MGR Online - รรท.เลขาธิการ ป.ป.ส. แนะยาบ้าไม่เกิน 5 เม็ดถือเป็นผู้เสพ คือ “ผู้ป่วย” เข้าขั้นป่วยจิตเวช 3.2 หมื่นคน ต้องบำบัดรักษา รอสรุปบอร์ดใหญ่อีกครั้ง ธ.ค.นี้
วันนี้ (1 พ.ย.) เวลา 13.30 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ดินแดง กรุงเทพฯ พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะรักษาราชการแทนเลขาธิการ ป.ป.ส. เปิดเผยกรณีกระทรวงสาธารณสุขจะออกประกาศกระทรวงกำหนดจำนวนครอบครองยาบ้า ไม่เกิน 10 เม็ด ถือเป็นผู้เสพ ว่า ตามประมวลกฎหมายยาเสพติดใหม่ พ.ศ.2564 เปลี่ยนแนวคิดใหม่ใช้กระบวนการสาธารณสุขนำการปราบปราม และโฟกัสกลุ่มผู้เสพ คือ ผู้ป่วยหรือเหยื่อ โดยมีวิธีการปฏิบัติ คือ คัดกรองผู้เสพ นำไปบำบัดฟื้นฟู สร้างอาชีพและคืนคนสู่สังคม ซึ่งคำจำกัดความ “ผู้เสพ” ตามหน่วยงานที่ร่วมประชุมหารือได้กำหนดไว้ให้ไม่เกิน 10 เม็ด ถือเป็นผู้ครอบครองเพื่อเสพ
“ส่วนประเด็นที่ สธ. เสนอเกณฑ์การครอบครองยาบ้า 10 เม็ดนั้น ในที่ประชุมมีการเสนอเอกสารทางวิชาการของคณะแพทย์ที่ระบุว่าการครอบครองเพียง 10 เม็ดให้จัดเป็นผู้เสพ เนื่องจากตามปกติแล้วผู้เสพยาบ้าจะใช้ยาอยู่ที่ 1-3 เม็ด ซึ่งปริมาณที่ต่ำกว่า 5 เม็ด ผลที่เกิดขึ้นคือจะทำให้ผู้เสพมีอารมณ์ที่ดี สดชื่น มีแรงในการทำงานหนัก แต่ถ้าหากเสพเกินกว่า 5-10 เม็ด ผู้เสพจะมีอาการกระสับกระส่ายไม่สามารถควบคุมตนเองได้”
พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ เผยว่า ในฐานะเลขา ป.ป.ส. ต้องพิจารณาครอบคลุม 3 มิติ ทั้ง 1.มิติด้านการแพทย์ 2.มิติการบังคับใช้กฎหมาย และ 3.มิติการขับเคลื่อนนโยบาย โดยส่วนตัวแล้วตนคิดว่า 5 เม็ดซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติมาตลอด ส่วนเกรงว่าจะเกิดผู้ค้ารายย่อยนั้น ต้องดูพฤติการณ์เป็นหลัก ประวัติผู้ครอบครอง และรายงานการสืบสวนของตำรวจ เช่น หากผู้เสพรายย่อย พกมา 3 เม็ด แต่ตรวจสอบประวัติที่ผ่านมาคดีมีเป็นจำนวนมาก ก็ต้องถือเป็นผู้จำหน่าย ซึ่งสถิติที่ผ่านมาจับกุมผู้เสพยา 100 คน มาจากผู้ค้า 12 คน อย่างไรก็ตาม จะมีการประชุมคณะกรรมการบอร์ดใหญ่ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อสรุปมติจำนวนยาบ้าอีกครั้ง ในช่วงระหว่างวันที่ 18-22 ธ.ค.66
พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ เผยอีกว่า ตามโครงการ Quick Win นโยบายของกระทรวงยุติธรรม กำหนด 100 วันแรก เริ่ม 1 ธ.ค. ให้คณะกรรมการ ป.ป.ส. เร่งดำเนินการนำผู้ใช้ยาเสพติดเข้าสู่กระบวนการบำบัด ปัจจุบันพบข้อมูลกลุ่มผู้เสพทั่วประเทศ 5.3 แสนคน เป็นกลุ่มสีแดง ผู้ป่วยจิตเวชจากยาเสพติด 3.2 หมื่นคน ต้องเร่งเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูบำบัด ก่อนที่จะควบคุมตัวเองไม่ได้และไปทำร้ายผู้อื่น โดยให้ทุกจังหวัดกำหนด การปฏิบัตินำบุคคลเข้าสู่การระบบ ขณะเดียวกันต้องสร้างความพร้อมให้กับชุมชนต่างๆ เพื่อติดตามดูแลเฝ้าระวังช่วยเหลือป้องกันเหตุ นอกจากนี้ ในช่วงเดือน ก.พ.67 จะดำเนินนโยบายโครงการ “1 โรงพัก 1 ตำบล” ให้ร่วมแก้ไขปัญหายาเสพติดระดับชุมชนด้วย
พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ กล่าวเสริมว่า นอกจากนี้ ในกฎหมายยาเสพติดใหม่ ได้กำหนดพื้นที่เร่งด่วนตาม ม.5 (10) ประกาศพื้นที่ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อป้องกันและปราบปรามยาเสพติด จากประเทศเพื่อนบ้านเข้าสู่ประเทศไทย ประกอบด้วย ภาคเหนือ พื้นที่ จ.เชียงใหม่ 5 อำเภอ จ.เชียงราย 6 อำเภอ และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.นครพนม 4 อำเภอ โดยร่วมกันบูรณาการหน่วยงานความมั่นคงทั้งตำรวจ ทหารและ ป.ป.ส.