ศาลอุทธรณ์สั่งเเก้เพิ่มโทษจำคุก 10 ปี 2 เดือน ตำรวจซิ่งบิ๊กไบค์ ชน “หมอกระต่าย” บนทางม้าลาย แยกพญาไทเสียชีวิต เมื่อปี 65 รับสารภาพเหลือ 5 ปี 1 เดือน ไม่รอลงอาญา ชี้ พฤติการณ์ร้ายแรง เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย
วันนี้ (16 ม.ค.) ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีหมายเลขดำ อ. 399/2565 ที่พนักอัยการคดีอาญา 3 นพ.อนิรุทธ์ สุภวัตรจริยากุล, นางรัชนี สุภวัตรจริยากุล บิดามารดาหมอกระต่าย เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ส.ต.ต.นรวิชญ์ บัวดก อายุ 21 ปี ผบ.หมู่ กองร้อยที่ 2 กองกำกับการ 1 กองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (กก.1 บก.อคฝ.) เป็นจำเลย ในความผิดฐานขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว อันอาจเกิดอันตรายต่อบุคคลหรือทรัพย์สิน และกระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย, นำรถที่มิได้ติดแผ่นป้ายทะเบียนมาใช้ในทางเดินรถ, ฝ่าฝืนใช้รถที่ไม่ได้เสียภาษีประจำปี ใช้รถที่ไม่ได้จัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัย, นำรถไม่สมบูรณ์มาขับและไม่ติดกระจกมองข้าง, ขับรถไม่ชิดขอบทางด้านซ้าย, ขับรถจักรยานยนต์เร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด, ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น, ขับรถโดยไม่ปฏิบัติตามเครื่องหมายบนพื้นทาง
กรณีที่เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2565 เวลากลางวัน ส.ต.ต.นรวิชญ์ จำเลย ขี่จักรยานยนต์บิ๊กไบค์ ยี่ห้อดูคาติ รุ่นมอนสเตอร์ ทะเบียน 1 กผ 9942 เชียงราย ชน พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ หมอกระต่าย จักษุแพทย์ รพ.ราชวิถี ขณะกำลังเดินข้ามทางม้าลาย บริเวณหน้า รพ.สถาบันไตภูมิราชนครินทร์ ถนนพญาไท แขวง-เขตราชเทวี กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเขตชุมชุนด้วยความเร็ว 108-128 กม. ซึ่งเกินกว่ากฎหมายกำหนดที่ 80 กม.ต่อชั่วโมง จน พญ.วราลัคน์ ถึงแก่ความตาย
โดยขอให้ศาลมีคำสั่งริบรถจักรยานยนต์ที่พนักงานสอบสวนยึดไว้เป็นของกลาง และมีคำขอให้ศาลเพิกถอน หรือพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้ต้องหาด้วย
คดีนี้เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2565 ศาลชั้นมีคำพิพากษาว่า ส.ต.ต.นรวิชญ์ จำเลย กระทำผิดตามฟ้องคงจำคุกรวม 1 ปี 15 วัน ไม่รอลงอาญา โดยจำเลยได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างสู้คดี
ต่อมาโจทก์-โจทก์ร่วมยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลกำหนดโทษหนักขึ้น จำเลยยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลรอการลงโทษ
โดยวันนี้ ส.ต.ต.นรวิชญ์ จำเลย เดินทางมาฟังคำพิพากษา
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันเเล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยฐานขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยและความเดือดร้อนของผู้อื่น จำคุก 1 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้วคงจำคุก 15 วัน และลงโทษฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุก 2 ปี ลดโทษกึ่งหนึ่งคงจำคุก 1 ปี และไม่ปรับจำเลยในข้อหานี้ โดยไม่รอการกำหนดหรือไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย นั้นเหมาะสมหรือได้สัดส่วนหรือสอดคล้องกับความร้ายแรงและพฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลย และอัตราโทษที่กำหนดโดยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่าพฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยเป็นเรื่องร้ายแรง เนื่องจากขณะกระทำความผิด จำเลยเป็นเจ้าหนักงานตำรวจมีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของประชาชนและบังคับใช้กฎหมายควรต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด แต่จำเลยไม่เคารพยำเกรงกฎหมายและกระทำผิดต่อกฎหมายเสียเอง โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน และมีพฤติกรรมในทางฝ่าฝืนกฎหมาย โดยจำเลยขับรถจักรยานยนต์ที่ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน ซึ่งเมื่อจำเลยกระทำความผิดและจำเลยหลบหนีไปได้ ก็ทำให้การติดตามหาตัวคนกระทำความผิดเป็นไปได้ยากมากขึ้น จำเลยขับรถจักรยานยนโดยไม่เสียภาษีประจำปี ซึ่งหากเป็นประชาชนทั่วไปกระทำความผิดนี้ จะต้องถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมและปรับโดยไม่มีละเว้น จำเลยไม่ได้จัดให้มีการทำประกันภัยความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยจากรถซึ่งกฎหมายบังคับให้ต้องทำเพื่อคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถให้ได้รับการช่วยเหลือและรักษาพยาบาลในเบื้องต้นได้ทันท่วงที
เมื่อเกิดเหตุขึ้น ผู้ตายและโจทก์ร่วมทั้งสองจึงไม่ได้รับการเยียวยาหรือไม่ได้รับค่าสินไหมทดแทนในเบื้องต้นจากบริษัทผู้รับประกันภัย จำเลยขับรถโดยไม่มีกระจกมองข้าง และขับรถด้วยความเร็วสูงมากถึง 108-128 กม.ต่อชั่วโมงในเขตเมืองบริเวณหน้าโรงพยาบาล ซึ่งเกินกว่าอัตราความเร็วที่กำหนดในกฎกระทรวง อีกทั้งปรากฏฎทางม้าลายสำหรับคนเดินข้ามบริเวณหน้าโรงพยาบาลดังกล่าว จำเลยควรต้องลดความเร็วของรถให้ช้าลงเพื่อระมัดระวังไม่ให้รถชนคนเดินข้ามถนนแต่จำเลยกลับขับรถจักรยานยนต์เร่งความเร็วแซงรถอื่นด้วยความเร็วสูง ทำให้รถชนผู้ตายตรงทางม้าลายจนร่างกระเด็นลอยสูงและตกลงพื้นห่างไกลจากจุดชนมาก ผู้ตายกะโหลกศีรษะแตก กระดูกสันหลังหัก กระดูกซี่โครงหักหลายชื่ ปอดฉีก เนื่องจากถูกรถจักรยานยนต์ที่จำเลยขับพุ่งชนอย่างรุนแรงลอยไปไกลตกกระแทกกับพื้นถนน จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจสมควรปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดยิ่งกว่าประซาชนทั่วไป เพื่อให้เป็นเยี่ยงอย่างอันดีงาม แต่จำเลยกระทำผิดต่อกฎหมายมากมายหลายประการ จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งมีหน้าที่และความรับผิดชอบในเบื้องต้นต้องคำนึงถึงความมั่นคงและความปลอดภัยในชีวิตและหรัพย์สินของประชาชนเป็นที่ตั้ง แต่พฤติการณ์ของจำเลยแสดงให้เห็นอย่างขัดแจ้งว่าจำเลยหาได้คำนึงถึงหน้าที่และความรับผิดชอบดังกล่าวแต่อย่างใดไม่
ทั้งพฤติการณ์ที่จำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายประการ แสดงให้เห็นว่า จำเลยเข้าใจว่าการเป็นเจ้าพนักงานตำรวจไม่จำต้องกระทำให้ถูกต้องตามกฎหมายก็ได้ หน้าที่กระทำตามกฎหมายเป็นหน้าที่ของประชาชนธรรมดาทั่วไป การกระทำของจำเลยยังทำให้ประชาชนทั่วไปหลงผิดเข้าใจว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติมิได้ใส่ใจอบรมบุคคลากรของตนให้คำนึงถึงหน้าที่และความรับผิดชอบในการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดโดยยึดถือความมั่นคงและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นที่ตั้งเท่าที่ควร จึงเห็นว่า โทษที่ศาลชั้นต้นลงแก่จำเลยมานั้นเบาเกินไป ไม่เหมาะสมและไม่ได้สัดส่วนกับความร้ายแรงของการกระทำความผิดของจำเลยและอัตราโทษที่กำหนดโดยกฎหมาย มิฉะนั้นคงไม่มีพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดในฐานนี้ที่ร้ายแรงยิ่งกว่านี้ที่จะลงโทษหนักกว่านี้ได้ สมควรลงโทษจำเลยหนักกว่าที่ศาลชั้นต้นกำหนดโดยไม่รอการกำหนดโทษและรอการลงโทษจำคุกแก่จำเลย เพื่อไม่เป็นเยี่ยงอย่างทำให้สังคมมีความสงบและมั่นใจในความปลอดภัยในการข้ามถนนบริเวณทางม้าลายสำหรับความผิดฐานขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยและความเดือดร้อนของผู้อื่น เห็นควรให้วางโทษจำคุก 2เดือนสำหรับความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 2 แสนบาท เห็นควรวางโทษจำคุกจำเลย 10 ปี และเมื่อกำหนดโทษจำคุกจำเลยใหม่โดยไม่รอการลงโทษจำคุกซึ่งนับว่าเหมาะสมแก่พฤติการณ์และ
ความร้ายแรงแห่งการกระทำผิดของจำเลยแล้ว จึงไม่กำหนดโทษปรับในความผิดดังกล่าวอีก ภายหลังเกิดเหตุจำเลยมิได้หลบหนีและให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาของศาลตลอดมา ไม่ว่าจะเป็นเพราะมีพยานหลักฐานหนักแน่นหรืออาจเพราะจำนนต่อพยานหลักฐานดังที่โจทก์ร่วมทั้งสองยกขึ้นอุทธรณ์ ก็ยังคงเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาของศาล ที่ศาลชั้นต้นลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่ง ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดฐานขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยไม่คำนึงถึงความปลอตภัยและความเดือดร้อนของผู้อื่นจำคุก 2 เดือน ความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายจำคุก 10 ปี ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งฐานขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยและความเดือดร้อนของผู้อื่น คงจำคุก 1 เดือน ฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย คงจำคุก 5 ปี เมื่อรวมกับโทษปรับในความผิดฐานอื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว คงจำคุก 5 ปี 1 เดือน และปรับ 4,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ภายหลังฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ส.ต.ต.นรวิชญ์ ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ 3 เเสนบาท ขอปล่อยชั่วคราว ศาลอาญาพิจารณาคำร้องเเล้วเห็นควรส่งศาลฎีกาพิจารณาประกัน หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จึงคุมตัวจำเลยไปคุมขังยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ระหว่างรอคำสั่งจากศาลฎีกา ซึ่งปกติเเล้วจะใช้ระยะเวลาประมาณ 2-3 วัน