xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวลึกปมลับ : ซอฟต์พาวเวอร์ไทย กับความล้มเหลว ผ่านดราม่าชุดโอลิมปิก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



“ข่าวลึกปมลับ” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APP สถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูป NEWS1 และเฟซบุ๊กแฟนเพจNEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคม 2567 ตอน ซอฟต์พาวเวอร์ไทย กับความล้มเหลว ผ่านดราม่าชุดโอลิมปิก



จริงๆ เรื่องดราม่าเครื่องแต่งกายราวมพิธีเปิดการแข่งขันมหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่ฝรั่งเศสของนักกีฬากำลังจะจบลงอยู่แล้วแท้ๆ แต่เรื่องก็ดันมาร้อนอีก ภายหลังศาตราจารย์เจริญ วรรธนะสิน คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ออกมาตอบโต้ด้วยการพาดพิงเครื่องแต่งกายของชาติอื่น

“ที่ชมนักชมหนามองโกเลีย ชมนักชมหนาของเกาหลี ชมนักชมหนาของเฮติ ขอโทษนะครับ เหมือนงิ้วกับลิเกถ้าดูกันดี ๆ เราจะเอาชุดลิเกเข้าไปที่ปารีส คงไม่ใช่อย่างนั้น” คำพูดที่กลายเป็นประเด็นจากผู้ใหญ่ของไทย

แต่พอเรื่องเริ่มแดงขึ้นมาเจ้าตัวจึงได้กลับลำถอนฟืนออกจากกองไฟด้วยการกล่าวว่า "แต่ละชาติมีวัฒนธรรมของเขา มองโกเลียเป็นชุดวัฒนธรรมเก่าแก่ของเขา ผมหรือใครไม่มีสิทธิ์ที่จะไปบอกว่าของเขาเป็นงิ้วหรือเป็นลิเก แต่ที่พูดเรื่องงิ้ว ลิเก เพียงแต่ยกตัวอย่างเท่านั้น เรื่องของเครื่องเเต่งกายอยู่ที่สมัย อยู่ที่ยุค และอยู่ที่มุมมองของคน"

เรื่องศิลปะแน่นอนว่าทุกฝ่ายย่อมมีสิทธิวิจารณ์ให้ความเห็นได้ ไม่มีผิดและไม่มีถูก เพราะถึงอย่างไรเสียเป้าหมายสูงสุดของการไปร่วมมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ คือ การได้เหรียญรางวัลกลับมาเพื่อเป็นเกียรติและศักดิ์ศรีให้กับประเทศไทย แต่การวิจารณ์ในทำนองพาดพิงเรื่องเชื้อชาติเช่นนั้นย่อมเป็นสิ่งที่ต้องพึงระวัง

หากมองในภาพรวมของดราม่าเกี่ยวกับชุดนักกีฬาไทยที่เกิดขึ้นมาตลอดแบบไม่อคติจนเกินไปจะพบว่าคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ยังมีการบ้านอีกมากที่ต้องทำ หากจะพานโยบายนี้ไปให้ถึงฝั่งฝัน

เรื่องชุดกีฬาโอลิมปิกมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ตรงที่มีการตั้งงบประมาณสำหรับส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าแฟชั่นประเภทกีฬาผ่านนักกีฬาโอลิมปิกไทย จำนวน 5,000,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการออกแบบชุดนักกีฬา 1.5 ล้านบาท การผลิตสื่อสำหรับส่งเสริมภาพลักษณ์ 2 ล้านบาท และการประชาสัมพันธ์ 1.5 ล้านบาท

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชุดนักกีฬาออกมาไม่โดนใจส่วนหนึ่งมาจากการการปรับเปลี่ยนตัวคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านแฟชั่น ภายหลังเกิดความขัดแย้งจนลาออกกันไปจำนวนมาก แน่นอนว่าย่อมทำให้การทำงานขับเคลื่อนขาดความต่อเนื่อง

แต่ถ้าจะบอกว่าเหตุการณ์ข้างต้นเป็นต้นทางของปัญหาทั้งหมดก็คงไม่ใช่เสียทีเดียว เพราะคนที่ควรจะต้องรับผิดชอบมากที่สุด คือ คณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ที่ไม่อาจทำให้ปรัชญาว่าด้วยซอฟต์พาวเวอร์เข้าถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้

หลายต่อหลายครั้งผู้นำของไทยยึดติดกับกรอบซอฟต์พาวเวอร์ว่าต้องเป็นไทยแท้เท่านั้น ประหนึ่งเป็นการยัดเยียดให้มากที่สุด เช่น การนำผ้าขาวม้าติดตัวไปทุกที่ในแต่ละโอกาส ทั้งๆที่ผู้นำด้านซอฟต์พาวเวอร์ที่ประสบความสำเร็จอย่างเกาหลีใต้แทบไม่จำเป็นต้องทำแบบนั้น แต่เน้นการใช้รูปแบบวิธีการสื่อสารอย่างมีศิลปะแทน ไม่ใช่ยัดเอาความเป็นเกาหลีเข้าไปถื่อๆ

เมื่อฝ่ายรัฐบาลใช้วิธีการสื่อสารเรื่องซอฟต์พาวเวอร์แบบนี้และยังติดกับกรอบความเป็นอนุรักษ์นิยมไทยแบบเดิมๆ จึงไม่แปลกที่ผู้ใหญ่จะยอมรับในคำวิจารณ์นั้นและมักจะแสดงอาการต่อต้านด้วยการยกชาติตัวเองให้สูงกว่าชาติอื่น ซึ่งเป็นวิธีการล้าสมัยไปแล้ว

จากเหตุการณ์ดราม่าที่เกิดขึ้นทั้งหมด ถึงไม่เกี่ยวกับคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ตรงๆ แต่ด้านหนึ่งก็ไม่อาจปฏิเสธได้ จึงถึงเวลาแล้วที่ควรปรับวิธีการทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายมากที่สุด เช่น การลดบทบาทของภาครัฐที่เข้าไปแทรกแซงการทำงานจนขาดความเป็นอิสระที่ไปปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ หรือ แม้แต่การกล้าที่จะออกจากกรอบความเป็นไทย เป็นต้น ไม่ใช่เน้นแค่การจัดงานแสดงและให้คนในรัฐบาลมาตัดริบบิ้นเปิดงานแล้วบอกว่าประสบความสำเร็จแล้วเหมือนที่ผ่านมา

ถ้าคนมีอำนาจไม่หน้ามืดจนเกินไป ก็คงจะเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและเร่งแก้ไข

------------------------------
**หมายเหตุ
ดาวโหลดแอป Sondhi App ได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore :https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play :https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android


กำลังโหลดความคิดเห็น