MGR Online - ดีเอสไอ ส่งคำร้องให้โอนคดีฟอกเงินเครือข่ายเว็บพนันออนไลน์ BNK Master ให้ ป.ป.ช. พิจารณา เหตุมีข้อโต้แย้งระหว่างผู้ร้องและพนักงานสอบสวน
วันนี้ (29 มี.ค.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เผยแพร่เอกสาร โดยระบุว่า "ด้วยปรากฏว่า เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 ได้มีผู้ร้องมายื่นเรื่องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอให้พิจารณาโอนคดีอาญาของสถานีตำรวจนครบาลเตาปูน คดีอาญาที่ 391/2567 ฐานฟอกเงิน , สมคมกันฟอกเงิน กรณีเครือข่ายเว็บพนันออนไลน์ BNK Master มาดำเนินการสืบสวนและสอบสวนตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 เนื่องจากเห็นว่ามีรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิด เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการคดีพิเศษ (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2565 เรื่อง กำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษ ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 ข้อ 4 ประกอบบัญชีท้ายประกาศ ฯ ข้อ 7 ซึ่งกำหนดว่าคดีความผิดที่มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 60 และมาตรา 61 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่มีความผิดมูลฐานเป็นคดีพิเศษ ซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ หรือคดีความผิดมูลฐานที่เป็นคดีอาญาอื่นที่มีมูลน่าเชื่อว่ามีทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดที่มีมูลค่าตั้งแต่สามร้อยล้านบาทขึ้นไป โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับเรื่องไว้สืบสวนเป็นสำนวนสืบสวนที่ 37/2567 เพื่อพิจารณาว่าเข้าข่ายที่จะมีคำสั่งไว้ทำการสอบสวนเป็นคดีพิเศษได้หรือไม่ โดยสำนวนอยู่ในความรับผิดชอบของกองคดีฟอกเงินทางอาญา
จากการสืบสวนมีการแสวงหาข้อเท็จจริงจากผู้ร้อง รวมทั้งการมีหนังสือสอบถามไปยังพนักงานสอบสวนคดีอาญาที่ 391/2567 ของสถานีตำรวจนครบาลเตาปูน ปรากฏข้อโต้แย้งเกี่ยวกับความเชื่อมโยงคดีอาญาดังกล่าวกับคดีอาญากรณีเว็บพนันออนไลน์มินนี่ ที่พนักงานสอบสวนสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก่อนหน้านี้ และเนื่องจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 28 (2) ได้กำหนดหน้าที่และอำนาจในการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม และมาตรา 30 วรรคสอง กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจไต่สวนในคดีที่มีการกระทำอันเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท และคดีที่มีความเกี่ยวข้องกันและความผิดเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่จะต้องดำเนินการในคราวเดียวกันด้วย
กรณีดังกล่าวกรมสอบสวนคดีพิเศษได้เคยมีหนังสือหารือไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. เกี่ยวกับแนวปฏิบัติตามมาตรา 30 วรรคสอง แล้ว โดยสำนักงาน ป.ป.ช. ได้มีหนังสือที่ ปช 0026/0089 ลงวันที่ 22 ตุลาคม 2562 แจ้งว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่า คดีลักษณะใดเป็นคดีที่มีการกระทำความผิดเกี่ยวข้องกัน และความผิดเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่จะต้องดำเนินการในคราวเดียวกัน นั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะพิจารณาวินิจฉัยตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเป็นรายกรณีไป
ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นประเด็นสำคัญเกี่ยวกับอำนาจการสืบสวนและสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ดังนั้น เมื่อกรมสอบสวนคดีพิเศษไม่มีข้อเท็จจริงในคดีอาญาหลักที่มีการกล่าวอ้างที่จะเป็นข้อมูลประกอบการวินิจฉัยและเมื่อพิจารณาประกอบหนังสือสำนักงาน ป.ป.ช. ข้างต้น คณะพนักงานสืบสวน จึงมีมติเสนออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 30 วรรคสอง
ทั้งนี้ หากภายหลังคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว เห็นว่ามิใช่กรณีที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรมสอบสวนคดีพิเศษจะพิจารณาดำเนินการตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ต่อไป"