xs
xsm
sm
md
lg

“ดีเอสไอ” แจงพบหลักฐานคดี “ลุงเปี๊ยก” เข้าข่ายเป็นคดีพิเศษ ยังไม่ระบุตำรวจเอี่ยวกี่ราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - “โฆษกดีเอสไอ” เผย กรณี “ลุงเปี๊ยก” พบพยานหลักฐานเข้าข่ายคดีพิเศษ พ.ร.บ.อุ้มหาย ร่วม 4 หน่วยงานเป็นคณะสอบสวนข้อเท็จจริง ส่วนตำรวจเกี่ยวข้องกี่รายอยู่ระหว่างพิจารณา



วันนี้ (25 ม.ค.) ที่นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง แขวงลำปลาทิว เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ และในฐานะโฆษกดีเอสไอ เปิดเผยกรณีรับสืบสวนกรณี “ลุงเปี๊ยก” เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2566 (พ.ร.บ.อุ้มหาย) ว่า พ.ร.บ.ดังกล่าว ตามมาตรา 31 ระบุไว้ว่า หน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวนมีอยู่ 4 หน่วยงาน คือ พนักงานสอบสวน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ฝ่ายปกครอง กระทรวงมหาดไทย พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และพนักงานอัยการ ทั้งนี้ หากรับเป็นคดีพิเศษ ตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ดีเอสไอจะต้องแจ้งการรับคดีพิเศษนี้ไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อให้พนักงานอัยการเข้ามาร่วมในการสอบสวน รวมทั้งจะเชิญกรมการปกครองและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นคณะพนักงานสอบสวนร่วมกัน 4 ฝ่าย

พ.ต.ต.วรณัน กล่าวอีกว่า ดีเอสไอมีพยานหลักฐานพอสมควรที่เข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อุ้มหาย และมีการสอบปากคำเบื้องต้น “ลุงเปี๊ยก” แล้ว แต่ยังไม่ระบุว่าเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้องกระทำความผิดกี่รายเป็นใครบ้างเพราะต้องดูรายละเอียดให้ครบถ้วนก่อน โดยตามกฎหมายต้องส่งสำนวนแจ้งไปยัง ป.ป.ช. เพื่อรับทราบและทำการสอบสวนต่อไป

“สำหรับการดำเนินคดี หรืออัตราโทษ หากมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.อุ้มหายฯ มีทั้งโทษทางปกครองและอาญา เบื้องต้นมีโทษจำคุกที่ 5-15 ปี และอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลของทางคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของตำรวจด้วย ซึ่งจะเร่งรัดโดยเร็วที่สุดเพราะอยู่ในความสนใจของสังคม”
กำลังโหลดความคิดเห็น