“ข่าวลึกปมลับ” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APP สถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูป NEWS1 และเฟซบุ๊กแฟนเพจ NEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันอังคารที่ 5 ธันวาคม 2566 ตอน เปิดลับ เรือดำน้ำ กองทัพเรือรู้ทัน เล่นบทปลอดภัยไว้ก่อน
จากมหากาพย์เรือดำน้ำชั้นหยวนรุ่น S26T ที่กองทัพเรือไทยสั่งต่อจากจีนท่ามกลางข้อสงสัยและกลายเป็นประเด็นการเมืองที่ฝ่ายค้านหยิบยกมาโจมตีรัฐบาลที่ผ่านมาว่าไม่ได้เป็น จีทูจี อย่างที่กล่าวอ้าง ก่อนจะตามมาด้วยประเด็นจีนผิดสัญญาไม่สามารถนำเครื่องยนต์ MTU ที่ผลิตในเยอรมัน มาติดตั้งให้กับเรือดำน้ำไทยได้
ฝ่ายค้านในยุคนั้น ก่อนที่จะกลายมาเป็นรัฐบาลในยุคนี้ จึงออกมาถล่มรัฐบาลลุงตู่อย่างดุเดือด ด้วยการขยายแผลว่าซื้อเรือดำน้ำแต่ไม่มีเครื่องยนต์
แถมตอนอนุมัติโครงการยังงุบงิบทำกันในวันรุ่งขึ้น หลังจากเทศกาลสงกรานต์หมาดๆ ผู้คนยังไม่หายเพลียจากการเล่นสาดน้ำ มารู้ตัวอีกทีครม.ก็เห็นชอบโครงการเรือดำน้ำมูลค่า 13,500 ล้านบาท ไปเรียบร้อยแล้ว
ครั้นเมื่อ อดีตฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทย กลายมาเป็นรัฐบาล พร้อมกับนั่งเก้าอี้คุมกลาโหม โดย นายสุทิน คลังแสง ท่าทีเกี่ยวกับกรณีการจัดหาเรือดำน้ำจากจีน ก็เปลี่ยนไปโดยพลัน
กล่าวคือ บิ๊กทิน ลั่นวาจาในครั้งแรกว่า ปัญหาเรือดำน้ำมีทางออกสามารถไปต่อได้ แต่แล้วหลังจากที่ นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน กลับจากการประชุมที่สหรัฐอเมริกา และได้พบกับผู้นำเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศเจ้าของเครื่องยนต์ MTU เจ้าปัญหา โดยนายกฯ ของไทย ร้องขอความอนุเคราะห์ ให้รัฐบาลเยอรมัน ช่วยเจรจาให้บริษัท MTU ยอมขายเครื่องยนต์ดังกล่าวให้กับจีนเพื่อนำมาติดตั้งกับเรือดำน้ำที่ไทยสั่งต่อเป็นกรณีพิเศษ
แต่ความพยายามนั้นก็ไม่เป็นผล เพราะบริษัท MTU ยังคงยืนยันคำตอบเดิมว่า ไม่สามารถขายเครื่องยนต์เจ้าปัญหา ให้กับอู่ต่อเรือดำน้ำจีน ยังผลให้จีนต้องหาทางออก ด้วยการเสนอเครื่องยนต์คุณสมบัติเดียวกับ MTU ที่ผลิตในจีน ให้กับเรือดำน้ำของไทย
ซึ่งข้อเสนอดังกล่าว แม้จะฟังดูมีเหตุผล อีกทั้งกองทัพเรือ ก็ยืนยันแล้วว่า ได้ส่งช่างเทคนิคร่วมตรวจสอบ มาตรฐานของ MTU เมดอินไช่น่า และได้ผลสรุปว่า เชื่อถือได้ อีกทั้งเครื่องยนต์ดังกล่าวยังมีใบรับรองจากสถาบันวิจัยพัฒนาของจีน และนำไปติดตั้งให้กับเรือดำน้ำของปากีสถานเรียบร้อยแล้วเช่นกัน
แต่หลังจากนั้น ในถ้อยแถลงที่ตามมาของรัฐมนตรีสุทิน กลับเปลี่ยนท่าทีแบบกลับลำ 360 องศา โดยบิ๊กทิน กล่าวว่า มีแนวคิดจะเปลี่ยนจากเรือดำน้ำเป็นเรือฟริเกต โดยให้กองทัพเรือเพิ่มเงินอีกประมาณพันกว่าล้านบาท ซึ่งเป็นราคาส่วนต่าง ระหว่างเรือดำน้ำกับเรือฟริเกต
ในตอนแรก ท่าทีของกองทัพเรือก็ดูเหมือนจะเออออห่อหมก ตามน้ำไปกับรัฐมนตรีสุทิน ซึ่งถือเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด ของกระทรวงกลาโหม เพราะการได้เรือผิวน้ำมา เพื่อทดแทนเรือสุโขทัยที่อับปางลงตั้งแต่เดือนธันวาคมปีก่อน นับเป็นการตอบโจทย์การเสริมสร้างกำลังทางเรือผิวน้ำได้ตรงประเด็นที่สุด
แต่หลังจากตั้งหลักได้ และระดมทีมกฎหมายของกองทัพเรือมาให้ข้อคิดเห็น บทสรุปที่ได้อย่างชัดเจนก็คือ การเปลี่ยนจากเรือดำน้ำเป็นเรือฟริเกต โดยเพิ่มเงินส่วนต่างระหว่างราคาเรือของทั้งสองประเภท ไม่สามารถกระทำได้
เพราะไม่มี กฎระเบียบข้อใดรองรับ
แนวทางของกองทัพเรือ จึงมุ่งกลับไปสู่ การหาช่องทางเพื่อให้ได้มาซึ่งเรือดำน้ำ แม้จะติดตั้งเครื่องยนต์ MTU ที่ผลิตในจีนก็ตาม
ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อดังกล่าว ประเด็นที่น่าสังเกตก็คือ เมื่อกองทัพเรือจัดทีม เตรียมเข้าชี้แจงคณะกรรมาธิการทหาร สภาผู้แทนราษฎร ในประเด็นเรือดำน้ำตามที่ได้รับเชิญ
แต่แล้วจู่ๆ ก็มีสายด่วนจากรัฐมนตรีสุทินไปถึงกองทัพเรือ แจ้งให้ทราบว่า กลาโหมจะเป็นผู้ชี้แจงกับคณะกรรมาธิการทหารด้วยตนเอง กองทัพเรือไม่ต้องส่งเจ้าหน้าที่ไปชี้แจงตามที่ได้รับเชิญแต่อย่างใด
ความเป็นไปดังกล่าว ถูกตั้งข้อสังเกตว่า อาจมีความเป็นไปได้ที่รัฐมนตรีสุทิน ไม่แน่ใจว่ากองทัพเรือจะชี้แจงกับกรรมาธิการในลักษณะใด จะตรงใจกับที่รัฐมนตรี ต้องการหรือไม่ ดังนั้น เพื่อให้เกิดความมั่นใจกลาโหมจึงส่งสายตรงของตนเอง คือพล.อ. อดินันท์ ไชยฤกษ์ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณและแผน กระทรวงกลาโหม เข้าชี้แจง
และพล.อ อดินันท์ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ใจความสำคัญว่า
“กรณีเครื่องยนต์เรือดำน้ำ ไม่ได้ระบุชัดเจนว่า ต้องเป็นเครื่องยนต์ MTU396 ของเยอรมนี แต่มีการระบุไว้ในข้อตกลงว่า จีนจะติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซล สำหรับขับเคลื่อนเครื่องดำเนิดไฟฟ้า ซึ่งจีนได้ลิขสิทธิ์จากเยอรมนี ผลิตเครื่องยนต์แบบเดียวกับ MTU396”
ดังนั้นเมื่อถึงนาทีนี้ จึงน่าจะชัดเจนว่า กลาโหมต้องการเดินหน้าโครงการเรือดำน้ำให้สำเร็จลุล่วง โดยไม่ต้องสงสัยแต่อย่างใด
ยิ่งไปกว่านั้น หากจับตาท่าทีของพล.ร.อ.อะดุง พันธ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ ซึ่งกล่าวกับสื่อมวลชน ในงานวันสถาปนากองทัพเรือ 20 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา จะเห็นถ้อยคำที่สอดรับกับท่าทีของกลาโหม โดยบิ๊กดุงสรุปว่า เรือดำน้ำยังคงมีความจำเป็นและกองทัพเรือจะจัดหาเรือดำน้ำให้ได้ 3 ลำ ตามแผนพัฒนากองทัพเรือที่วางไว้
ทั้งนี้ทางออกของกองทัพเรือที่ปลอดภัยที่สุด สำหรับเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องก็คือ กองทัพเรือทำหนังสือถึงอัยการสูงสุดเพื่อสอบถามว่า ใครคือผู้มีอำนาจแก้ไขสัญญา การจัดซื้อเรือดำน้ำ ในประเด็นใช้เครื่องยนต์ MTU ที่ผลิตในจีน ซึ่งคำตอบที่รอการชี้ขาดจากอัยการสูงสุด จะเป็นเกราะป้องกันที่ช่วยให้กองทัพเรือซึ่งเป็นคู่สัญญากับอู่ต่อเรือของจีนสามารถดำเนินการตามกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ได้อย่างปลอดภัย
ไม่ต้องกลายเป็นแพะรับบาป แทนผู้หนึ่งผู้ใดหากจะต้องปฏิบัติตามนโยบายที่หน่วยเหนือมอบหมาย นั่นคือการเดินหน้าต่อโครงการเรือดำน้ำให้สำเร็จ
อันจะทำให้ เรือดำน้ำลำแรกของไทย สามารถส่งมอบให้แก่กองทัพเรือได้ ทันตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา
--------------------------------
**หมายเหตุ
ดาวโหลดแอป Sondhi App ได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore : https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play : https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android
สมัครสมาชิกได้แล้ววันนี้
รายเดือนเพียง เดือนละ 99 บาท
รายปี 990 บาท (10 เดือน แถม 2 เดือน )
ถ้ามีปัญหาการใช้งาน app หรือการสมัครสมาชิกใน app ติดต่อสอบถามได้ที่ Line id : @sondhitalk หรือ https://lin.ee/Skns1k1