ่น ว่าได้มีการเปลี่ยนแปลงบัญชีสำหรับการโอนเงิน ทำให้บริษัทญี่ปุ่นหลงเชื่อและโอนเงินเข้าสู่บัญชีของบริษัทแห่งหนึ่งในประเทศไทย ทันทีหลังการโอนเงิน ช่วงเวลา 17.31 น. “นายวีรกานต์” หนึ่งในผู้ต้องสงสัย ได้ถอนเงินออกจากบัญชีจำนวน 3 ล้านบาท และในเวลา 18.05 น. ได้ถอนเพิ่มอีก 10 ล้านบาท ก่อนที่ธนาคารจะอายัดบัญชีทันที พร้อมประสาน บช.สอท. เข้าตรวจสอบ

จากการสืบสวนพบว่า บริษัทปลายทางที่รับโอนเงินดังกล่าวจดทะเบียนในเขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ โดยอ้างว่าประกอบธุรกิจขายส่งยานยนต์เก่า มีทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท และมีกรรมการ 3 คน ได้แก่ นายวีรกานต์, น.ส.วิลัยพร และนายอนุชา ซึ่งทั้งหมดถูกออกหมายจับและจับกุมได้ครบภายในวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา เมื่อขยายผลเพิ่มเติมพบว่า ผู้อยู่เบื้องหลังคือ Mr.Annest Onyebuchi ชาวไนจีเรีย สามีของ น.ส.พิญญานันท์ ซึ่งให้การว่าได้รับภาพใบแจ้งหนี้จาก Mr. Annest ผ่านแอป WhatsApp ก่อนนำส่งให้ผู้ต้องหาใช้ยื่นถอนเงินจากธนาคาร นอกจากนี้ยังพบว่า มีการเตรียมนำเงินอีก 100 ล้านบาท ฝากเข้าบัญชีบริษัท มิลเลียน มิกซ์ จำกัด ซึ่งมี นายภูริพัฒน์ และ นายสุเมศย์ เป็นกรรมการ โดยบริษัทดังกล่าวได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “ฟู้ดไซเบอร์ จำกัด” ตั้งอยู่บนชั้น 13 ของอาคารแห่งหนึ่งย่านพระราม 4 เขตสาทร เจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจค้นและยึดหลักฐานสำคัญหลายรายการ

ล่าสุด เมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่าน เจ้าหน้าที่สามารถจับกุม Mr.Ibrahim ชาวกาน่า อายุ 51 ปี ได้ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดนนทบุรี โดยพบว่าเป็นผู้ประสานงานกับกรรมการบริษัทเพื่อให้รับเงินจากต่างประเทศ พร้อมเสนอค่าตอบแทน 5% และยังมีพฤติกรรมสั่งลบแชท-ปิดปากผู้ร่วมขบวนการหลังมีข่าวจับกุม เบื้องต้น เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้แล้วรวม 6 ราย

โดยแจ้งข้อหา “ร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น, โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายและได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้สมคบกัน และร่วมกันฟอกเงิน, ร่วมกันเปิด หรือยินยอมให้บุคคลอื่น ใช้บัญชีเงินฝากบัตรอิเล็กทรอนิกส์หรือบัญชีอิเล็กทรอนิกส์ของตนโดยมิได้มีเจตนาใช้เพื่อตนหรือเพื่อกิจการที่ตนเกี่ยวข้อง หรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้ หรือยืมใช้เลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของตน โดยประการที่รู้หรือควรรู้ว่าจะนำไปใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือความผิดอาญาอื่นใด, ร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติและได้ลงมือกระทำความผิดร้ายแรงตามวัตถุประสงค์ขององค์กรอาชญากรรมนั้น ร่วมกันเป็นอั้งยี่ และซ่องโจร และได้กระทำความผิดตามความมุ่งหมายของอั้งยี่หรือซ่องโจร” นำตัวส่งดำเนินคดีตามกฎหมาย

ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังได้ประสานงานกับ FBI ของสหรัฐอเมริกา เพื่อขอความร่วมมือในการตรวจสอบต้นตอของการปลอมแปลงอีเมล พร้อมทั้งมีการส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงเดินทางไปต่างประเทศเพื่อสืบสวนระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ของบริษัทต้นทางในญี่ปุ่นและคู่ค้าในต่างประเทศอย่างใกล้ชิด

พล.ต.ท.ไตรรงค์ จึงกล่าวเตือนว่า ขอให้ภาคธุรกิจทั้งในและต่างประเทศเพิ่มความระมัดระวังในการตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงข้อมูลทางการเงิน โดยเฉพาะอีเมลและบัญชีโอนเงิน เพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อ BEC Fraud ที่กำลังระบาดในระดับโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น