MGR Online - “โฆษกดีเอสไอ” เผย ที่ประชุมมีมติกล่าวหาบิ๊ก ก.แรงงาน 4 ราย ม.149-ม.157 เพราะมีพยานหลักฐาน ส่ง ป.ป.ช. ส่วนคดีค้ามนุษย์ต้องดูรายละเอียด ด้าน “รมว.ยธ.” ชี้พบหลักฐานเส้นทางการเงิน
จากกรณี กองคดีการค้ามนุษย์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ร่วมกับพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด มีมติให้กล่าวหากับอดีตข้าราชการฝ่ายการเมืองระดับรัฐมนตรี 2 คน และผู้บริหารระดับสูง กระทรวงแรงงาน อีก 2 คน รวมทั้งหมด 4 คน ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 86 เรื่องแรงงานไทยเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ในสาธารณรัฐฟินแลนด์ที่เดินทางไปทำงานเก็บผลไม้ป่าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่มีขบวนการหักค่า “หัวคิว” เฉลี่ยรายละ 3,000 บาท โดยในปี พ.ศ. 2563 - พ.ศ. 2566 มีผู้อยู่ในข่ายต้องเสียค่าใช้จ่ายดังกล่าว รวมประมาณ 12,000 คน คิดเป็นเงินรวมประมาณ 36 ล้านบาท โดยจะเร่งสรุปส่งสำนวนคดีพิเศษดังกล่าว ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
วันนี้ (12 ม.ค.) พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ และในฐานะโฆษกดีเอสไอ เปิดเผยกรณีดังกล่าว ว่า คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ประชุมร่วมกับพนักงานอัยการสูงสุด มีมติเบื้องต้นกล่าวหาบิ๊กกระทรวงแรงงาน 4 ราย ในความผิดต่อหน้าที่ราชการ ม.149 และ ม.157 ส่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามอำนาจการไต่สวน ซึ่งอาจมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง หากพบว่าเป็นเรื่องร้ายแรงหรือพบความผิดอื่น เช่น คดีค้ามนุษย์ หรืออาจส่งสำนวนกลับมาให้ ดีเอสไอ ดำเนินการตรวจสอบเอง ทั้งนี้ ถ้าเข้าข่ายคดีค้ามนุษย์ ต้องตรวจสอบว่ามีพยานหลักฐานถึงบุคคลใด แต่เบื้องต้นเป็นการเอาผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการก่อน
พ.ต.ต.วรณัน กล่าวว่า ส่วนจะมีการแอบอ้างหน่วยงานหรือไม่นั้น ทางคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษประชุมร่วมกับอัยการสูงสุด มีมติให้กล่าวหาก็ต้องมีพยานหลักฐานข้อเท็จจริงในสำนวนส่วนหนึ่งพอสมควรที่จะกล่าวหาบุคคลทั้ง 4 รายได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อวานนี้ (11 ม.ค.) ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน จ่อฟ้องกลับหากไม่ใช่เรื่องจริงนั้น พ.ต.ต.วรณัน กล่าวว่า เป็นเรื่องใช้สิทธิ์ตามขั้นตอนกฎหมาย ซึ่งในการปฏิบัติงานของดีเอสไอมีหน้าที่ถ่ายทอดข้อเท็จจริงให้สังคมได้รับทราบว่าเป็นประเด็นสำคัญ เพียงแต่ว่ากระบวนการทำงานมี 2 ส่วน 1.ส่วนคดีก็ส่งไปตามอำนาจหน้าที่ และ 2.ส่วนการให้ข้อเท็จจริงกับสังคมก็ต้องให้เกียรติไม่เปิดเผยข้อมูลบุคคลที่ถูกกล่าวหา ไม่ระบุชื่อตัวบุคคล เพียงกล่าวแค่ตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกว้างๆ
“ยืนยันว่าดีเอสไอเผยแพร่ในประเด็นสังคมที่ควรได้รับรู้ตามข้อเท็จจริง หรือแผนประทุษกรรมเพื่อให้ประชาชนรู้ว่ามีเหตุลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นจริง หากต่อไปเจอเหตุเช่นนี้กับตัวเองก็ให้ระมัดระวังเพราะอาจตกเป็นเหยื่อ เช่น การทำงานในต่างประเทศ ต้องศึกษาให้รอบคอบ” โฆษกดีเอสไอ กล่าว
ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เปิดเผยสั้นๆ ว่า คดีนี้เป็นการทำงานร่วมกัน ทั้ง ดีเอสไอ , อัยการสูงสุด และทางการฟินแลนด์ เพราะคดีค้ามนุษย์ถือเป็นเรื่องใหญ่ในต่างประเทศเกี่ยวกับการค้าแรงงาน ซึ่งทางตำรวจฟินแลนด์ได้รวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ รวมทั้งพบเส้นทางการเงิน และมองว่าเป็นการค้ามนุษย์ แต่บุคคลที่ถูกกล่าวหาจะหมายถึงใครบ้างนั้นคงต้องให้สอบถามกับทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ