โฆษก บช.สอท. ชี้แจงความคืบหน้าคดีแชร์ออมเงิน “บ้านร่ำรวยเงินทองปี 4” หลังพบคดีเชื่อมโยงกว่า 50 เรื่อง เสียหายกว่า 100 ล้าน
วันนี้ (17 ก.พ.) พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษกกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) เรียนชี้แจงความคืบหน้าคดีแชร์ออมเงิน “บ้านร่ำรวยเงินทองปี 4” ดังนี้
ตามที่มีการนำเสนอข่าวผ่านสื่อสังคมออนไลน์ กรณีมีผู้เสียหายหลายรายเข้าพบพนักงานสอบสวน กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) แจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับนายวงแชร์ “บ้านร่ำรวยเงินทองปี 4” ที่ได้หลอกลวงชักชวนผู้เสียหายให้เล่นแชร์ออมเงิน เพื่อรับผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ย ในอัตราสูงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนเงินลงทุน ต่อมาพบความผิดปกติ มีสมาชิกวงแชร์รายใหม่เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ผู้เสียหายเชื่อว่า นายวงแชร์หลอกลวงใช้สมาชิกที่ไม่มีตัวตนอยู่จริง หรือที่เรียกว่ามือผี มาทำการรับผลตอบแทน หรือเปียแชร์แทน ทำให้ได้รับความเสียหายรวมประมาณ 100 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังพบว่า มีการตั้งวงแชร์มากกว่า 10 วง ทั้งแบบรายวัน รายอาทิตย์ และรายเดือน มีวงเงินตั้งแต่ 10,000 ไปจนถึง 1,000,000 บาท อีกด้วย
จึงขอเรียนชี้แจงให้ทราบว่า จากการตรวจสอบมีผู้เสียหายบางส่วนแจ้งความผ่านระบบรับแจ้งความออนไลน์ที่ www.Thaipoliceonline.com โดยจากการวิเคราะห์ พบความเชื่อมโยงทางคดีมากกว่า 50 เรื่อง (Case ID) ซึ่งคาดว่าภายในต้นสัปดาห์ถัดไป ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ ศปอส.ตร. จะมีความเห็นเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นไปยังผู้บริหารคดี ระดับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อพิจารณาสั่งการให้รวบรวม สั่งโอนสำนวนคดีไปยังพนักงานสอบสวนหน่วยที่รับผิดชอบทำการสอบสวน ตามคำสั่ง ตร.ที่ 468/65 เรื่องการรับแจ้งความและการบริหารคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ฯ และดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ตามนโยบายของรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งรับผิดชอบงานในด้านการป้องกันปราบปราม ได้ให้ความสำคัญ และมีความห่วงใยต่อภัยการหลอกลวงประชาชนผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการชักชวนหลอกลวงลงทุนออนไลน์ การระดมทุนที่ผิดกฎหมาย โดยได้กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งวางมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง
ที่ผ่านมา กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบ มุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
การกระทำลักษณะดังกล่าวเข้าข่ายเป็นความผิดฐาน “ฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ, ความผิดตาม พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 6 มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และความผิดตาม พ.ร.ก.กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ ตามมาตรา 4, 5 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 500,000 ถึง 1,000,000 บาทและปรับอีกไม่เกินวันละ 10,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่” หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ตามพฤติการณ์ในแต่ละกรณี
โฆษก บช.สอท. กล่าวอีกว่า การหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว มิจฉาชีพมักชักชวนเหยื่อผ่านสื่อสังคมออนไลน์ มีการโฆษณาชวนเชื่อ เช่น ลงทุนน้อยได้กำไรสูงในเวลาอันรวดเร็ว ไร้ความเสี่ยง หรือมีการแอบอ้างบุคคลที่ประสบความสำเร็จ มีการอบรมสัมมนาให้ความรู้ด้านการลงทุน นอกจากนี้ยังมีการให้หาสมาชิกมาเพิ่มเพื่อทำกำไร ยิ่งชวนมากยิ่งได้คืนมาก เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ฝากเตือนถึงแนวทางการป้องกันการถูกหลอกลวงให้เล่นแชร์ 8 ข้อ ดังต่อไปนี้
1. ระมัดระวังการถูกชักชวนให้ร่วมเล่นแชร์ หรือร่วมลงทุน จากสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นบุคคลที่ไม่รู้จัก ไม่เคยพบมาก่อน
2. ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของนายวงแชร์ และสมาชิกในวงแชร์ว่าเป็นผู้ใด ทำงานที่ไหน สถานะการเงิน จำนวนวงเงิน การตั้งวงแชร์เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือไม่
3. หลีกเลี่ยงข้อเสนอที่ฟังดูดีเกินไป ลงทุนน้อย ได้ผลตอบแทนสูง ในเวลาอันรวดเร็ว มีขั้นตอนไม่ซับซ้อน
4. คิดไว้เสมอว่า ไม่มีการลงทุนใดที่การันตีผลตอบแทน ไม่โลภ อย่าเห็นแก่ผลตอบแทนสูง
5. กล้าที่จะปฏิเสธเมื่อคนชวนทำธุรกิจที่มีลักษณะคล้ายแชร์ลูกโซ่
6. ตรวจสอบที่มาที่ไปของการลงทุน หรือสินค้าให้ดีก่อนการลงทุน
7. หลีกเลี่ยงการเข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มธุรกิจที่ไม่แน่ใจ เพราะอาจถูกหว่านล้อมให้ร่วมลงทุนในธุรกิจแชร์ลูกโซ่
8. เก็บหลักฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น หลักฐานทางการเงิน สัญญา เอกสารต่างๆ เผื่อเกิดปัญหาในภายหลัง
ทั้งนี้ หากพบเบาะแสการกระทำผิด หรือ ข้อขัดข้องใดๆ ก็สามารถติดต่อสอบถามได้ที่สายด่วนหมายเลข 1441 หรือหมายเลขโทรศัพท์ 081-866-3000 ตลอด 24 ชั่วโมง และแจ้งความออนไลน์ที่เว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com