xs
xsm
sm
md
lg

ตำรวจไซเบอร์ เตือนภัยอย่าหลงกลมิจฉาชีพส่งลิงก์ให้ติดตั้งแอปพลิเคชันหน่วยงานของรัฐ อ้างโครงการคนละครึ่งเฟสใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



โฆษก บช.สอท. เตือนภัยอย่าหลงกลมิจฉาชีพส่งลิงก์ให้ประชาชน หลอกลวงให้ติดตั้งแอปพลิเคชันหน่วยงานของรัฐ อ้างโครงการคนละครึ่งเฟสใหม่ ดูดเงินออกจากบัญชีได้อย่างง่ายดาย

วันนี้ (4 ก.พ.) พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ขอประชาสัมพันธ์เตือนภัย กรณีมิจฉาชีพส่งลิงก์ให้ประชาชน หลอกลวงให้ติดตั้งแอปพลิเคชันหน่วยงานของรัฐ อ้างโครงการคนละครึ่งเฟสใหม่ ดังนี้

ที่ผ่านมา บช.สอท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ทำการประชาสัมพันธ์ ออกมาแจ้งเตือนประชาชนอยู่บ่อยครั้ง กรณีมิจฉาชีพแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ส่งข้อความสั้น (SMS) หรือโทรศัพท์ไปยังประชาชน หลอกลวงให้เพิ่มเพื่อนผ่านแอปพลิเคชันไลน์ แล้วส่งลิงก์ให้ติดตั้งแอปพลิเคชันของกรมสรรพากรปลอม ซึ่งแฝงมากับมัลแวร์ (Malware) หรือโปรแกรมประสงค์ร้ายที่ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อทำอันตรายกับข้อมูลในระบบ เช่น ทำให้โทรศัพท์ของเหยื่อทำงานผิดปกติ ขโมยหรือทำลายข้อมูล หรือเปิดช่องทางให้มิจฉาชีพเข้ามาควบคุมโทรศัพท์ของเหยื่อได้ รวมไปถึงหลอกลวงให้กรอกข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทางการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้ตั้งรหัส PIN จำนวน 6 หลัก โดยประชาชนส่วนใหญ่มักจะใช้ชุดเลขรหัสเดียวกันกับรหัสแอปพลิเคชันของธนาคาร ทำให้มิจฉาชีพนำรหัสดังกล่าวไปใช้โอนเงินออกจากบัญชีของเหยื่อได้อย่างง่ายดาย

ทั้งนี้มิจฉาชีพมักจะอ้างว่าเพื่อเป็นการตรวจสอบรายได้ของท่าน หรือเป็นการแจ้งเตือนให้ชำระภาษี หรือให้ทำการยกเลิกเสียภาษีจากโครงการของรัฐบาล หรืออ้างว่าเป็นการขอใช้โครงการคนละครึ่งเฟสใหม่ หรืออ้างว่าสามารถช่วยเหลือไม่ให้เสียภาษีย้อนหลังได้ ผ่านแอปพลิเคชันกรมสรรพากรปลอมดังกล่าว เป็นต้น

แต่ในปัจจุบันยังคงพบว่ามีประชาชนหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปรากฏเป็นข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ล่าสุด กรณีผู้เสียหายถูกมิจฉาชีพอ้างเป็นเจ้าหน้าที่กรมประชาสัมพันธ์ศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์ ออกอุบายให้ผู้เสียหายติดตั้งแอปพลิเคชันของกรมสรรพากรปลอม เพื่อเป็นการขอใช้โครงการคนละครึ่งเฟสใหม่ ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปศาลากลางจังหวัด กระทั่งผู้เสียหายหลงเชื่อสูญเสียเงินกว่า 2 ล้านบาท เป็นต้น

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้ความสำคัญ และมีความห่วงใยต่อภัยการหลอกลวงผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแอบอ้างเป็นหน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่รัฐ หรืออ้างโครงการของรัฐ ไปหลอกลวงเอาทรัพย์สินของประชาชน สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งรับผิดชอบงานป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ได้กำชับสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดเร่งดำเนินการปราบปรามจับกุมผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง รวมถึงวางมาตรการป้องกันสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
ที่ผ่านมา กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชาผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบ

โฆษก บช.สอท. กล่าวอีกว่า การหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว ถือเป็นหนึ่งในแผนประทุษของมิจฉาชีพที่นำมาใช้ในการหลอกลวงประชาชน มีผู้เสียหายตกเป็นเหยื่อเข้าแจ้งความผ่านเว็บไซต์แจ้งความออนไลน์อย่างต่อเนื่อง เพียงแต่มิจฉาชีพจะปรับเปลี่ยนเนื้อเรื่องไปตามสถานการณ์ หรือวันเวลาให้เข้ากับสถานการณ์ในช่วงนั้นๆ นอกจากนี้สิ่งแรกๆ ที่มิจฉาชีพมักจะทำก่อนการหลอกลวงเสมอ คือ การสร้างความน่าเชื่อถือ เช่น แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานต่างๆ ตั้งรูปหน่วยงานนั้นๆ เป็นโปรไฟล์แอปพลิเคชันไลน์ใช้ในการพูดคุยกับเหยื่อ หรือใช้ข้อมูลที่มิจฉาชีพรู้บอกเหยื่อก่อน เช่น บอกว่าเหยื่อใช้โครงการคนละครึ่ง หรือบอกหมายเลขโทรศัพท์เหยื่อได้ถูกต้อง เป็นต้น นอกจากนี้จะเห็นได้ว่าผู้เสียหายส่วนใหญ่ที่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพมักจะประกอบอาชีพค้าขาย เกี่ยวข้องกับการเสียภาษี โดยมิจฉาชีพจะอาศัยความไม่รู้ของประชาชนเป็นเครื่องมือในการหลอกลวง

อย่างไรก็ตาม บช.สอท. ยังคงมุ่งมั่นปราบปราม กดดัน จับกุมผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมาย รวมถึงสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ และขอฝากไปยังภาคประชาชนช่วยแจ้งเตือนบุคคลใกล้ชิด หรือรายงานไปยังหน่วยงานรัฐ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว เพราะเมื่อเหยื่อโอนเงินไปยังบัญชีม้าของมิจฉาชีพแล้ว เงินดังกล่าวจะถูกโอนต่อไปอีกหลายๆ บัญชีอย่างรวดเร็วเพื่อป้องกันการถูกอายัดเงินในบัญชี จึงเป็นเรื่องยากที่จะนำเงินของเหยื่อกลับคืนได้ทันท่วงที

​ทั้งนี้ ขอฝากประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงแนวทางการป้องกัน 10 ข้อ ดังต่อไปนี้
1.ไม่กดลิงก์ใดๆ ที่เเนบมากับข้อความสั้น (SMS) หรือกดลิงก์ติดตั้งแอปพลิเคชันต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไฟล์ .APK เพราะอาจเป็นการดักรับข้อมูล หรือการฝังมัลแวร์ (Malware) ของมิจฉาชีพ
2.ไม่ติดตั้งโปรแกรม หรือแอปพลิเคชันที่ผู้อื่นส่งมาให้โดยเด็ดขาด แม้จะเป็นโปรแกรม หรือแอปพลิเคชันที่รู้จักก็ตาม เพราะอาจเป็นแอปพลิเคชันปลอม โดยหากต้องการใช้งานให้ทำการติดตั้งจากแหล่งที่เชื่อถือ และเป็นทางการเท่านั้น เช่น App Store หรือ Play Store
3.โดยปกติ หน่วยงานภาครัฐไม่มีนโยบายที่จะติดต่อประชาชนทางโทรศัพท์หรือ การส่งข้อความสั้น (SMS) หากมีการติดต่อให้ขอรายละเอียดที่เกี่ยวข้องไว้เพื่อติดต่อกลับหน่วยงานนั้นๆ ด้วยตนเอง และตรวจสอบนโยบายของหน่วยงานนั้นๆ ว่าเป็นอย่างไร
4.ระมัดระวังแอปพลิเคชันที่ขออนุญาตเข้าถึงข้อมูลต่างๆ เช่น ขอเข้าถึงอัลบั้มรูปภาพ, ไมโครโฟน, ตำแหน่งที่ตั้ง, หมายเลขโทรศัพท์, รายชื่อผู้ติดต่อ เป็นต้น โดยควรอนุญาตให้เข้าถึงเท่าที่จำเป็น
5.หากท่านติดตั้งแอปพลิเคชันในลักษณะดังกล่าวแล้ว ให้รีบเปิดโหมดเครื่องบิน (Airplane Mode) หรือปิดเครื่องเพื่อตัดสัญญาณไม่ให้โทรศัพท์สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ หรือทำการถอดซิมโทรศัพท์ออก จากนั้นเข้าไปติดต่อกับศูนย์บริการโทรศัพท์ที่ท่านใช้งานอยู่
6.ไม่กรอกข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทางการเงินใดๆ ลงในลิงก์ หรือแอปพลิเคชันที่เข้ามาในลักษณะดังกล่าวโดยเด็ดขาด
7.หมั่นติดตามข่าวสารจากทางราชการ หลีกเลี่ยงการกดลิงก์ที่ส่งต่อกันมาผ่านสื่อสังคมออนไลน์
8.โดยปกติประชาชนสามารถตรวจสอบสิทธิ วิธีการใช้งาน และลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการคนละครึ่งได้ที่เว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com โดยให้เพิ่มความระมัดระวังในการสังเกตชื่อเว็บไซต์อย่างละเอียดป้องกันการเข้าสู่เว็บไซต์ปลอมของมิจฉาชีพ
9.ไม่ตั้งรหัสการทำธุรกรรมการเงิน หรือรหัส PIN 6 หลัก เหมือนกันทุกธนาคาร
10.แจ้งเตือน ไปยังบุคคลใกล้ตัว หรือบุคคลอื่น เพื่อลดโอกาสในการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ


กำลังโหลดความคิดเห็น