สภาทนายความร่วมหารือมูลนิธิผสานวัฒนธรรม รองรับมาตรฐานในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
วันนี้ (16 มิ.ย.) เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมชั้น 3 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ นายวีรศักดิ์ โชติวานิช อุปนายกฝ่ายเทคโนโลยีและสารสนเทศ กรรมการประชาสัมพันธ์ และรองเลขาธิการ นายสัญญาภัชระ สามารถ อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ นายฉัตรประพล แย้มเพริศศรี กรรมการบริหารสภาทนายความ ภาค 1 และ นายไพโรจน์ จำลองราษฎร์ ที่ปรึกษาอุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ นายอุทัย ไสยสาลี หัวหน้าสำนักงาน สภาทนายความ เข้าร่วมหารือเกี่ยวกับ พ.ร.บ.การป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 และความร่วมมือด้านวิชาการกับนางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและอดีตกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. การป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... และคณะ (ซึ่งเป็นมูลนิธิที่ทำงานกับหลากหลายภาคส่วนของสังคมเพื่อพิทักษ์สิทธิมนุษยชนและแสวงหาความยุติธรรม)
ทั้งสองหน่วยงานได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการบังคับใช้ พ.ร.บ.การป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 และสะท้อนปัญหาอุปสรรคต่างๆ ที่ผ่านมา รวมถึงการคุ้มครองสิทธิประชาชนที่ถูกกระทำทรมานหรืออุ้มหาย เช่น กรณีทนายความสมชาย นีละไพจิตร, การสลายการชุมนุมบริเวณหน้า สภ.อำเภอตากใบ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในมัสยิดกรือเซะ และอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา และกรณีเจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรมเมื่อหลายปีที่ผ่านมา
ด้าน ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า สภาทนายความให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว โดยได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายในการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายทั่วประเทศ ผ่านประธานสภาทนายความจังหวัด และสภาทนายความ (ส่วนกลาง) เพื่อรองรับพระราชบัญญัติดังกล่าว เนื่องจากการป้องกันปราบปรามและเยียวยานั้น เป็นการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายและเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ตามวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ. ทนายความ พ.ศ. 2528
นอกจากนี้ สภาทนายความได้จัดอบรมเผยแพร่ความรู้และเสวนาวิชาการ เรื่อง พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565” เพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะให้กับทนายความอาสา นำไปใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายฉบับใหม่ ซึ่งมีการเพิ่มประสิทธิภาพ ยกระดับมาตรฐานการดำเนินคดีอาญาให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น โดยมีการนำหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และสนธิสัญญาต่างๆ ที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกมากำหนดไว้ในตัวของกฎหมาย เป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยสภาทนายความจะได้จัดทำคู่มือในการปฏิบัติงานของทนายความอาสาเกี่ยวกับการจับกุม สอบสวน การพิจารณาคดีและข้อสังเกตกฎหมายในประเด็นต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน
นายกสภาทนายความ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ตนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ในชุดนี้ด้วย ซึ่งจากการประชุมในนัดแรกได้เสนอให้สภาทนายความเป็นอนุกรรมการในคณะอนุกรรมการพัฒนากฎ ระเบียบ กฎเกณฑ์ และมาตรการตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ โดยมี นายณรงค์ ใจหาญ เป็นประธาน และคณะอนุกรรมการช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหาย ตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมาน โดยมีอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นประธาน เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานและบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมต่อไป