xs
xsm
sm
md
lg

ศาลยุติธรรมจับมือ กรมการปกครอง ขยายเครือข่ายกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ช่วยดูแลผู้ต้องหาได้ประกันตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


นายเผ่าพันธ์ ชอบน้ำตาล รองเลขาฯ สนง.ศาลยุติธรรม และนายสมชัย เลิศประสิทธิพันธ์ รองอธิบดีกรมการปกครอง (เสื้อเหลือง)
ศาลยุติธรรมจับมือ กรมการปกครอง ขยายเครือข่ายกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้กำกับดูแลผู้ต้องขังหรือจำเลยที่ได้ประกันตัว พร้อมใช้ข้อมูลเฝ้าระวังป้องกันกระทำผิดซ้ำ


วันนี้ (29 พ.ย.) ที่ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 12 อาคารศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นายเผ่าพันธ์ ชอบน้ำตาล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และนายสมชัย เลิศประสิทธิพันธ์ รองอธิบดีกรมการปกครอง ร่วมพิธีแลกเปลี่ยนบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสำนักงานศาลยุติธรรม กับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พัฒนาระบบประเมินความเสี่ยงเพื่อการกำกับดูแลในชั้นปล่อยชั่วคราวและการใช้มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของศาลยุติธรรม โดยมีผู้พิพากษา เจ้าหน้าที่ศาลยุติธรรม และเจ้าหน้าที่กรมการปกครองเข้าร่วมประมาณ 50 คน

นายเผ่าพันธ์ รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า การประเมินความเสี่ยงและการแต่งตั้งผู้กำกับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราว ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการใช้ ดุลยพินิจของผู้พิพากษาในการปล่อยชั่วคราวให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีผู้ทำหน้าที่รับรายงานตัว สอดส่องและให้คำปรึกษาแก่ผู้ถูกปล่อยชั่วคราวเพื่อป้องกันการหลบหนี การก่อภัยอันตรายหรือ ความเสียหายในระหว่างการปล่อยชั่วคราว อันเป็นการคุ้มครองสังคมและลดความเหลื่อมล้ำจากการเรียกหลักประกันได้เป็นอย่างดี ซึ่งตามบันทึกข้อตกลงฉบับเดิมที่ได้ลงนามไว้กับกรมการปกครอง เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2561 มีกำนันและผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ให้การสนับสนุนช่วยเหลือในงานดังกล่าว ทำให้การปล่อยชั่วคราวเป็นไปอย่างมีคุณภาพและได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ปัจจุบันศาลยุติธรรมได้นำมาตรการนี้มาใช้อย่างแพร่หลาย นอกจากนี้ยังมีประกาศใช้พ.ร.บ.มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. 2565 ซึ่งศาลอาจต้องใช้ข้อมูลเพื่อประกอบการกำหนดมาตรการเฝ้าระวัง จึงจำเป็นจะต้องขยายเครือข่ายบุคคลที่จะเข้ามาสนับสนุนให้เพียงพอต่อปริมาณคดี ดังนั้นการจัดทำบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือกันโดยให้บุคลากรของฝ่ายปกครอง อาทิ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน มาให้การช่วยเหลือสนับสนุนในการยืนยันข้อมูลเกี่ยวกับประวัติส่วนตัวหรือข้อมูลอื่นใดที่เป็นประโยชน์ในการประเมินความเสี่ยงสำหรับการปล่อยชั่วคราวหรือการใช้มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ รวมทั้งช่วยสอดส่องดูแลและรับรายงานตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย ที่ได้รับการปล่อยชั่วคราว ให้ความช่วยเหลือสนับสนุนแก่ศาลยุติธรรมที่ตั้งอยู่คนละท้องที่กับฝ่ายปกครอง และกรมการปกครองจะแจ้งข้อมูลของบุคลากรของฝ่ายปกครองที่เป็นปัจจุบันให้สำนักงานศาลยุติธรรมและศาลยุติธรรมในท้องที่ทราบทุกปี เพื่อให้การประสานงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการพัฒนามาตรฐานการปล่อยชั่วคราวเป็นหนึ่งในแผนปฏิบัติการเรื่องความ“เท่าเทียม” ตามนโยบายประธานศาลฎีกา


นายเผ่าพันธุ์ รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวอีกว่า กระบวนการที่ศาลจะให้ประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย ต้องดูความเสี่ยงเป็นหลัก ว่าเมื่อปล่อยไปแล้วจะหนี ไปทำอันตรายประการอื่น หรือข่มขู่พยานหรือไม่ ซึ่งถ้าผ่านขั้นตอนตรงนี้ไปแล้ว ถ้าหากศาลมองว่าบุคคลที่จะปล่อยตัวมีความเสี่ยงอยู่บ้าง ก็จะให้ประกันตัว โดยแต่งตั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้กำกับดูแลมาช่วยดูแล เพื่อไม่ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยไปยุ่งกับพยานที่อาจจะอยู่หมู่บ้านเดียวกัน ตำบลเดียวกัน ทำให้ไม่ต้องถูกขัง มีอิสระระหว่างการพิจารณาคดี และสังคมที่มีกรมการปกครองดูแลก็จะมีความปลอดภัยด้วย

นายเผ่าพันธุ์ กล่าวต่อว่า ความจริงคดีอุกฉกรรจ์ เช่นคดีฆ่าคน ผู้ต้องหาที่กระทำผิดอาจจะทำไปเพราะปัญหาในครอบครัว ดังนั้นตั้งข้อหาอุกฉกรรจ์จึงคนละประเด็นกับการให้ประกันตัว ที่เราจะดูหลายอย่าง เช่นตัวผู้ต้องหาอาจจะพลาดพลั้งไปฆ่าคน หรือกระทำผิดครั้งแรก ทำเพราะถูกบังคับ ทำเพราะสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ชาวบ้านหรือคนในสังคมจะเข้าใจว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาที่ศาลยังไม่ตัดสิน จะต้องถูกขังไว้ก่อน ถ้าไม่อยากถูกขังก็ให้ประกันตัว แต่ทางกฎหมายจะตรงกันข้าม คือ การจะขังผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องมีเหตุจะขัง ดังนั้นปัญหาที่พบคือ ความเหลื่อมล้ำเพราะกลายเป็นว่าคนมีเงินประกันตัวได้ คนไม่มีเงินก็อาจจะไม่ได้ประกัน เมื่อเรามีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือบุคลากรอื่นมาช่วยดูและศาลมั่นใจว่า ปล่อยไปก็สามารถจะดูแลได้ก็ไม่ต้องใช้เงิน ส่วนผู้เสียหายที่คัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหา เช่นกลัวว่าหากปล่อยไปจะไปคุกคาม ข่มขู่ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ศาลรับฟังแต่ไม่ได้หมายความว่าถ้าผู้เสียหายคัดค้านแล้วผู้ต้องหาจะไม่ได้ประกันเสมอไป สำหรับภาพรวมการให้ประกันตัวแล้วผู้ต้องหาหรือจำเลยหลบหนี ไปกระทำผิดประการอื่นอีกก็มีบ้าง เพราะการประกันตัวเป็นเรื่องของอนาคต จึงใช้คำว่า“ความเสี่ยง” ปัญหาคือเราจะทำอย่างไรที่จะทำให้“ความเสี่ยง”น้อยลง ที่ศาลไปติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ (กำไลอีเอ็ม) ใช้กำนันผู้ใหญ่บ้านมาช่วยดูแล ก็เพื่อลดความเสี่ยง ให้โอกาสหนีหรือไปกระทำผิดอีก ลดน้อยลงมากที่สุด


ด้านนายสมชัย กล่าวว่า ขอเรียนว่า กำนัน ผู้ใหญ่บ้านมีอำนาจตามประมวลกฎหมายอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นพนักงานฝ่ายปกครอง มีสิทธิในการสืบสวน จับกุมตามกฎหมาย เมื่อได้รับหน้าที่กำกับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราว ก็มีหน้าที่ต้องไปตรวจตราว่าบ้านที่ผู้ถูกปล่อยชั่วคราวอยู่อาศัยมีความปลอดภัยอย่างไร อยู่ในบ้าน หรือออกไปคุกคาม เกะกะระรานอยู่ที่อื่น ปกติกำนัน ผู้ใหญ่บ้านก็ปฏิบัติหน้าที่อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าอาจจะเป็นหน้าที่ในการปฏิบัติทั่วๆไป แต่เมื่อได้มอบอำนาจตามเอ็มโอยู ฉบับนี้ ก็จะต้องมุ่งเน้นไปที่ตัวผู้ที่ถูกปล่อยชั่วคราว อาจจะต้องไปเยี่ยมบ่อยๆ แวะไปคุยกับพ่อแม่เขาหน่อย ให้ดูแลลูกอย่าปล่อยให้ไปกระทำผิดซ้ำอีก สังคมไทยในชนบทกำนันผู้ใหญ่บ้านค่อนข้างมีบทบาทต่อชาวบ้านในชุมนุมอยู่แล้ว มีผ่านมามีประสบปัญหาว่ากำนันผู้ใหญ่บ้านมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่า จำเป็นจะต้องไปตรวจตราดูแลตลอดเวลาหรือไม่ และมีประเด็นว่าผู้ถูกปล่อยชั่วคราวกำลังจะหลบหนี หรือไปคุกคามคู่กรณี จะต้องทำอย่างไร ที่สำคัญคือไม่เข้าใจบทบาทหน้าที่ตัวเองในส่วนนี้ ถึงแม้ว่าจะได้รับการโทรไปประสานจากเจ้าหน้าที่ศาลเรียบร้อยแล้ว แต่อาจจะปฏิเสธ หรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย แต่ก็มีอยู่บ้างไม่มากนัก

เมื่อถามว่าจะช่วยดูแลความปลอดภัยให้กับกำนัน ผู้ใหญ่บ้านอย่างไรบ้าง

นายสมชัย กล่าวว่า ตนยังเชื่อมั่นในระบบของศาลว่า ศาลจะปล่อยใครไป ต้องพิจารณาแล้วว่าโอกาสที่เขาจะไปก่อเหตุ หรือหลบหนีน่าจะน้อย เพราะฉะนั้นผู้ที่ถูกปล่อยชั่วคราว แล้วกลับไปอยู่ในหมู่บ้าน ทางกำนันผู้ใหญ่บ้านคงเบาใจได้ในส่วนนี้ เพียงแต่ว่าบางครั้งสมมุติว่าผู้ติดยาเสพติด เมื่อกลับไปใช้ชีวิตอยู่ในสภาพสังคมเดิมอาจจะกลับไปใช้ยาเสพติดอีก ซึ่งกำนันผู้ใหญ่บ้านก็สามารถตักเตือนได้ เป็นการใช้อำนาจตามธรรมชาติที่คนในหมู่บ้านจะมีความน่าเชื่อถือกำนัน ผู้ใหญ่บ้านค่อนข้างมากรองอธิบดีกรมการปกครองกล่าวต่อว่า หากกำนัน ผู้ใหญ่บ้านพบเห็นผู้ถูกปล่อยตัวหลบหนี หรือกระทำผิดซ้ำ จะต้องรายงานกลับมาให้ศาลทราบเพื่อให้พิจารณาว่าจะยกเลิกการให้ประกันตัว หรือเอาตัวกลับไปก็เป็นดุลยพินิจของศาล เชื่อว่าหากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น ศาลก็คงไม่นิ่งนอนใจจะต้องเอาตัวผู้ถูกปล่อยชั่วคราวออกจากจุดตรงนั้นไปก่อน ส่วนกรณีที่ผู้ถูกปล่อยชั่วคราว เป็นญาติ หรือ รู้จักสนิทสนมกับกำนันผู้ใหญ่บ้าน เชื่อว่า ทางศาลก็คงหาบุคคลอื่นมาเป็นผู้กำกับดูแล เพราะในหมู่บ้านยังมี เช่น ผู้ช่วยกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนันก็สามารถดูแลแทนได้ รวมทั้งยังมีนายอำเภอคอยกำกับดูแลอยู่อีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น