ปค.มหาดไทย จ่อใช้ กฎหมายข้าราชการพลเรือน ปี 2551 ฟันวินัย/กล่าวโทษย้อนหลัง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยฯ แพทย์ประจำตำบล ที่เกษียณอายุราชการ หรือพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว หลัง "ก.พ.-ป.ช.ช." ให้ความเห็น กฎหมายข้าราชการพลเรือน สามารถนำมาใช้เอาผิดฝ่ายปกครองท้องถิ่นได้
วันนี้ (28 มี.ค.2567) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เร็วๆนี้ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เตรียมนำพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ในส่วน มาตรา 139 ที่เกี่ยวกับวินัยและโทษผิดวินัย
มาใช้บังคับกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ทั้งฝ่ายปกครอง หรือ ฝ่ายรักษาความสงบ ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2557 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยอนุโลม
"สามารถเอาผิดย้อนหลัง หากพบว่า กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ ที่เกษียณอายุราชการ หรือ พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว มีความเกี่ยวข้อง หรือถูกชี้มูลความผิด"
ล่าสุด คณะรัฐมนตรี เมื่อ 26 มี.ค.2567 ได้เห็นชอบและให้ กรมการปกครอง นำความเห็นของ สำนักงาน ก.พ. และ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ช.ช.)
ไปประกอบการพิจารณาบังคับใช้ ซึ่งอีกหลายหน่วยงานมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน
โดย สำนักงาน ป.ป.ช. เห็นว่า ตาม พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2557 กรณีมีมติชี้มูลความผิด ข้าราชการพลเรือนสามัญ ผู้ซึ่งออกจากราชการไปแล้ว
ให้การดำเนินการทางวินัยและสั่งลงโทษแก่ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้นั้นเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
ซึ่ง ป.ป.ช. ได้อาศัยอำนาจ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ฯ พ.ศ. 2561 มาตรา 8 วรรคสอง พิจารณาตีความและวินิจฉัยบทบัญญัติมาตรา 98 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ฯ ดังกล่าว
และมีมติ วางเป็นหลักการว่า กรณี ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด เมื่อพ้นกำหนดเวลาตามมาตรา 48 ต่อผู้ถูกกล่าวหา เฉพาะกรณีที่พ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐแล้วเท่านั้น
โดยไม่ว่าจะพ้นก่อน หรือหลังที่ ป.ป.ช. ได้มีมติวินิจฉัย มูลความผิดหรือไม่ก็ตาม ผู้บังคับบัญชาหรือ ผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหา ไม่จำต้องพิจารณาโทษทางวินัย ตามฐานความผิดที่ป.ป.ช. ได้มีมติ
แต่ทั้งนี้ ผู้บังคับบัญชา หรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน ยังคงสามารถดำเนินการทางวินัยต่อผู้ถูกกล่าวหาได้ตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าว
ส่วนในกรณีที่ ป.ป.ช.มีมติวินิจฉัยมูลความผิดผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งยังเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐอยู่ในวันที่ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด แม้ ป.ป.ช. จะได้มีมติวินิจฉัยมูลความผิดเมื่อพ้นกำหนดเวลาตามมาตรา 48 ก็ตาม
ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหา ก็ย่อมต้องพิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิด ที่ ป.ป.ช. ได้มีมติ
โดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอีก และให้ถือว่าสำนวนการไต่สวนของ ป.ป.ช. เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนวินัยตามกฎหมาย ระเบียบ
หรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคล ของผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าว
ส่วน สำนักงาน ก.พ. เห็นว่า กฎหมายฉบับดังกล่าว ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 61 ทวิ วรรคสอง ให้ดำเนินการทางวินัยและโทษผิดวินัย ใช้กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนโดยอนุโลม และในทางปฏิบัติ
ที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทย ได้มีหนังสือ ที่ มท 0310.2/ว 2410 ลงวันที่ 4 ส.ค.2541 เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัย การอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ ของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน
ซึ่งได้กำหนดให้การดำเนินการทางวินัยและการสั่งโทษทางวินัยแก่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ เป็นไปตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ประกอบกฎ ก.พ. ที่ออกตามความใน พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาโดยตลอด
เมื่อปัจจุบัน พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ไม่มีผลใช้บังคับต่อไปแล้ว หากจะนำกฎหมายว่าด้วยระเบียบช้าราชการพลเรือน มาใช้บังคับกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ โดยอนุโลม
ก็สมควรใช้ พ.ร.บ.ระเบียบช้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ตามที่ กระทรวงมหาดไทย เสนอดังกล่าว.