xs
xsm
sm
md
lg

“ปิยบุตร” แนะ ขังนักโทษ “การเมือง-112” นอกเรือนจำ แก้ครหาช่วยทักษิณ “อดีตผู้พิพากษา” ชี้ โทษจำคุกไร้ความหมาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ นายทักษิณ ชินวัตร จากแฟ้ม
เห็นช่องแล้ว! “ปิยบุตร” แนะพิจารณา “คุมขังนอกเรือนจำ” นักโทษการเมือง รวมถึง ม.112 ด้วย เพื่อหลุดพ้นข้อครหาช่วย “ทักษิณ” “อดีตผู้พิพากษา” ชี้ชัด โทษจำคุกไร้ความหมาย กระบวนการดำเนินคดีใช้คนนับสิบนับร้อยเหนื่อยเปล่า

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (13 ธ.ค. 66) นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊ก เรื่อง กำหนดสถานที่คุมขังอื่นที่ไม่ใช่เรือนจำให้แก่นักโทษการเมือง ระบุว่า

“ตามที่ระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 ออกใช้บังคับ และมีประชาชนให้ความสนใจและตั้งข้อสังเกตว่าระเบียบนี้ออกมาเพื่อใช้กับกรณีคุณทักษิณ ชินวัตรนั้น
ผมมีความเห็น ดังนี้

ผมเห็นด้วยกับระเบียบราชทัณฑ์ฉบับนี้ ที่ให้อำนาจ “คณะทำงานการพิจารณาการคุมขังในสถานที่คุมขัง” กำหนดนักโทษในกรณีใดที่อาจถูกคุมขังในสถานที่อื่นๆที่ไม่ใช่เรือนจำได้

นี่คือ มาตรการที่ยกระดับมาตรฐานราชทัณฑ์ไทยให้สอดคล้องกับหลักสากล และช่วยแก้ปัญหาเรือนจำแออัดหนาแน่นจนกระทบกับคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขัง

และยังเป็นมาตรการทางบริหารที่ใช้ผ่อนคลายให้กับผู้ต้องขังในบางกรณีด้วย

ประเทศไทย มีนักโทษที่ต้องจำคุกในข้อหาที่เกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมือง กลุ่มคนที่คิดต่างกับรัฐ ถูกพิพากษาลงโทษจำคุก ตั้งแต่เหตุการณ์การต่อสู้ทางการเมืองในอดีตจนถึงปัจจุบัน

พวกเขาเหล่านี้ไม่ใช่อาชญากรโดยสันดาน เขามีความคิดที่แตกต่างจากรัฐ

ในช่วงที่พี่น้องคนเสื้อแดงติดคุกจำนวนมาก เคยมีการรณรงค์ให้กรมราชทัณฑ์กำหนดสถานที่อื่นเป็นที่คุมขังพวกเขาเหล่านี้แทน ทำนองเดียวกับในอดีตที่เคยใช้โรงเรียนตำรวจ บางเขน เป็นที่คุมขังนักโทษการเมือง

ภาพ นายปิยบุตร แสงกนกกุล จากแฟ้ม
เมื่อกรมราชทัณฑ์ออกระเบียบฉบับนี้ขึ้นมา ก็ควรนำมาใช้ประโยชน์ กำหนดให้ผู้ต้องขังในคดีเกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน ป อาญา มาตรา 116 ป อาญา มาตรา 112 ฯลฯ ถูกคุมขังในสถานที่อื่นแทนเรือนจำ

หากทำเช่นนี้ได้ กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม รัฐบาล และนายกรัฐมนตรี ก็สามารถตอบคำถามประชาชนบางกลุ่มได้ว่า ระเบียบนี้ออกมาใช้ทั่วไป ไม่ใช่ใช้กับกรณีคุณทักษิณ ระเบียบนี้ออกมาเพื่อยกระดับมาตรฐานและสิทธิของผู้ต้องขัง

แล้วถ้าหากจะมีกรณีคุณทักษิณรวมอยู่ด้วย นั่นก็เพราะ คณะทำงานกำหนดให้รวมถึงกรณีผู้ต้องขังที่มีอายุมาก เป็นต้น

ในเมื่อรัฐบาลยังไม่กล้าที่จะนิรโทษกรรมคดีการแสดงออกทางการเมือง ยังไม่คิดแก้ไข ป อาญา มาตรา 112

ในเมื่อแกนนำสำคัญในรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยหลายๆคน เคยพูดไว้ว่า หากเป็นรัฐบาลจะพยายามใช้วิธีการทางบริหารเข้าช่วยเหลือผ่อนคลายคดีเกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมือง

ในเมื่อรัฐบาลอ้างว่าแทรกแซงอำนาจศาล ตุลาการ ในการตัดสินคดีไม่ได้

นี่ครับ โอกาสมาถึงแล้ว

ใช้อำนาจบริหารราชการแผ่นดิน ดำเนินการได้

นอกจากจะยกระกับสิทธิของผู้ต้องขัง นอกจากช่วยนักโทษการเมืองแล้ว รัฐบาลก็พ้นข้อครหากรณีคุณทักษิณด้วย”

ภาพ นายชูชาติ ศรีแสง จากแฟ้ม
ขณะเดียวกัน นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา โพสต์เฟซบุ๊ก Chuchart Srisaeng ระบุว่า

“ขณะนี้ กรมราชทัณฑ์ได้ออกระเบียบกำหนดให้กรมราชทัณฑ์มีอำนาจส่งตัวจำเลยที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกไปคุมขังในสถานที่อื่นๆ นอกเรือนจำได้ เช่น บ้าน เป็นต้น คำพิพากษาของศาลที่ให้ลงโทษจำคุกจำเลยแทนที่จำเลยจะถูกคุมขังในเรือนจำ แต่กรมราชทัณฑ์สามารถส่งตัวไปคุมขังในบ้านก็ได้ ดังนั้นคำพิพากษาของศาลที่ให้ลงโทษจำคุกจำเลยจึงไม่มีความหมายอะไรอีกต่อไป รวมทั้งบุคคลที่ช่วยกันทำงานนับสิบนับร้อยคนเพื่อให้ผู้กระความผิดได้รับการลงโทษก็ต้องเหนื่อยเปล่าโดยไม่มีผลใดๆ เลย

เนื้อหาทั้งหมดมีดังนี้ เมื่อมีการกระทำความผิดอาญาเกิดขึ้น เจ้าพนักงานตำรวจต้องทำการสืบสวนสอบสวนเพื่อหาตัวผู้กระทำความผิด.....เมื่อได้ตัวผู้กระความผิดมาแล้ว พนักงานสอบสวนต้องสอบปากคำพยานบุคคล แสวงหารวบรวมพยานเอกสาร พยานวัตถุ ประกอบสำนวนสอบสวน หากฟังได้ว่า เป็นผู้กระทำความผิดจริง ก็สั่งฟ้องแล้วส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมสำนวนสอบสวนส่งไปให้พนักงานอัยการเพื่อพิจารณาต่อไป

.....เมื่อพนักงานอัยการได้รับสำนวนจากพนักงานสอบสวนแล้ว ก็ต้องพิจารณาอ่านสำนวนการสอบสวนพร้อมตรวจสอบพยานหลักฐานทั้งหมด หากเห็นด้วยกับพนักงานสอบสวน ก็ฟ้องคดีต่อศาล

.....เมื่อคดีถึงศาลแล้ว ศาลชั้นต้น ต้องทำการสืบพยาน โจทก์ จำเลย ถ้าเป็นคดีที่ประชาชนเป็นผู้เสียหายและผู้เสียหายขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ และขออ้างพยานเพิ่มเติมจากพยานโจทก์ ก็ต้องสืบพยานโจทก์ร่วมด้วย แล้วจึงนัดฟังคำพิพากษา

.....ศาลต้องอ่านคำพยานของโจทก์ โจทก์ร่วม(หากมี) และจำเลย ประกอบกับการตรวจสอบพยานหลักฐานทั้งหมดที่คู่ความส่งมาซึ่งอยู่ในสำนวนอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว

.....จึงมีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ หรือลงโทษจำเลย กรณีลงโทษก็ต้องพิจารณาว่า จะจำคุกหรือไม่ ถ้าจำคุกจะจำคุกกี่ปี เพื่อให้เหมาะกับพฤติการณ์ในการกระทำความผิดในคดีนั้น ทั้งสมควรรอการลงโทษให้จำเลยหรือไม่

.....เมื่อศาลชั้นมีคำพิพากษาแล้ว หากคดีไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ คู่ความมีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ เมื่อศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาเสร็จก็ส่งสำนวนและคำพิพากษาคืนศาลชั้นต้นเพื่ออ่านให้คู่ความฟัง

.....ถ้าคู่ความยังไม่พอใจและคดีไม่ต้องห้ามฎีกา ก็มีสิทธิฎีกาต่อศาลฎีกาได้อีก เมื่อคดีขึ้นสู่ศาลฎีกา ผู้พิพากษาศาลฎีกาก็ต้องอ่านคำพยาน ตรวจพยานหลักฐานทั้งหมดที่มีอยู่ในสำนวนอย่างละเอียดถี่ถ้วนอีกครั้งหนึ่ง ปรึกษากันในองค์แล้วจึงเขียนคำพิพากษา

.....เมื่อเจ้าหน้าที่พิมพ์เสร็จก็มีผู้ช่วยผู้พิพากษาในศาลฎีกาช่วยตรวจสอบความถูกต้องทั้งในเรื่องข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ถ้าเห็นด้วยกับร่างคำพิพากษา ก็เสนอท่านประธานศาลฎีกาหรือรองประธานศาลฎีกาที่ท่านประธานศาลฎีกามอบหมายให้พิจารณาอีกครั้ง ถ้าเห็นด้วยก็มีคำสั่งเห็นชอบ แล้วจึงส่งให้ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนและองค์คณะลงชื่อในคำพิพากษา จากนั้นก็ส่งไปให้ศาลชั้นต้นอ่านให้คู่ความฟัง

.....ที่กล่าวมานี้เป็นกระบวนการในการดำเนินคดีอาญาอย่างย่อๆ จะเห็นได้ว่า การที่จำเลยคนหนึ่งถูกศาลพิพากษายกฟ้องหรือลงโทษนั้น

.....เฉพาะในชั้นศาล ในศาลชั้นต้นมีองค์คณะผู้พิพากษา ๒ ท่าน ศาลอุทธรณ์มีองค์คณะ ๓ ท่าน มีผู้ช่วยผู้พิพากษาช่วยตรวจความถูกต้อง ๑ ท่าน ประธานศาลอุทธรณ์หรือรองประธานศาลอุทธรณ์ที่รับมอบหมายจากประธานศาลอุทธณ์ ๑ ท่าน ศาลฎีกามีองค์คณะ ๓ ท่าน ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลในศาลฎีกาทั้งผู้ช่วยเล็กและผู้ช่วยใหญ่รวม ๒ ท่าน และท่านประธานศาลฎีกาหรือรองประธานศาลฎีกาที่ได้รับมอบหมาย ๑ ท่าน

.....จึงมีผู้พิพากษาที่มีส่วนในการพิจารณาพิพากษาคดีในแต่ละคดีรวม ๑๓ ท่าน

.....ถ้าคิดถึงจำนวนผู้ที่มีส่วนในดำเนินแก่ผู้กระทำความผิดทางอาญา ตั้งแต่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นหรือพบเห็นการกระทำความผิด นับตั้งแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวน พนักงานสอบสวน บุคคลที่มาให้การเป็นพยานทั้งในชั้นสอบสวนและในชั้นศาล พนักงานอัยการที่ต้องหน้าตรวจสอบสำนวนการสอบสวนและทำหน้าที่ว่าความยืนซักถามพยานโจทก์ในศาล รวมกันทั้งหมดแล้วแต่ละคดีมีไม่น้อยกว่า 30-40 คน บางคดีมีเป็นร้อยคน

.....เมื่อศาลพิพากษาลงโทษจำคุกแล้วและออกหมายขังส่งตัวจำเลยไปให้เรือนจำคุมขังจำเลยไว้ตามคำพิพากษาของศาล

.....ก่อนหน้านี้กรมราชทัณฑ์ใช้วิธีลดโทษให้จำเลยทุกปี โดยถ้าเป็นจำเลยที่ศาลลงโทษจำคุกในระยะยาวไม่มีจำเลยคนใดที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำครบตามกำหนดเวลาที่ศาลมีคำพิพากษาเลย

.....ขณะนี้กรมราชทัณฑ์ได้ออกระเบียบกำหนดให้กรมราชทัณฑ์มีอำนาจส่งตัวจำเลยที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกไปคุมขังในสถานที่อื่นๆ นอกเรือนจำได้ เช่น บ้าน เป็นต้น

.....คำพิพากษาของศาลที่ให้ลงโทษจำคุกจำเลยแทนที่จำเลยจะถูกคุมขังในเรือนจำ แต่กรมราชทัณฑ์สามารถส่งตัวไปคุมขังในบ้านก็ได้

.....ดังนั้น คำพิพากษาของศาลที่ให้ลงโทษจำคุกจำเลยจึงไม่มีความหมายอะไรอีกต่อไป รวมทั้งบุคคลที่ช่วยกันทำงานนับสิบนับร้อยคนเพื่อให้ผู้กระความผิดได้รับการลงโทษก็ต้องเหนื่อยเปล่าโดยไม่มีผลใดๆ เลย”


กำลังโหลดความคิดเห็น