xs
xsm
sm
md
lg

ศาลอาญา มีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขัง “ตะวัน-ณัฐนนท์-นภสินธ์” เป็นเวลา 12 วัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



ศาลอาญา มีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขัง “ตะวัน-ณัฐนนท์-นภสินธ์” เป็นเวลา 12 วัน ทนายความลุ้นยื่นประกันตัว

ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เมื่อเวลา 15.00 น. วันนี้ (14 ก.พ.) ความคืบหน้ากรณีศาลนัดฟังคำสั่ง คัดค้านฝากขัง น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวัน ม็อบกลุ่มทะลุวัง และ นายณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร หรือ แฟรงค์ ผู้ต้องหาความผิดมาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากกรณีพยายามขับรถแซงขบวนเสด็จ และ นายนภสินธ์ ตรีรยาภิวัฒน์ หรือ สายน้ำ ผู้ต้องหาคดี สนับสนุนพ่นสีกำแพงวัดพระแก้ว หรือพระบรมมหาราชวัง ข้อหาร่วมกันกระทําให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต ให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ร่วมกันนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา ร่วมกันกระทําด้วยประการใดอันเป็นการก่อความเดือดร้อนรำคาญในที่สาธารณะ

ล่าสุด ศาลอาญา มีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขัง น.ส.ทานตะวัน นายณัฐนนท์ และ นายนภสินธ์ ผู้ต้องหาเป็นเวลา 12 วัน โดยขณะนี้ทนายความอยู่ระหว่างยื่นประกันผู้ต้องหาทั้ง 3 ราย

สำหรับคำร้องฝากขังคดีขัดขวางขบวนเสด็จ ระบุว่า พนักงานสอบสวน สน.ดินแดน มายื่นคำร้อง ฝากขัง น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ อายุ 22 ปี หรือ ตะวัน นักเคลื่อนไหวอิสระ และ นายณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร อายุ 23 ปี หรือ แฟรงค์ ผู้ต้องหาที่ 1-2 แจ้งข้อหาว่า “ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญหรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริตเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักรหรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน, ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญาและร่วมกันกระทำด้วยประการใดอันเป็นการก่อความเดือดร้อนรำคาญในที่สาธารณะ, ทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายให้ไว้ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร มาขออำนาจศาลฝากขัง

พฤติการณ์สรุปว่า เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2567 เวลา 18.20 น. นายณัฐนนท์ ผู้ต้องหาที่ 2 ได้เป็นผู้ขับขี่รถยนต์ ยี่ห้อเอ็มจี รุ่น นิวเอ็มจี 3 สีขาว หมายเลขทะเบียน 8 กจ 1711 กรุงเทพมหานคร โดยมี น.ส.ทานตะวัน ผู้ต้องหาที่ 1 เป็นผู้โดยสารนั่งอยู่บริเวณด้านหน้าข้างคนขับรถยนต์คันดังกล่าว เมื่อมาถึงบริเวณทางร่วมเข้าต่างระดับมักกะสัน แขวงสามเสนใน ซึ่งในบริเวณดังกล่าวนั้น ได้มี พ.ต.ท.ชญานิน พันธ์ภักดี สว.งานศูนย์ควบคุมจราจรทางด่วน 2 กก.2 บก.จร. เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชีราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งจะเสด็จผ่านในบริเวณดังกล่าวนั้น ตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ซึ่งได้มีการสั่งให้หยุดรถที่มาจากทางร่วมเป็นการชั่วคราว เพื่อเป็นการถวายความปลอดภัยต่อขบวนเสด็จที่กำลังจะผ่านบริเวณดังกล่าว ซึ่งในเวลาต่อมาปรากฏว่า นายณัฐนนท์ ผู้ต้องหาที่ 2 ได้พยายามขับรถมาที่ด้านหน้าแต่ไม่สามารถขับผ่านไปได้ เนื่องจาก พ.ต.ท.ชญานิน และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติอยู่ในบริเวณนั้นได้ใช้สัญญาณมือให้หยุดจราจร ผู้ต้องหาที่ 2 จึงได้บีบแตรส่งเสียงดังต่อเนื่องยาวประมาณ 1 นาที ในลักษณะถึงแสดงถึงความไม่พอใจโดยที่ไม่มีสาเหตุใดให้ควรใช้แตร ในขณะเดียวกัน น.ส.ทานตะวัน ผู้ต้องหาที่ 1 ที่เป็นผู้โดยสารได้เปิดกระจกออกมาและกล่าววาจาส่งเสียงตะโกนโวยวายในลักษณะว่า เดือดร้อนประชาชน ภาษีประชาชน เมื่อขบวนเสด็จผ่านพ้นไปแล้ว จึงได้มีการเปิดจราจรให้รถยนต์วิ่งผ่านไปได้ตามปกติ แต่ปรากฏว่ารถคันดังกล่าวของกลุ่มผู้ต้องหากลับมีพฤติกรรมขับรถออกไปด้วยความเร็ว พ.ต.ท.ชญานิน เห็นว่ารถคันดังกล่าวมีลักษณะการขับขี่และพฤติกรรมที่อาจเป็นอันตรายต่อขบวนเสด็จ จึงได้แจ้งวิทยุให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติภารกิจถวายความปลอดภัยทราบถึงพฤติกรรมของรถคันดังกล่าว จากนั้นรถของกลุ่มผู้ต้องหา ได้เร่งความเร็วจนประชิดรถปิดท้ายขบวนเสด็จที่บริเวณทางลงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ทำหน้าที่รถปิดท้ายขบวน จึงได้สกัดกั้นรถของกลุ่มผู้ต้องหาไม่ให้แทรกเข้าไปในขบวนเสด็จได้ เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถหยุดรถคันดังกล่าวแล้ว จึงได้เข้าไปพูดคุย แต่ปรากฏว่า ผู้ต้องหาที่ 1 ได้ถือโทรศัพท์มือถือลักษณะขึ้นมาถ่ายทอดออกอากาศสดผ่านทางช่องเฟซบุ๊กส่วนตัวของผู้ต้องหาที่หนึ่งที่ใช้ชื่อว่า “Tawan Tantawan” อีกทั้งยังได้ส่งเสียงดังโวยวายและกล่าวถ้อยคำในลักษณะต่อว่าการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยในขณะเดียวกันนั้น นายณัฐนนท์ ผู้ต้องหาที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ขับขี่รถยนต์ก็ยังได้บีบแตรส่งเสียงดังต่อเนื่องลากยาวในลักษณะที่แสดงถึงความไม่พอใจ ส่งเสียงดังรบกวน ก่อความเดือดร้อนรำคาญให้กับประชาชนผู้ใช้รถ-ใช้ถนน สัญจรผ่านไปมาที่บริเวณนั้น อีกทั้ง นายณัฐนนท์ ผู้ต้องหาที่ 2 ยังได้กล่าววาจาในลักษณะดูหมิ่น ดูถูก เหยียดหยาม เจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่ง อันเป็นการประทุษร้ายต่อเกียรติศักดิ์ศรีข้าราชการตำรวจซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบโดยชอบด้วยกฎหมายในขณะนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้แจ้งความผู้ต้องหาที่ 1 ว่า “ร่วมกันกระทำด้วยประการใดอันเป็นการก่อความเดือดร้อนรำคาญในที่สาธารณะ” และกล่าวหากรณีของนายณัฐนนท์ ผู้ต้องหาที่ 2 ว่ากระทำความผิดฐาน “ดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่. ร่วมกันกระทำด้วยประการใด อันเป็นการก่อความเดือดร้อนรำคาญในที่สาธารณะและใช้เสียงสัญญาณ เสียงยาวหรือช้ำโดยไม่มีเหตุอันควร” ให้ได้รับโทษตามกฎหมายจนกว่าคดีจะถึงที่สุด

ต่อมา พ.ต.ท.สรัล.สุรเดชานนท์ ซึ่งดำรงตำแหน่งรอง ผกก.สส.สน.ดินแดง ได้สืบสวนหาพยานหลักฐานจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นปรากฏ เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2567 เวลาประมาณ 18.26 น. น.ส.ทานตะวัน ผู้ต้องหาที่ 1 ได้ไลฟ์สดเหตุการณ์ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นผ่านทางเฟซบุ๊กไลฟ์ (Facebook Live) บัญชี “Tawan Tantawan” ซึ่งเป็นบัญชีเฟซบุ๊กสาธารณะที่บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้, อีกทั้งยังมีผู้ติดตามมากกว่า 37,000 คน ซึ่งได้มีประชาชนทั่วไปเข้ามาแสดงความคิดเห็นถกเถียงกันในสังคมเป็นวงกว้าง ทั้งในทางที่ “เห็นชอบด้วย” และ “ไม่เห็นชอบด้วย” สร้างประเด็นให้เกิดความแตกแยกในหมู่ประชาชน โดยไลฟ์สดดังกล่าวมีผู้เข้าชม แชร์ แสดงความรู้สึกและความคิดเห็นจำนวนมาก

ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2567 พ.ต.ท.สรัล กับพวก ฝ่ายสืบสวนยังได้ตรวจสอบ พบว่า เฟซบุ๊กส่วนตัวของ น.ส.ทานตะวัน มีการโพสต์ภาพคลิปเหตุการณ์จากกล้องหน้ารถคันที่ใช้ขับขี่ในวันเกิดเหตุ ซึ่งเป็นการแสดงให้ปรากฏถึงพฤติกรรมของ น.ส.ทานตะวัน กับพวก ที่ขับรถยนต์แทรกรถยนต์ของประชาชนคันอื่นที่จอดชะลอรถอยู่ในบริเวณนั้น เพื่อพยายามจะขับแซงหน้าไปให้ใกล้กับขบวนเสด็จ ทั้งยังได้มีการบีบแตรส่งเสียงดังต่อเนื่อง อันเป็นการแสดงการต่อต้านท้าทายและดูหมิ่นพระเกียรติยศต่อขบวนเสด็จของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพฯ ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนชาวไทยทุกคน

ต่อมาวันที่ 13 ก.พ. 2567 พนักงานสอบสวนจึงได้รวบรวมพยานหลักฐานขออำนาจศาลอาญาอนุมัติหมายจับผู้ต้องหาที่ 1 และผู้ต้องหาที่ 2 และต่อมาเวลาประมาณ 16.45 น. เจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกลุ่มจึงได้แสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานตำรวจทำการจับกุมผู้ต้องหาทั้งสองโดยแสดงหมายจับผู้ต้องหาทั้งสองบริเวณทางเดินเท้าหน้าศาลอาญา และควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้งสองส่งพนักงานสอบสวนดินแดงดำเนินคดีตามกฎหมายต่อมาเวลาประมาณ 18.10 น. พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมแก่ผู้ต้องหาทั้งสองซึ่งไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือตามคำสั่งของพนักงานสอบสวน

เหตุเกิดบริเวณ ทางลงทางด่วนพหลโยธิน 1 (ทางลงด่วนอนุสาวรีย์) แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพ

การกระทำของผู้ต้องหาที่ 1 เป็นความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116(2) (3), 397 วรรคแรก, 397 วรรคสอง, 368 วรรคแรก, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14(3) แก้ไขเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 มาตรา 8 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83

การกระทำของผู้ต้องหาที่ 2 เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116(2) (3), 397 วรรคแรก, 397 วรรคสอง, 368 วรรคแรก, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14(3) แก้ไขเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 มาตรา 8 ประกอบประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 83 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 14, 148

ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนผู้ต้องหาที่ 1 ไม่ประสงค์ให้การในชั้นสอบสวน โดยประสงค์จะให้การในชั้นศาลเท่านั้น ส่วนผู้ต้องหาที่ 2 ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และไม่ประสงค์ให้การในชั้นสอบสวน

เนื่องจากพนักงานสอบสวนยังสอบสวนไม่เสร็จสิ้นต้องสอบสวนพยานอีก 7 ปาก เป็นพยานชุดจับกุมและประจักษ์พยาน, รอผลการตรวจลายพิมพ์นิ้วมือ และประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหาที่ 1-2 ด้วยความจำเป็นดังกล่าวจึงขอหมายขังผู้ต้องหาที่ 1-2 ระหว่างการสอบสวนกำหนด 12 วันตั้งแต่วันที่ 14-25 ก.พ. 2567

ท้ายคำร้องพนักงานสอบสวนขอคัดค้านหากผู้ต้องหาทั้งสอง ขอปล่อยชั่วคราว เนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูง ประกอบกับพฤติการณ์ในการกระทำความผิดของผู้ต้องหาทั้งสองเป็นการกระทำโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง หากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยชั่วคราวไป เกรงว่าอาจจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นอีก แต่ถ้าหากศาลเห็นสมควรให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งสอง พนักงานสอบสวนขอให้ศาลกำหนดมาตรการหรือเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งสองอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันมิให้กระทำผิดในขณะนี้อีก ทั้งนี้จากข้อมูลและประวัติการกระทำความผิดของผู้ต้องหากับพวกพบว่าเมื่อผู้ต้องหาได้รับการปล่อยชั่วคราวแล้ว มีการกลับมากระทำความผิดลักษณะเดียวกันนี้ซ้ำอีก หากไม่มีการควบคุมกำหนดมาตรการบังคับหรือเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราวที่เคร่งครัด เป็นการยากในการควบคุมดูแลและรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยรวมส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของภาพลักษณ์ภายในประเทศ

ศาลพิจารณาแล้ว อนุญาตฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 2 ได้

ส่วนคำร้องฝากขัง นายนภสินธ์ หรือ สายน้ำ เลขที่ ฝ. 287/2567 ระบุพฤติการณ์ว่า สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566 เวลาประมาณ 17.40 น. เวลาเกิดเหตุ ส.ต.ต.วราวุฒิ เทศวงษ์ และ ส.ต.ต.พชรพล แสงภารา พยาน ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้มาปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยเขตพระราชฐาน (พระบรมมหาราชวัง) โดยใช้รถจักรยานยนต์ของทางราชการเป็นยานพาหนะออกตรวจรอบพระบรมมหาราชวังทั้งหมด 5 จุด และได้ออกตรวจเป็นรอบเวลา ต่อมาตามวันเวลาเกิดเหตุ พยานทั้งสองได้ออกตรวจรอบเขตพระราชฐานพระบรมมหาราชวัง ก่อนถึงจุดตรวจที่ 4 พยานทั้งสองได้หยุดรถถ่ายภาพบริเวณจุดตรวจเพื่อส่งภาพรายงานทางกลุ่มแอปพลิเคชั่นไลน์ให้ผู้บังคับบัญชาทราบ เมื่อตรวจครบทั้ง 5 จุด ขณะพยานทั้งสองกำลังขับขี่รถจักรยานยนต์ออกตรวจต่อไป

ส.ต.ต.พชรพล พยานได้พบเห็นเหตุการณ์ นายศุทธวีร์ สร้อยคำ ได้ใช้กระป่องสีสเปรย์พ่นสีกำแพงพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นการกระทำความผิดซึ่งหน้าโดยสามารถจับกุมตัว นายศุทธวีร์ พร้อมยีดสีสเปรย์ของกลางได้ในขณะกระทำความผิดโดยมีผู้กล่าวหาพร้อมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจ สน.พระราชวัง ได้ออกตรวจตามวงรอบผ่านมาพบเหตุจึงได้เข้าร่วมจับกุม และได้แจ้งข้อกล่าวหาตามกฎหมาย จากนั้นได้นำตัวนายศุทธวีร์ พร้อมของกลาง นำส่งพนักงานสอบสวน สน.พระราชวัง เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย ต่อมาพนักงานสอบสวนจึงได้รวบรวมพยานหลักฐาน

จากการตรวจสอบข้อมูลทางสี่อโซเชียลและภาพจากกล้องวงจรปิดของ นายนภสินธุ์ ตรีรยาภิวัฒน์ หรือ สายน้ำ ผู้ต้องหา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม เวลา 15.45 น. เดินทางโดยรถยนต์ยี่ห้อ นิสสัน สีขาว มุ่งหน้าสนามหลวง เวลา 16.08 น. นายนภสินธ์ และ นายสุธี ไกรจรูญ เดินลงมาจากรถบริเวณหน้าพระธาตุฝั่งสนามหลวง ตรงข้าม ม.ธรรมศาสตร์ เดินเท้า
เข้าไปในบริเวณสนามหลวง และนั่งพักอยู่ในบริเวณสนามหลวง และเดินอยู่บริเวณตรงข้ามแยกป้อมเผด็จ มุ่งหน้าหน้าศาลหลักเมือง

ต่อมาเวลา 17.38 น. นายนภสินธ์ วิ่งมาจากศาลหลักเมือง มายืนรอที่บริเวณสนามหลวง ตรงข้ามป้อมเผด็จฯ เพื่อมาบันทึกภาพ ขณะ นายศุทธวีร์ ก่อเหตุพ่นสี กำแพงพระบรมมหาราชวัง (ลักษณะเป็นการมารอเวลานัดหมาย) ซึ่งบริเวณถนนหน้าพระลานเป็นถนนที่ไม่มีรถยนต์วิ่งผ่าน โดยปกติคนทั่วไปก็จะเดินผ่านได้โดยที่ไม่ต้องวิ่งลักษณะการวิ่งมาตั้งกล้องมือถือถ่ายภาพ แสดงให้เห็นว่า

นายนภสินธ์ ผู้ต้องหา รู้มาก่อนแล้วว่า นายศุทธวีร์ จะมาก่อเหตุ เวลา 17.42 น. นายนภสินธ์ และ น.ส.ธนลภย์ ผลัญชัย ได้วิ่งมาบริเวณที่เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคมตัวผู้ต้องหา โดยพยายามขัดขวางการจับกุมของเจ้าหน้าที่ ต่อมาหลักจากนั้น นายนภสินธ์ ซึ่งใช้เฟซบุ๊กชื่อ Noppasin Treelayapewat ได้มีการแชร์ไลฟ์สดเฟซบุ๊กของ Tawan Tantawan และเวลา 18.01 น. นายนภสินธ์ และ น.ส.ธนลภย์ ได้ไปปรากฏตัวที่ สน.พระราชวัง เวลา 18.07 น. นายนภสินธุ์ ได้มีการแชร์โพสต์ ซึ่งไลฟ์สด เฟซบุ๊กของ Tawan Tantawan อีก เวลา 19.14 น.นายนภสินธ์ ได้มีการแชร์โพสต์เฟซบุ๊กของ ไข่แมวชีส เป็นภาพ
เจ้าหน้าที่กำลังจับกุมและความคุมตัวนายศุทธวีร์ โดยมีการระบุข้อความว่า “บังเอิญ” (นามสมมติ) ศิลปินอิสระ จากขอนแก่น ได้ทำการพ่นกำแพงวัดพระแก้ว ก่อนที่ตำรวจจะเข้าจับกุมขณะนี้ถูกคุมตัวอยู่ที่ สน.พระราชวัง และถูกส่งตัวต่อไปที่ บก.น.6 ส่วนน้องหยก ถูกคุมตัวอยู่ที่ สน.สำราญราษฎร์ ต่อมา นายนภสินธ์ ได้มีการแชร์โพสต์ซึ่งไลฟ์สดเฟชบุ๊กของ Tawan Tantawan โดยมีข้อความดังนี้ “ตอนนี้คนพ่นกำแพงวังวัดพระแก้วถูกนำตัวไปที่ บก.น.6 แต่ตำรวจไม่ยอมให้ทนายเข้าไปและยังมีเด็กผู้หญิงอายุ 15 ปี โดนตำรวจลากคอและจับไปด้วย เนื่องจากตำรวจอ้างว่าน้องถ่ายคลิปตอนพ่น ต่อมาเวลา 20.52 น. นายนภสินธ์ ได้มีการโพสต์วิดีโอผ่านเฟซบุ๊ก ความยาววิดีโอประมาณ 30 วินาที โดยระบุข้อความดังนี้ “เหตุการณ์หน้า สน.พระราชวัง ตร.ลากคอน้องหยกเข้าห้องสอบสวน และเมื่อเวลา 22.44 น. นายนกสินธ์ ได้ทำการพ่นสี บริเวณตู้ไฟฟ้าตรงข้าม บก.น.เวลา 22.53 น. นายนภสินธ์ และ น.ส.ทานตะวัน พ่นสีสเปรย์ตรงเสาป้ายจราจร หน้าห้างดิ โอลด์สยาม ตรงข้าม บก.น. ซึ่งพนักงานสอบสวนได้รับคำร้องทุกข์ไว้อีกคดีแล้ว พนักงานสอบสวนจึงได้ขออำนาจศาลอาญาอนุมัติหมายจับ ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ 1610/2566 ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2566 โดยกล่าวหาว่ากระทำคามผิดฐาน “เป็นผู้สนับสนุน ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งโบราณสถาน ขีด เขียน พ่นสี หรือทำให้ปรากฎด้ายประการใด! ซึ่งข้อความ ภาพ หรือรูปรอยใดๆที่กำแพงติดถนน หรือในที่สาธารณะ” ต่อมาจึงจับกุมตัวผู้ต้องหาได้ที่หน้าศาลอาญา
กำลังโหลดความคิดเห็น