xs
xsm
sm
md
lg

แก๊งคอลเซ็นเตอร์วิดีโอคอล ปลอมเป็น ตร.หลอกปู่วัย 81 อดีตพนักงานการไฟฟ้าฯ ดูดเงินสูญ 22 ล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



คุณปู่วัย 81 ปี อดีตพนักงาน กฟผ.ถูกมิจฉาชีพหลอกเงิน 19 ล้านบาท จำนองบ้านอีก 3 ล้านบาท หมดเงิน 22 ล้านบาท จนอยากฆ่าตัวตาย

วันนี้ (9 มิ.ย.) เมื่อเวลา 17.00 น.ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นายไพรสัณต์ หรือ อ๊อด จันทร์สุริยวงศ์ อายุ 81 ปี อดีตหัวหน้างานด้านวางแผนธุรกิจ สายงานด้านเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หลังถูกมิจฉาชีพใช้กลอุบายตีเนียน หลอกว่า บัญชีของคุณปู่อ๊อด พัวพันกับธุรกิจผิดกฎหมาย ทำให้ตนเองตกใจ หลงเชื่อถูกมิจฉาชีพที่ปลอมมาทั้งในรูปแบบของการวิดีโอคอลเป็นตำรวจ โดยให้ทำตามขั้นตอน มิเช่นนั้น จะถูกดำเนินคดี หรืออายัดทรัพย์สิน ตนเองหลงเชื่อโอนเงินให้กับมิจฉาชีพเป็นเงินสด 19 ล้านบาท หลังจากหมดตัวแล้ว ก็ยังถูกมิจฉาชีพใช้อุบายให้เอาบ้านไปจำนองขายฝากอีก 3 ล้าน รวมทั้งดอกเบี้ยอีก 450,000 บาท โดยให้ผ่อนชำระดอกเบี้ยเดือนละ 37,000 บาท และให้คืนเงินต้น 3 ล้านบาท ที่เอาบ้านไปจำนองขายฝากไว้ภายในระยะเวลา 1 ปี หลังได้เงินจากจำนองขายฝากบ้านอีก 3 ล้านบาท ตนก็ได้โอนเงินให้กับมิจฉาชีพไป รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 22 ล้านบาท

นายไพรสัณต์ หรือ ปู่อ๊อด เล่าเรื่องราวอันแสนเศร้าที่เกิดขึ้นกับตนเองว่า ภรรยาตนเองเสียชีวิตไปหลายปีแล้ว ตนมีลูกชายเพียงคนเดียว ชื่อ นายนีรนาท หรือ โอ๊ด จันทร์สุริยวงศ์ อายุ 43 ปี ทำงานอยู่บริษัทตลาดทรัพย์ที่ประเทศสิงคโปร์ หลังเกษียณอายุแล้ว ก็ใช้ชีวิตอยู่ในบ้านหลังใหญ่เนื้อที่ 83 ตารางวา ที่อยู่ในอำเภอบางกรวย จ.นนทบุรี มาอย่างด้วยดี มีความสุข จนเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 67 ช่วงเวลา 14.30 น ได้มีโทรศัพท์เบอร์มือถือ หมายเลข 098 563 6881 โทร.เข้ามาหาตน เป็นชายแนะนำตัวว่า ชื่อ นายรณฤทธิ์ ชัยวงศ์ รหัสพนักงาน 593108 โดยแจ้งว่า ตนถูกแอบอ้างนำข้อมูลส่วนตัวไปเปิดบัญชีธนาคารออมสิน สาขาอยุธยาพาร์ค โดยมีหมายเลขบัญชี 029-781-899570 ซึ่งได้ถูกตรวจบัญชีเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 66 โดยทางธนาคารออมสินได้ติดต่อประสานงานไปยังสถานีตำรวจภูธรพระนครศรีอยุธยา เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจส่งใบรับรองการแจ้งความมายังธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ ภายใน 2 ชั่วโมง

ต่อมาได้มีเบอร์โทรศัพท์เบอร์มือถือหมายเลข 082 717 3028 โดยผู้โทร.มาอ้างว่าตนเองชื่อ พันตำรวจตรี กิตติศักดิ์ รักษากุลวิทยา เป็นสารวัตรงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรพระนครศรีอยุธยา ต้องการสอบปากคำ ตนเอง เนื่องจากได้มีการทุจริตในหน่วยงานราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นวงเงิน 11 ล้าน โดยมี นายเอนก ตันจรารักษ์ ตำแหน่ง สจ. เป็นหัวหน้าขบวนการ และมีผู้ร่วมทุจริตเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่-ผู้น้อย กว่าร้อยคน โดยได้มีการนำเงินจากการทุจริตมาฝากผ่านบัญชีธนาคารออมสินของตนเอง โดยมิจฉาชีพแจ้งว่า ตนเองจะได้เงินผ่านบัญชี 10% ของเงินทั้งหมด และเงินที่อยู่ในบัญชีจะต้องเป็นของกลางในคดีอาญา โดยผู้ที่แอบอ้างเป็นพันตำรวจตรี เห็นว่า ตนมีอายุมากแล้ว หากต้องไปให้การสอบสวนที่โรงพักจะลำบาก เลยแนะนำให้ตนทำตามขั้นตอน ผ่านทาง Application Line

จากนั้นคนที่อ้างตัวเป็นตำรวจรายนี้ได้ บอกกับตนเองว่า คดีนี้เป็นคดีใหญ่ มีผู้ร่วมขบวนการเป็นทั้งตำรวจ-ทหาร-ทนายความ รวมทั้งยังได้ส่งรูปคำสั่งจากศาลอาญากรุงเทพใต้ ให้ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของตนเองทั้งหมด โดยให้ถือเป็นความลับ ถ้าตรวจสอบแล้วไม่พบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดี ก็จะออกหนังสือแสดงความบริสุทธิ์ให้ รวมทั้งจะมีการเยียวยาให้ตามขั้นตอนของกฎหมาย ต่อมาเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 67 ได้มีหญิงสาวอ้างเป็นตำรวจหญิง ชื่อ สุพัตรา ได้รับคำสั่งจากสารวัตรกิตติศักดิ์ มาแนะนำขั้นตอน เพื่อให้การตรวจสอบบัญชีง่ายขึ้น โดยให้ตนเปิด Application E Banking กับธนาคารกรุงไทย และ ธนาคารกสิกรไทย โดยให้รายงานตัวกับพันตำรวจตรี กิตติศักดิ์ ผ่านทางแชตของ สภ.พระนครศรีอยุธยา จนกระทั่งมิจฉาชีพบอกให้ตนแสดงความบริสุทธิ์ใจด้วยการโอนเงินทรัพย์สินที่มีอยู่ไปให้ตรวจสอบ เป็นเงินสดจำนวน 19 ล้านบาท รวมทั้งบ้านที่ไปจำนองขายฝากอีก 3 ล้านบาท ที่ตนเองกับภรรยา (เสียชีวิตไปแล้ว) ทำงานเก็บหอมรอมริบมาตั้งแต่เริ่มก่อร่างสร้างตัว

หลังจากนั้น 2 วัน เขาก็ได้ส่งข้อความมาอีกเป็นคำสั่งของ ป.ป.ช. ว่า จะเป็นผู้ตรวจทรัพย์สินของตน พร้อมกับส่งรายชื่อข้าราชการระดับ 9 และ ระดับ 8 ของ ป.ป.ช. มา เขาก็สั่งให้ตนเริ่มโอนเงินโดยจะกำกับการแสดงทุกอย่าง เพราะตนก็ใช้สมาร์ทโฟนไม่ค่อยเป็น ปรากฏว่า พ.ต.ต.กิตติศักดิ์ ที่อยุธยา จะเป็นคนกำกับการแสดงทั้งหมดทุกขั้นตอนว่าให้ตนโอนเงินอย่างไร เริ่มแรกให้ตนโอนเงินจากบัญชีสหกรณ์ออมทรัพย์ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ออกมาทั้งหมดและให้โอนเข้าบัญชีกรุงไทย และบัญชีกสิกรไทย และให้โอนไปยัง ป.ป.ช.ที่ได้อ้างไว้ทั้งหมด พอเสร็จเรียบร้อย วันต่อๆ ไป พอได้สอบสวนตนไปหมดแล้ว และรู้ว่าตนมีบัญชีในตลาดหลักทรัพย์อยู่กับ Broker 2 แห่ง เขาก็สั่งให้ไปขายทั้งหมด 2 แห่ง พอตนขายเสร็จก็โอนเงินไปให้เขา หลังจากนั้น ก็สั่งให้ตนไปขายฝากบ้าน ให้กับผู้ที่เขาแนะนำมาให้ และก็ติดต่อมาที่ตนก็ปรากฏว่ามีคนติดต่อมาจริงๆ และให้ตนไปขายฝากบ้านและที่ดินที่ตนอาศัยอยู่ในปัจจุบัน คือ บ้านเดี่ยวหลังนี้เนิ้อที่ 83 ตารางวา ตนจำนองขายฝากไปในราคา 3 ล้านบาท พร้อมกับดอกเบี้ย 450,000 บาท โดยทำสัญญา 1 ปี ต้องจ่ายดอกเบี้ยทุกเดือนๆ ละ 37,000 บาท หลังจากนั้น 2 วัน ก็ได้มีไลน์จากตำรวจหญิงที่พูดคุยกับตนบ่อยๆ ให้พูดกับรองผู้กำกับที่อยุธยา รองผู้กำกับได้บอกตนว่า ทางผู้ตรวจสอบได้ตรวจสอบทรัพย์สินทั้งหมดแล้วพบว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ก็จะโอนเงินคืนทั้งหมดโดยมีเงื่อนไขอยู่ 1 ข้อ จะต้องเสียเงินอีก 4,200,000 บาท ให้กับทางราชการในการวางค้ำประกัน ทรัพย์สินที่โอนมา โดยบอกว่า พ.ต.ต พนักงานสอบสวน และร้อยเวร จะช่วยใช้ตำแหน่งค้ำประกันให้ครึ่งหนึ่ง 2.2 ล้านบาท และให้ตนไปหาเงินมา 2.2 ล้านบาท ซึ่งตนก็ไม่รู้จะไปหาที่ไหน เพราะหมดตัวแล้ว จึงได้ติดต่อลูกชายคนเดียว คือ น้องโอ๊ตไป ซึ่งเขาทำงานอยู่ที่ ตลาดหลักทรัพย์ประเทศสิงคโปร์ ลูกก็เลยเอ๊ะใจ เชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอกจนหมดตัวแล้ว วันรุ่งขึ้นลูกชายตนก็รีบบินกลับมาหาตน และนำข้อมูลทั้งหมดไปแจ้งความที่ สอท.2 เมืองทองธานี “ตนสูญทั้งเงินและกำลังจะสูญบ้าน ใน 1 ปี และเสียสุขภาพจิต กินไม่ได้นอนไม่หลับ น้ำหนักลดไป 3 กิโลกรัม จนต้องกินยาแทบจะป่วยเป็นโรคซึมเศร้า อยากจะฆ่าตัวตาย ก็อยากให้ตำรวจช่วยติดตามเงินและบ้านที่เสียไปกลับคืนมาให้ตนด้วย” คุณปู่อ๊อด กล่าวเสียงสั่นเครือ

ขณะที่ นายนีรนาท หรือ โอ๊ต ลูกชายเพียงคนเดียว เปิดเผยว่า ตนรู้สึกโมโหและเสียใจกับเรื่องที่เกิดขึ้นมาก ทำไมถึงมาหลอกลวงกันได้ขนาดนี้ เอากันให้หมดตัวเลย พอตนได้รู้ ตนก็รีบบินกลับมาจากสิงคโปร์ทันที เพื่อมาช่วยพ่อรวบรวมเอกสารหลักฐานต่างๆ และไปแจ้งความที่ สอท. ก็อยากขอร้องพวกคอลเซ็นเตอร์ ว่า อย่ามาทำกินบนหลังคนเลย ขอให้มีความเมตตาสงสารผู้คนบ้าง ในเมื่อคนไม่มีแล้ว เสียทั้งสุขภาพจิต สุขภาพกาย ไม่เป็นอันกินอันนอน ก็อยากขอร้องพวกแก๊งมิจฉาชีพทั้งหลาย หยุดเถอะ อย่ามาทำแบบนี้เลย ซึ่งที่คุณพ่อโอนไปให้มิจฉาชีพทั้งหมด 22 ล้านบาท และเป็นหนี้ขายฝากบ้านอีก 3.45 ล้านบาท ก็อยากให้ทางเจ้าหน้าที่  สอท.เร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด เพราะว่าคุณพ่อก็อายุมากแล้ว ตอนนี้ไม่มีทรัพย์สินเหลือแล้ว ถ้าเกิดเจ็บป่วยก็จะลำบาก ก็ขอรบกวนฝากทาง สอท.ด้วย และก็ฝากถึงธนาคารแห่งประเทศไทย หรือผู้เกี่ยวข้อง เพราะในกรณีแบบนี้ทางแบงก์ทั้งหลาย สามารถใช้ระบบ RIP ในการตรวจสอบได้ ถ้าเกิดว่าหากได้ทำการรู้จักลูกค้าโดยดีแล้ว จะสามารถสังเกตได้ว่าจำนวนเงินในบัญชีของลูกค้าเข้า-ออก กับรายได้ของลูกค้า ความแตกต่างกันมาก เพราะฉะนั้นทางธนาคารจะใช้ระบบ IT เพื่อตรวจจับความผิดพลาดหรือตั้งข้อสังเกต ว่า มีเงิน เข้า-ออก เป็น 10 เท่าของรายได้ น่าจะทำการหยุดธุรกรรมไว้จนกว่าทางเจ้าของบัญชีจะมาแจ้งอีกครั้ง เพื่อเป็นการป้องกันให้ทางลูกค้าไม่ให้เจ้าของบัญชีสูญเสียเงิน ทางธนาคารแห่งประเทศไทย และผู้ที่เกี่ยวข้องควรหาทางแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ มิเช่นนั้น ก็จะมีประชาชนคนสุจริตที่ทำงานเก็บเงินมาชั่วชีวิต ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพอีก ไม่มีวันสิ้นสุด








กำลังโหลดความคิดเห็น