xs
xsm
sm
md
lg

ยธ.สถาปนาครบรอบ 133 ปี ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความยุติธรรมนำประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - “ทวี สอดส่อง” เป็นประธานพิธี จัดงานสถาปนากระทรวงยุติธรรม ครบรอบ 133 ปี เสนอนโยบาย 5 ประการ อำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน

วันนี้ (25 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 08.40 น. ที่ห้องประชุม Auditorium 10-09 ชั้น 10 อาคารกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) มีการจัด “งานสถาปนากระทรวงยุติธรรม ครบรอบ 133 ปี ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความยุติธรรมนำประเทศ” โดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานพิธี พร้อมด้วย นางพงษ์สวาท นีละโยธิน ปลัดกระทรวงยุติธรรม และผู้บริหาร หัวหน่วยงานและข้าราชการในสังกัดกระทรวงยุติธรรม เข้าร่วมพิธี

พ.ต.อ.ทวี กล่าวเปิดงานว่า การจัดงานในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อข้าราชการและบุคลากรในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ร่วมกันแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทิตา ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 และ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศจัดตั้งกระทรวงยุติธรรม เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2434 (รศ.110) จนปัจจุบันเป็นเวลา 133 ปี แสดงให้เห็นถึงความสำคัญและความเป็นเสาหลักอันเป็นรากฐานของประเทศไทย

จากระยะแรก กระทรวงยุติธรรมเป็นส่วนในการพัฒนาสยามประเทศและทันสมัย ด้วยการปรับปรุง และรวบรวมกิจการสถานต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน ด้วยบทบาทหน้าที่ดูแลงานของศาลยุติธรรม เพื่อให้การบริหารจัดการศาลยุติธรรม มีโรงเรียนกฎหมายผลิตผู้พิพากษาและนักกฎหมายที่เป็นต้นแบบให้กับคณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ในเวลาต่อมา อีกทั้งยังรับผิดชอบการจัดทำประมวลกฎหมายสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายลักษณะอาญาที่ต่อมาเปลี่ยนแปลงเป็นประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่จะมีอายุครบ 100 ปี ในปี พ.ศ. 2568 เป็นต้น

กฎหมายสมัยใหม่เหล่านี้ ได้ช่วยรัฐบาลใช้เป็นเครื่องมือในการเจรจากับรัฐบาลต่างชาติ เพื่อแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต จนถือเป็นบทบาทในการรักษาเอกราชของชาติให้ดำรงอยู่อย่างมั่นคง

กระทั่งปี 2545 ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ให้สำนักงานศาลยุติธรรมแยกเป็นหน่วยงานธุรการของฝ่ายตุลาการ กระทรวงยุติธรรมจึงถูกปรับบทบาทใหม่ ทำหน้าที่การอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน ส่งเสริมสิทธิ เสรีภาพ และงานนโยบายอาญาของประเทศและการป้องกันปราบปรามยาเสพติดเป็นสำคัญ

พ.ต.อ.ทวี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในโอกาสที่ตนทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีอุดมการณ์ที่ยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การบริหารราชการแผ่นดินจะปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญกฎหมายและหลักยุติธรรมเพื่อประโยชน์ส่วนรวมสร้างเสริมให้ทุกภาคส่วนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างเป็นธรรมผาสุขและสามัคคีปรองดอง

“ผมเสนอนโยบายหลัก 5 ประการ ที่ได้มอบไปแล้วเมื่อครั้งละตำแหน่ง คือ 1. การอำนวยความยุติธรรมไปหาประชาชนไปสู่สังคมที่ความยุติธรรมสำหรับทุกคนคือความยุติธรรมถ้วนหน้า 2. การปรับปรุงแก้ไขหรือปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมให้เกิดความเป็นธรรมที่ประโยชน์สูงสุดกับประชาชนมากที่สุด 3. การพัฒนาบุคลากรของหน่วยงานให้มีคุณธรรมความรู้ความสามารถ ความเชี่ยวชาญและมีภาวะผู้นำที่เป็นคุณสมบัติสำคัญของความสำเร็จมาสู่องค์กรเป็นมืออาชีพภายใต้การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของสังคม ไปธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุด หรือศักดิ์สิทธิ์ที่สุดเพื่อส่งเสริมหลักนิติธรรม 4. การบังคับใช้กฎหมายตามเจตนารมณ์และไม่เลือกปฏิบัติ 5. การยึดคติพจน์กันไว้ดีกว่าแก้หรือการป้องกันอาชญากรรมดีกว่าการลงโทษอาชญากร“ รมว.ยุติธรรม กล่าว

พ.ต.อ.ทวี กล่าวถึงระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการเรื่องซักซ้อมขั้นตอนการปฏิบัติ ซึ่งได้มอบหมายให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์เป็นผู้ดำเนินการอย่างรอบคอบ ไม่ให้เกิดความผิดพลาด และต้องทำให้เกิดความมั่นใจในสังคม เนื่องจากมีปัจจัยเรื่องความรู้สึกของสังคมภายนอก และการปฏิบัติงานของบุคคลภายในเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งจะต้องดำเนินการภายใต้หลักการ คือ ไม่ทำให้ผู้ต้องขังหลบหนี และเมื่อผู้ต้องขังออกจากเรือนจำแล้ว ต้องไม่ก่อเหตุร้าย อย่างน้อยที่สุดต้องทำให้ประชาชนมีความมั่นใจ และเป็นการเตรียมพร้อมให้กลุ่มบุคคลเหล่านี้ ที่วันหนึ่งต้องออกจากเรือนจำได้กลับมาคุณภาพชีวิตที่ดี ยืนยันว่า กรมราชทัณฑ์ดำเนินการในรูปแบบคณะทำงานอย่างเป็นระบบ ไม่สามารถทำเพื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งได้

ส่วนจะมีผู้ต้องขังที่ต้องโทษในคดีใดที่จะได้รับการยกเว้นตามระเบียบฉบับนี้บ้างนั้น ยังไม่ได้พิจารณาในรายละเอียด แต่เบื้องต้นมีหลายคดีที่หากผู้ต้องขังได้ออกไปแล้ว อาจส่งผลต่อสังคม เช่น คดีเกี่ยวกับเพศ คดีอุกฉกรรจ์ แต่คดีๆ อื่นนั้น ต้องให้กรมราชทัณฑ์เป็นผู้แถลง เพราะเป็นเรื่องภายใน ยืนยันว่า กรมราชทัณฑ์มีการดำเนินการผ่านคณะกรรมการอย่างเป็นขั้นตอน ไม่สามารถดำเนินการเพื่อช่วยเหลือใครคนหนึ่ง และไม่มีสามารถดำเนินการนอกเหนือกฎหมายได้ เพราะกรมราชทัณฑ์คือการบริหารโทษตามกฎหมาย แต่การลงโทษเป็นเรื่องของศาล

ทั้งนี้ บรรยากาศในการจัดงานสถาปนากระทรวงยุติธรรม ครบรอบ 133 ปี เริ่มต้นด้วยพิธีการทางศาสนา มีการเปิดรับบริจาคทรัพย์เพื่อการสนับสนุนศูนย์บริการของ สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม กองทุนยุติธรรม และรับบริจาคทรัพย์เข้าพฤติกรรม ภายใต้ชื่อ “1 การให้ได้ 2 เท่า” เพื่อเด็กและเยาวชนของ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน นอกจากนี้ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รับมอบเข็มเครื่องหมายยุติธรรมธำรงชั้นที่ 1 อันเป็นเกียรติยศยิ่งด้วย




กำลังโหลดความคิดเห็น