xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวลึกปมลับ : ‘ก้าวไกล’ ซื้อเวลา ขอศาล รธน. ไต่สวน อาจจบซ้ำรอย ‘ธนาธร’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



“ข่าวลึกปมลับ” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APP สถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูป NEWS1 และเฟซบุ๊กแฟนเพจ NEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันจันทร์ ที่ 10 มิถุนายน 2567 ตอน ‘ก้าวไกล’ ซื้อเวลา ขอศาล รธน. ไต่สวน อาจจบซ้ำรอย ‘ธนาธร’



คดียุบพรรคก้าวไกลได้เดินทางมาถึงหลักกิโลเมตรที่สำคัญ ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของพรรคก้าวไกลรวมไว้ในสำนวน พร้อมกับส่งสำเนาคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาให้คณะกรรมการการเลือกตั้งทราบ และกำหนดนัดพิจารณาในวันที่ 12 มิถุนายน นี้

แม้ว่าจะยังไม่ใช่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัย แต่ก็มีเรื่องสำคัญที่พรรคก้าวไกลในฐานะฝ่ายผู้ถูกร้องต้องลุ้นตัวโก่งเช่นกัน เนื่องจากจะเป็นวันที่ศาลรัฐธรรมนูญจะเริ่มพิจารณาคดีครั้งแรกอย่างเป็นทางการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 ประเด็นสำคัญอยู่ที่การอ่านใจศาลรัฐธรรมนูญว่าจะใช้เวลาในการพิจารณาคดีสั้นหรือยาวเท่าใด

โดยข้อกฎหมายที่น่าสนใจ คือ มาตรา 58 ที่มีเนื้อหาว่า "หากศาลเห็นว่าคดีใดเป็นปัญหาข้อกฎหมาย หรือมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ ศาลอาจประชุมปรึกษาเพื่อพิจารณาและวินิจฉัยโดยไม่ทําการไต่สวนหรือยุติการไต่สวนก็ได้ เมื่อศาลเห็นว่าพยานหลักฐานใดเกิดขึ้น หรือได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่พิจารณาวินิจฉัย หรือไม่มีความจําเป็นแก่การพิจารณาวินิจฉัย หรือจะทําให้คดีล่าช้าโดยไม่สมควร ศาลอาจสั่งงดการสืบหรือไม่รับฟังพยานหลักฐานนั้นก็ได้"

จากบทบัญญัติของมาตรา 58 กฎหมายมีวัตถุประสงค์ให้การพิจารณาคดีในศาลรัฐธรรมนูญมีความรวดเร็ว จึงเปิดโอกาสให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญสามารถชี้ขาดได้ทันที ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าเป็นคดีพิพาทในข้อกฎหมาย หรือ มีพยานหลักฐานเพียงพอแล้ว

ตรงนี้เองจึงเป็นประเด็นที่พรรคก้าวไกลพยายามชี้ชวนมาตลอดว่าศาลรัฐธรรมนูญควรต้องเปิดการไต่สวน อย่าพึ่งด่วนใจร้อนตัดสินชี้ขาดทันที ดังจะเห็นได้จากท่าทีของ 'ชัยธวัช ตุลาธน' หัวหน้าพรรคก้าวไกลที่ได้แสดงความคิดเห็นไปก่อนหน้านี้

ความพยายามของพรรคก้าวไกลที่ต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญเปิดการไต่สวนนั้นอย่างน้อยจะเป็นการเปิดโอกาสให้ 'พิธา ลิ้มเจริญรัตน์' เข้าไปทำหน้าที่แสดงหลักฐานให้ศาลเห็นว่าการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ได้มีเจตนาล้มล้างการปกครองแต่อย่างใด ขณะที่ ในอีกมุมหนึ่งก็เป็นการซื้อเวลาคดีนี้ถูกลากยาวออกไปให้พ้นช่วงวันที่ 19-21 มิถุนายน ซึ่งจะมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ. 2568 ออกไปก่อน

กลยุทธ์นี้พรรคก้าวไกลเคยใช้มาแล้วเมื่อครั้ง 'ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ' หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ในเวลานั้น ได้ขอโอกาสจากศาลในการเข้าไปเผชิญกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในคดีการถือหุ้นสื่อสารมวลชน ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็ให้โอกาสได้เข้ามาชี้แจงและตอบข้อซักถามต่อหน้าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนที่ผลการวินิจฉัยจะออกมาอย่างที่ทราบกันไป

อย่างไรก็ตาม จริงอยู่การที่พรรคก้าวไกลขอให้ศาลเปิดโอกาสให้มีการซักพยานหน้าบัลลังก์ศาล อาจจะเป็นผลดีต่อพรรคก้าวไกลในการจะได้ชี้แจงอย่างเป็นทางการ เพราะเป็นการพิจารณาแบบเปิดเผยที่มีการถ่ายทอดออกมาให้บุคคลนอกห้องพิจารณาได้รับชม

แต่อีกมุมหนึ่งก็อาจมีราคาที่พรรคก้าวไกลอาจต้องจ่ายแพงเช่นกัน กล่าวคือ เมื่อครั้งที่ 'ธนาธร' ได้เข้าไปตอบคำถามในศาล ปรากฏว่ามีหลายประเด็นที่ธนาธรก็ตอบศาลรัฐธรรมนูญไม่ค่อยเคลียร์ จนกลายเป็นข้อสงสัยที่ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าฟังไม่ขึ้น และเป็นประเด็นที่ทำให้ผู้นำแห่งจิตวิญญาณของพรรคก้าวไกลต้องตกเก้าอี้ในเวลาต่อมา

ดังนั้น การเลือกที่จะขอเผชิญหน้ากับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในห้องพิจารณาคดี ถ้าพรรคก้าวไกลการ์ดไม่สูงพอก็อาจเดินออกมาจากศาลรัฐธรรมนูญในสภาพที่ไม่ได้หล่ออย่างที่คิดไว้ก็เป็นไปได้

------------------------------
**หมายเหตุ
ดาวโหลดแอป Sondhi App ได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore :https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play :https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android


กำลังโหลดความคิดเห็น