xs
xsm
sm
md
lg

“ดีเอสไอ” รับสอบคดี “ลุงเปี๊ยก“ อาจเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.อุ้มหาย เป็นคดีพิเศษ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - “รรท.อธิบดีดีเอสไอ” ลงนามคำสั่งรับเป็นคดีพิเศษ “ลุงเปี๊ยก” ถูกเจ้าหน้าที่รัฐทรมาน อาจเข้าข่ายความผิด ตามมาตรา 31 พ.ร.บ.อุ้มหาย

วันนี้ (24 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ลงนามคำสั่งที่ ยธ. 0853/260 ลงวันที่ 24 มกราคม 2567 เรื่อง แจ้งเรื่องการสอบสวน กรณีนายปัญญา คงแสนคำ หรือลุงเปี๊ยก

ด้วยกรมสอบสวนคดีพิเศษ อยู่ระหว่างการสืบสวน กรณีนายปัญญา คงแสนคำ หรือลุงเปี๊ยก ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีอาญาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งอาจเข้าข่ายการกระทำความผิดตาม พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2566 (เลขสืบสวนที่ 11/2567)

ในการนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ จะดำเนินการรับกรณีดังกล่าวไว้เป็นคดีพิเศษ เพื่อให้การดำเนินการสอบสวนเป็นไปตามบทบัญญัติตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565

อนึ่ง ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว สภานิติบัญญัติ และ รัฐบาล ได้มอบหมายให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ มีภารกิจเพิ่มเติมในการสืบสวนสอบสวนการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.อุ้มหาย ซึ่งผู้บริหารระดับสูง แจ้งว่าอยู่ในระหว่างการเสนอโครงสร้างและการขออัตรากำลังเพื่อให้รัฐบาลจัดสรรให้ แต่ในระหว่างที่ยังไม่มีโครงสร้างจะมอบหมายให้กองกิจการอำนวยความยุติธรรม รับผิดชอบดำเนินการไปก่อน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 หมวด 4 การดำเนินคดี มาตรา 31 ในกรุงเทพมหานครและจังหวัดอื่น นอกจากพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้ว ให้พนักงานฝ่ายปกครองชั้นผู้ใหญ่ พนักงานฝ่ายปกครองตำแหน่ง ตั้งแต่ปลัดอำเภอหรือเทียบเท่าขึ้นไปในสังกัดกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และพนักงานอัยการ เป็นพนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนและรับผิดชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และดำเนินคดีความผิดตามพระราชบัญญัตินี้และความผิดอื่นที่เกี่ยวพันกัน

ในกรณีที่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษทำการสอบสวนคดีความผิดตามพระราชบัญญัตินี้คดีใดให้คดีนั้นเป็นคดีพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ

กรณีการสอบสวนโดยหน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่พนักงานอัยการ ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ แจ้งเหตุแห่งคดีให้พนักงานอัยการทราบ เพื่อเข้าตรวจสอบหรือกำกับการสอบสวนทันที

ในกรณีไม่แน่ว่าพนักงานสอบสวนท้องที่ใดหรือหน่วยงานใด เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ให้อัยการสูงสุดหรือผู้ทำการแทนเป็นผู้ชี้ขาด

ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นเจ้าพนักงานของรัฐตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และอยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบดำเนินคดีต่อไปตามพระราชบัญญัตินี้ และแจ้งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทราบ
กำลังโหลดความคิดเห็น