xs
xsm
sm
md
lg

“อโนชา” ปธ.ศาลฎีกา ลุยเปิดแผนกคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี รองรับคดี “บัญชีม้า ปิดเว็บไซต์ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


นางอโนชา ชีวิตโสภณ ประธานศาลฎีกา
อโนชา” ปธ.ศาลฎีกา ลุยเปิดแผนกคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในศาลอาญา รองรับคดีสำคัญ “บัญชีม้า ปิดเว็บไซต์ผิดกฎหมาย และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์” เน้นส่งหลักฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ ด้านรองเลขาฯศาลยุติธรรม เผย คดีนายตำรวจใหญ่เอี่ยวบัญชีม้า หากอัยการฟ้องอาจจะมาศาลอาญาได้

เมื่อเวลา 15.00 น. วันนี้ (2 เม.ย.) ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นางอโนชา ชีวิตโสภณ ประธานศาลฎีกา พร้อมด้วย นายธานี สิงหนาท เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม นายยอดชาย วีระพงศ์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา นายอมรรัตน์ กริยาผล อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง นายธานี สิงหนาท เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม นายเผ่าพันธ์ ชอบน้ำตาล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และคณะผู้บริหารสำนักงานศาลยุติธรรม ศาลอาญา ศาลแพ่ง ร่วมพิธีเปิดแผนกคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในศาลอาญา และแผนกคดีฟอกเงินและมาตรการทางแพ่งในศาลแพ่ง

นางอโนชา กล่าวเปิดงานว่า อาชญากรรมทางเทคโนโลยีเป็นอาชญากรรมที่ใช้วิธีการทางเทคโนโลยีเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เข้ามาเป็นเครื่องมือในการกระทำผิดลักษณะการก่ออาชญากรรมดังกล่าว มีบทบาทในสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยอาชญากรหลายรายใช้เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นนี้ เป็นช่องทางเอารัดเอาเปรียบและล่อลวงประชาชน จนได้ไปซึ่งทรัพย์สินมากมายมหาศาล ทั้งยังใช้เป็นช่องทางการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ส่งผลกระทบต่อประชาชนและประเทศชาติไม่ว่าจะเป็นการฉ้อโกงผ่านระบบสื่อสังคมออนไลน์ การเปิดบัญชีเงินฝากธนาคารของบุคคลอื่น เพื่อเป็นช่องทางการกระทำผิด ที่เรียกว่า “บัญชีม้า” หรือคดีเกี่ยวกับมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีคดีความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ คดีเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หลายปีที่ผ่านมา ศาลอาญาพิจารณาพิพากษาคดีอาญา โดยยึดเจตนารมณ์มุ่งคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นสำคัญ ซึ่งมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ แต่เมื่อรูปแบบการก่ออาชญากรรม มีความซับซ้อนมากขึ้น ตามพัฒนาการของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ศาลอาญาในฐานะหนึ่งในเสาหลักของสถาบันตุลาการ จึงจำต้องปรับตัวให้เท่าทันต่อสถานการณ์ ระบบการพิจารณาพิพากษาคดีแบบเดิมอาจไม่สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ได้ทันท่วงที การจัดตั้งแผนกคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในศาลอาญา จึงเป็นวิธีการรับมือที่ทรงประสิทธิภาพมากที่สุด เนื่องจากคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในศาลอาญา และคำร้องขอใช้มาตรการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องจะได้รับการชำระทางคดี โดยผู้พิพากษาที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน อีกทั้งยังมีการพัฒนาระบบการสืบพยานหลักฐานในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อส่งเสริมการทำงานของผู้พิพากษาให้เป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว เหมาะสมกับการแสวงหาข้อเท็จจริงในคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี อันเป็นการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนอย่างมีคุณภาพ นอกจากนี้ การจัดตั้งแผนกคดีพิเศษในศาลอาญานี้ ยังเป็นการส่งเสริมให้ผู้พิพากษาที่เชี่ยวชาญคดีชำนัญพิเศษ มีโอกาสพิจารณาพิพากษาคดีตามความถนัดของตน ซึ่งเป็นการนำร่องให้มีการจัดตั้งแผนกคดีพิเศษต่างๆ ต่อไปอีกในอนาคต

ขณะที่ นายสรวิศ โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่า โดยการจัดตั้งแผนกคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในศาลอาญา สำนักงานศาลยุติธรรมและศาลอาญาได้ขับเคลื่อนเพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีที่มีลักษณะเป็นอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเป็นไปโดยรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ เนื่องจากผู้กระทำผิดนั้นใช้วิธีการที่ซับซ้อน และยังมีผู้ร่วมกระทำผิดหลายรายเป็นเครือข่ายเพื่อให้ได้ทรัพย์สินและปกปิดอำพรางการกระทำความผิด ดังนั้น การสืบสวนตลอดจนการนำพยานหลักฐานพิสูจน์ความผิดในชั้นศาลจึงต้องรวดเร็วมีประสิทธิภาพ และจำเป็นต้องดำเนินการโดยบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเป็นการเฉพาะด้วย ซึ่งประธานศาลฎีกาลงนามประกาศ ก.บ.ศ.จัดตั้งแผนกคดี ฯ เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2567 ซึ่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาให้ออกประกาศให้เริ่มดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2567 เป็นต้นไป


สำหรับ “คดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี” ที่จะเข้าสู่การพิจารณา คือ คดีอาญาที่ฟ้องขอให้ลงโทษบุคคลที่กระทำความผิดกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ คดีความผิดฉ้อโกง กรรโชกหรือรีดเอาทรัพย์ โดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือ ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยแผนกคดีนี้มีอำนาจพิจารณาพิพาษาคดีที่อยู่ในเขตอำนาจและที่โอนมาตามกฎหมาย เว้นแต่คดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของแผนกคดียาเสพติด แผนกคดีค้ามนุษย์ และยังให้พิจารณาเพื่อมีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ด้วย ส่วนการบริหารจัดการในแผนกคดีให้มี ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนก 1 คน มีผู้พิพากษาที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเป็นผู้พิพากษาประจำในแผนกทำหน้าที่เป็นองค์คณะออกนั่งบัลลังก์พิจารณาพิพากษาคดี และช่วยเหลืองานผู้พิพากษาหัวหน้าแผนก ในการบริหารและดำเนินงานต่างๆ ของแผนกให้เป็นไปโดยเรียบร้อยด้วย


ด้านแผนกคดีฟอกเงินและมาตรการทางแพ่งในศาลแพ่ง ประธานศาลฎีกาในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) ได้ลงนามเมื่อเดือน ธ.ค. 2566 ให้จัดตั้งแผนกคดีฟอกเงิน ตามแนวทางที่ศาลแพ่งเสนอโครงการ เพื่อให้การบริหารจัดการคดีฟอกเงินและมาตรการทางแพ่งเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพทั้งด้านความรวดเร็ว ด้านการเก็บรักษาความลับ ด้านการคุ้มครองสิทธิของประชาชนผู้สุจริต โดยสถานการณ์ปัจจุบันเท่ามกลางการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี เงินและประโยชน์ที่ได้จากการก่ออาชญากรรมจำนวนมาก สามารถโยกย้ายได้อย่างรวดเร็วผ่านระบบอินเตอร์เน็ต นอกเหนือจากการถูกนำมาฟอกเพื่อให้เป็นเงินที่ถูกกฎหมายผ่านช่องทางต่างๆ อาทิ สถาบันการเงิน ตลาดหลักทรัพย์ การใช้สินทรัพย์ดิจิทัล การตั้งบริษัทและธุรกิจบังหน้า มูลนิธิและองค์กรการกุศล อีกทั้งศาลแพ่งเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ. 2559 มาตรา 14 พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ที่จะใช้มาตรการทางแพ่งกับผู้กระทำความผิดซื้อขายหลักทรัพย์ที่ไม่เป็นธรรม การจัดตั้งแผนกคดีนี้จึงสอดคล้องและเหมาะสมตามสภาพคดีปัจจุบันที่มีรูปแบบใหม่และความซับซ้อน ตลอดจนภารกิจของศาลแพ่งที่ต้องนำมาตรการทางแพ่งใช้ในการพิจารณาและมีคำสั่งกำหนดรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดว่าเป็นผู้มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายหรือการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ไม่ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนที่จะนำไปใช้ในการก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธได้ โดยการบริหารจัดการในแผนกจะแต่งตั้งผู้พิพากษา 1 คน เป็น
หัวหน้าแผนก ให้มีผู้พิพากษาประจำแผนกแป็นการเฉพาะทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีเช่นกันอันเป็นการพัฒนาผู้พิพากษาให้มีความรู้ความชำนาญเป็นพิเศษอีกทางหนึ่งด้วย ขณะที่รายงานสถิติคดีความผิด พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ที่ศาลแพ่งรับใหม่เข้ามาช่วงปี พ.ศ. 2566 (เดือน ม.ค.- ก.ย.) มี 132 ข้อหา ทั้งนี้ อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง ได้ออกประกาศให้เริ่มดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2567 เป็นต้นไป


นายเผ่าพันธ์ ชอบน้ำตาล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า ความจริงแผนกคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เปิดตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้จัดองค์คณะผู้พิพากษาไว้ทั้งหมด 10 องค์คณะ มีผู้พิพากษา รวมทั้งหัวหน้าแผนกคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีด้วย ทั้งหมด 21 ท่าน โดยแผนกคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี นี้มีงานอยู่ 2 ส่วน คืองานคดีที่มีการฟ้องเข้ามา ตาม พ.ร.ก.ป้องกันและปราบปรามอาชญากรมทางเทคโนโลยีพวกบัญชีม้า ฉ้อโกง รีดเอาทรัพย์ที่มีการใช้คอมพิวเตอร์ และคดีอื่นๆ ที่บุคคลมีการฟ้องร้องเข้ามา อีกส่วนหนึ่งไม่ใช่คดี แต่เป็นเรื่องการใช้มาตรการ เช่นการขอปิดเว็บไซต์ นอกจากนี้ ก็ยังมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตราต่างๆ ก็จะมาอยู่กับแผนกคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีนี้ด้วย ซึ่งคดีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ตั้งแต่ปี 2561 มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเมื่อปี 2566 มีจำนวน 790 กว่าคดี ส่วนคดีบัญชีม้า ตาม พ.ร.ก.ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งเป็นกฎหมายใหม่เมื่อปี 2566 มีเพียง 8 คดี แต่คาดว่าจะมากขึ้น

นายเผ่าพันธ์ กล่าวอีกว่า การที่ศาลอาญาตั้งแผนกนี้ขึ้นมาเฉพาะ มีจุดสำคัญเพื่อจะเข้าไปจัดการกับคดีประเภทนี้ให้เป็นระบบ ถูกที่ถูกทาง โดยส่วนใหญ่พยานหลักฐานซึ่งทราบกันดีว่า เป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์เกือบทั้งนั้น ถ้าเราไม่มีระบบ ไม่มีคนที่เข้าใจ สุดท้ายก็อาจจะต้องส่งพยานหลักฐานที่เป็นกระดาษ ซึ่งมองว่าเป็นปัญหาของกระบวนการทำงาน ขณะที่องค์คณะผู้พิพากษาก็จะมีความรู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ระดับหนึ่ง ทั้งนี้ศาลยุติธรรมเราได้นำเทคโนโลยี ระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในการทำงานตั้งแต่ปี 2561 แล้ว และอาจจะต้องมีการอบรมหรือเพิ่มเติมทักษะ ตอนนี้ศาลยุติธรรมเรามีแผนกคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ส่วนศาลแพ่งเราก็มีแผนกซื้อขายออนไลน์ ส่วนในอนาคตจำเป็นจะต้องมีศาลอาชญากรรมทางเทคโนโลยีโดยเฉพาะหรือไม่ ก็ต้องถามสังคมว่ามีความต้องการหรือไม่ ถ้าประชาชนต้องการศาลยุติธรรมก็น่าจะรับมาพิจารณาให้สอดคล้องกัน


“”ก่อนหน้าที่จะมีแผนกคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี มีปัญหาของกระบวนการยุติธรรมทั้ง ตำรวจ ทนายความ อัยการ รวมทั้งสถาบันการเงินที่จะต้องแลกเปลี่ยน เชื่อมโยงข้อมูลกัน แต่มีปัญหาเรื่องหลักฐานการกระทำผิดที่ข้อมูลอยู่ในคอมพิวเตอร์ เมื่ออัยการฟ้องคดีศาล ถ้าเราไม่ทำให้เกิดความชัดเจน ก็จะต้องใช้หลักฐานเป็นกระดาษ ซึ่งเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมก็ได้ออกประกาศสำนักงานศาลยุติธรรมใช้ทั้งในศาลอาญา และศาลแพ่ง ว่า พยานหลักฐานที่เป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อย่างไร ก็สามารถส่งให้ศาลได้ ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญและเป็นประโยชน์กับกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะเมื่อเรามีแผนกคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ที่การส่งพยานหลักฐานเป็นไฟล์ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ก็จะช่วยให้การพิจารณาคดีมีความสะดวกรวดเร็วขึ้น”

นายเผ่าพันธ์ กล่าวอีกว่า ศาลเราไม่ได้มีหน้าที่ปราบปรามบัญชีม้า เพียงแต่มีการพิจารณาคดีทั้ง 2 ฝ่าย เพราะเรามองกลับกัน คนที่ถูกกล่าวหาเป็นจำเลย ก็จะต้องได้รับความเป็นธรรมจากศาลด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า คดีที่นายตำรวจใหญ่เกี่ยวข้องกับบัญชีม้าหรือพนันออนไลน์ หากอัยการยื่นฟ้องเข้ามาจะอยู่ในแผนกคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีใช่หรือไม่

นายเผ่าพันธ์ กล่าวว่า แผนกคดีนี้เราดูข้อหาเป็นหลัก ไม่ได้ดูตำแหน่งของคู่ความว่ามีตำแหน่งอะไร แต่ถ้าข้อหาเข้าตามที่กำหนดของคดีแผนกนี้ ซึ่งอาจเป็นข้อหาเกี่ยวกับบัญชีม้าและข้อหาอื่น ก็อยู่ในอำนาจของแผนกคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในศาลอาญา
กำลังโหลดความคิดเห็น