xs
xsm
sm
md
lg

“พ.ต.อ.ทวี” เปิดงานครบรอบ 1 ปี กฎหมายต่อต้านทรมานและอุ้มหาย หนทางสู่ความยุติธรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - รมว.ยุติธรรม เป็นประธานกล่าวปาฐกถา ครบ 1 ปี “พ.ร.บ.อุ้มหาย” แสดงความจริงใจของภาครัฐให้การปกป้องคุ้มครองประชาชนคนไทย

วันนี้ (20 ก.พ.) ณ ห้องประชุม 10-09 (Auditorium) อาคารกระทรวงยุติธรรม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน เปิดงาน “1 ปี กับกฎหมายต่อต้านทรมานและอุ้มหาย หนทางสู่ความยุติธรรม” เนื่องในโอกาสครบรอบพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 หรือที่เรียกกันว่า “พ.ร.บ.อุ้มหายฯ“ ที่จัดโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสริภาพ โดยมี นางเอมอร เสียงใหญ่ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ พร้อม นายกลุธนิต มงคลสวัสดิ์ อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด , นายสมชัย เลิศประสิทธิพันธ์ รองอธิบดีกรมการปกครอง กรมการปกครอง , นายอังศุเกติ์ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ ผู้อำนวยการกองกิจการอำนวยความยุติธรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย คณะอนุกรรมการ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม วิทยากร ผู้บริหารกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 200 คน เข้าร่วม

นางเอมอร กล่าวว่า สืบเนื่องจาก กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กับทุกภาคส่วนในประเทศไทยได้ร่วมกันผลักดัน พ.ร.บ.อุ้มหายฯ จนมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในวันที่ 25 ต.ค.65 กระทั่งประกาศบังคับใช้อย่างทางการ เมื่อวันที่ 22 ก.พ.66 ซึ่งจะครบรอบ 1 ปีของการบังคับใช้กฎหมาย โดยภายในงานมีการตั้งบูธ เผยแพร่ ภารกิจ และสาธิตการปฏิบัติงานจากหน่วยงานของกระทรวงยุติธรรม ภายใต้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565

ด้าน พ.ต.อ.ทวี กล่าวเปิดงานโดยชี้ว่า วันที่ 22 ก.พ.66 เป็นจุดเริ่มต้นของ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ นับเป็นความโชคดีของประชาชนคนไทย ที่ภาครัฐให้มีการปกป้อง คุ้มครองประชาชนไม่ให้เจ้าหน้าที่กระทำการทรมานและอุ้มหายกับประชาชน จนการปฏิบัติงานตามกฎหมายฉบับนี้เดินทางมาครบ 1 ปีแล้ว แสดงถึงความจริงใจของภาครัฐอย่างแท้จริง

พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า ขอชื่นชมหน่วยงานต่างๆ ที่ปฏิบัติงานภายใต้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานคุ้มครองพยาน จากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ , กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) , สำนักงานอัยการ หรือ กรมการปกครอง ฯลฯ ที่ได้เข้ามาดูแลให้กระบวนการยุติธรรมเป็นที่ยอมรับของประชาชน แม้ช่วงแรกของบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่อาจมีความสับสนในแนวทางปฏิบัติ แต่จากความทุ่มเท ทำให้สังคมไทยสามารถผ่านเหตุการณ์ทรมานและการอุ้มหายที่เคยทำลายภาพลักษณ์ของประเทศ ในประเด็นสิทธิมนุษยชน ถือเป็นการยกระดับหลักนิติธรรมของประเทศไทยด้วย

“1 ปีที่ผ่านมา สถิติของการทรมานและการหาย ยอมรับว่ายังเกิดขึ้น แต่ไม่มากนักและเรารู้สึกได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ ผมหวังว่า การเข้าสู่ปีที่ 2 และปีต่อๆ ไป กฎหมายจะได้รับการพัฒนา มีการฝึกอบรมให้มีความก้าวหน้า โดยการดึงปัญหาการค้ามนุษย์ ที่มีความเชื่อมโยงด้วยการกระทำของอาชญากรมักใช้ความตาย การใช้ร่างกาย การทำลายมนุษย์ด้วยกันเพื่อหวังเอาผลประโยชน์ นำมาผนวกกับการป้องกัน ปราบปรามการทรมานและการอุ้มหายเข้าไว้ด้วยกันเพื่อต่อสู้กับปัญหาอาชญากรรม” รมว.ยุติธรรม ระบุ

สำหรับการขับเคลื่อนงานของคณะกรรมการฯ ที่ผ่านมา มีผลการดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้ 1. การจัดตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการฯ จำนวน 2 คณะ ได้แก่ 1.1) คณะอนุกรรมการพัฒนากฎหมายเพื่อป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย 1.2) คณะอนุกรรมการช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายจากการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย

2. การจัดทำระเบียบเพื่อปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ ได้แก่ 2.1) ระเบียบคณะกรรมการฯ ว่าด้วยการบันทึกภาพและเสียงในขณะจับและ ควบคุม การแจ้งการควบคุมตัว และการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว พ.ศ. 2566 ซึ่งประกาศใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2566 และ 2.2) ร่างระเบียบคณะกรรมการฯ ว่าด้วยการช่วยเหลือ เยียวยา และฟื้นฟูผู้เสียหาย พ.ศ. .... ปัจจุบันยกร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ ในอนาคตจะจัดทำร่างระเบียบคณะกรรมการฯ ว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติหน้าที่และค่าใช้จ่ายอื่นต่อไป

3. การรับเรื่อง ติดตามตรวจสอบ และดำเนินคดีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติฯ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการปกครอง กรมสอบสวนคดีพิเศษ และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้ร่วมมือกันรับเรื่องร้องเรียน แสวงหาข้อเท็จจริงกันอย่างจริงจัง จนกระทั่งปัจจุบัน อัยการสั่งฟ้องเป็นคดีแล้วจำนวน 1 คดี เป็นกรณีกระทำการที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

4. การติดตามการเสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัว ปัจจุบันได้รับแจ้งการเสียชีวิต ระหว่างควบคุมตัวจากหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ กรมราชทัณฑ์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และกระทรวงกลาโหม รวมทั้งสิ้น จำนวน 308 กรณี โดยส่วนใหญ่เป็นการเสียชีวิตทั่วไป

5. การเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการและสาระสำคัญของพระราชบัญญัติฯ และระเบียบที่เกี่ยวข้อง กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ในฐานะ ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการฯ ได้เข้าพบหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติฯ รวมทั้ง ได้เผยแพร่หลักการและสาระสำคัญของพระราชบัญญัติฯ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับทุกภาคส่วน โดยการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์หลากหลายรูปแบบเกี่ยวกับพระราชบัญญัติฯ รวมทั้ง จัดฝึกอบรมและเป็นวิทยากรแก่หน่วยงานต่างๆ อย่างต่อเนื่อง






กำลังโหลดความคิดเห็น