“ข่าวลึกปมลับ” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APPสถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูปNEWS1 และเฟซบุ๊กแฟนเพจNEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการวันจันทร์ที่ 15 กรกฎาคม 2567 ตอน ค่านิยมคนไทยวิบัติ มองกรวดเป็นเพชร นักการเมืองบ้าปริญญา
สถานการณ์ทางการเมืองไทยเวลานี้ไม่ได้อยู่ในภาวะหน้าสิ่วหน้าขวานหรือมีประเด็นอะไรที่กำหนดทิศทางประเทศไทยเท่าใดนัก มีแต่เพียงเรื่องดราม่าที่คนในสังคมส่วนใหญ่กำลังสนใจ คือ เรื่องปัญหาวุฒิการศึกษาของรศ.ดร.พญ.เกศกมล เปลี่ยนสมัย ส.ว.ที่ได้รับคะแนนจากการคัดเลือกมาเป็นอันดับที่ 1
อย่างที่ทราบกันดีว่าหมอเกศยืนยันว่าตัวเองจบการศึกษาจากต่างประเทศ โดยอ้างถึงวุฒิการศึกษา California University ก่อนที่จะถูกขุดคุ้ยว่าแท้ที่จริงแล้วสถาบันการศึกษานี้ไม่ได้ทำหน้าที่จัดการเรียนการสอน แต่ให้บริการทางวิชาการในลักษณะของการเทียบวุฒิการศึกษามากกว่า อีกทั้งใบประกาศรับรองวุฒิการศึกษา California University ก็ไม่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนด้วย ส่วนที่มีการแอบอ้างรัฐสภาไทยให้การรับรองนั้นสถาบันพระปกเกล้าเตรียมจะดำเนินการต่อไป
ถ้าว่ากันตามกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่เกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งส.ว.พบว่าไม่ได้มีการจำกัดวุฒิการศึกษาขั้นต่ำไว้ที่ระดับปริญญาตรีเหมือนกับบบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เนื่องจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ต้องการออกแบบให้วุฒิสภามาจากบุคคลที่มีความหลากหลายจริง ๆ โดยมองว่าวุฒิสภาไม่จำเป็นต้องมีผู้ทรงภูมิด้านการบริหารราชการแผ่นดินจนล้นสภาเหมือนในอดีต จึงจำกัดไว้ในมาตรา 107 ว่า "วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 200 คน ซึ่งมาจากการเลือกกันเองของบุคคลซึ่งมีความรู้..."
โดยในบันทึกความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญ 2560 อธิบายความหมายของคำว่า 'ความรู้' ว่า "มิได้หมายความถึงความรู้ที่จะวัดกันด้วยประกาศนียบัตรหรือปริญญาทั้งปวง แต่หมายถึงความรู้ที่บุคคลมีอยู่จริงในด้านต่าง ๆ เช่นความรู้ในการทำนาความรู้ในการทำการประมง หรือความรู้ในการเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น"
เมื่อกติกาสูงสุดของประเทศกำหนดไว้แบบนี้้ แม้จะมีบางฝ่ายออกมาพูดว่าส.ว.ไม่ตรงปกไปบ้าง แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับและเป็นบทเรียนที่สังคมต้องเรียนรู้กันไป
สำหรับกรณีของหมอเกศนั้นต่อให้วุฒิการศึกษา California University ใช้ไม่ได้แล้วต้องตกไป ก็ไม่ได้กระทบเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของส.ว.เพราะอย่างที่อธิบายไปตอนต้นว่าวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้เน้นว่าต้องมีใบปริญญาเต็มฝาบ้าน ถ้าจะมีเรื่องอะไรให้ต้องเหนื่อยน่าจะเป็นประเด็นที่ว่าทำผิดกฎหมายเลือกตั้งว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.หรือไม่
โทษฐานแสดงข้อมูลอันเป็นเท็จ หากผิดจริงก็มีสิทธิโดนใบแดง และ รับโทษทางอาญา ซึ่งกระบวนการนี้น่าจะต้องว่ากันอีกยาวพอสมควร
หมอเกศไม่ได้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคนแรกที่มีดราม่าเรื่องวุฒิการศึกษา เพราะก่อนหน้านี้ก็มีหลายคนที่ตกเป็นประเด็นเช่นกัน โดยเฉพาะกรณีของร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า แต่เรื่องก็จบแยกย้ายกันไป
เรื่องการแสวงความรู้ไม่ว่าจะจากในประเทศหรือต่างประเทศนั้นย่อมเป็นเรื่องที่้น่าชื่นชม แต่ปัญหา คือ สังคมไทยให้ความสำคัญและอวยยศศักดิ์ปริญญาบัตรมากเกินไป ยิ่งเป็นปริญญาจากต่างประเทศด้วยแล้วหนักเข้าไปใหญ่ หลายคนบรรยายสรรพคุณด้านการศึกษาของตัวเองยาวเป็นหางว่าวทั้งจากสถาบันชื่อดังและไม่คุ้นหูบ้าง ท่ามกลางข้อกังขาปริญญาบัตรที่ได้มานั้นมาจากความพากเพียรของตัวเองหรือไม่ หรือมาแรงเงินที่ทุ่มลงไปตามหลัก 'จ่ายครบจบแน่'
เมื่อสังคมไทยบ้านเราตื่นเต้นกับคนเรียนสูงๆ ยิ่งเป็นแรงผลักให้นักการเมืองต้องพยายามแสวงหาใบปริญญามาแปะฝาบ้านมากขึ้น เพื่อจะได้เอาไปบอกชาวบ้านหรือเวลาหาเสียง ให้ตัวเองดูดีมีชาติตระกูลกว่าคนอื่น ทั้งที่ตัวเองก็ทราบดีว่าได้ปริญญาเหล่านั้นมาได้อย่างไร
สุดท้ายเรื่องของหมอเกศ อาจจบลงคล้ายๆ กับนักการเมืองรายอื่นๆ แต่คงถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยควรเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน แยกแยะให้ออกว่าคนไหนเพชรแท้ คนไหนเป็นแค่กรวด เพื่อให้ได้คนที่ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยที่แท้จริงเดินเข้าสภา
------------------------------
**หมายเหตุ
ดาวโหลดแอป Sondhi App ได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore :https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play :https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android