ศาลอาญาอนุญาต ส่ง “เตียว ฮุย ฮวด” นักธุรกิจหมื่นล้าน หลอกระดมทุน ไปดำเนินคดีที่ประเทศจีน ส่วนมาเลเซียยื่นอัยการขอส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนเช่นกัน
วันนี้ (18 ม.ค.) ศาลอาญา นัดฟังคำสั่งในคดี ขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนหมายเลขดำที่ ผด9/2565 ที่พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน นายเตียว ฮุย ฮวด หรือ โทนี่ เตียว เจ้าของอาณาจักรเอ็มบีไอ กรุ๊ป ซึ่งมีบริษัทในเครือประกอบธุรกิจโรงแรม สถานบันเทิง สวนสนุก ตลาด ก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และเฟอร์นิเจอร์ โดยเป็นเจ้าของธุรกิจเอนเตอร์เทนเมนต์ มูลค่ามากกว่า 10,000 ล้านบาท
คำร้องระบุสรุปว่า เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 65 รัฐบาลจีนโดย สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ได้มีคำร้องขอให้รัฐบาลไทยส่งตัว นาย เตียว ฮุย ฮวด บุคคลสัญชาติมาเลเซีย เป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปดำเนินคดีที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ในความผิดฐานจัดตั้งองค์กรที่ชักจูงและประกอบการขายตรง โดยแอบอ้างเป็นธุรกิจการให้บริการ โดยให้ผู้เข้าร่วมชำระเงินค่าบริการหรือซื้อสินค้าเพื่อเข้าเป็นสมาชิก ให้มีการจัดลำดับชั้น ที่มีลักษณะแชร์ลูกโซ่เพื่อขยายฐานผู้เข้าร่วมมากขึ้น เพื่อนำมาคิดคำนวณเป็นค่าตอบแทน มีพฤติกรรมชักชวน ข่มขู่ให้ผู้อื่นมาเข้าร่วม หลอกเอาทรัพย์สิน โดยส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม ตามประมวลกฎหมายอาญาสาธารณรัฐประชาชนจีน มาตรา 224 วรรคหนึ่ง มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และโทษปรับ และหากเป็นกรณีที่มีพฤติการณ์ร้ายแรงมีอัตราโทษจำคุก 5 ปีขึ้นไป และโทษปรับ
จากการสืบสวนสอบสวนของทางการจีน ได้ความว่า เมื่อประมาณปี 2552 จำเลยกับพวกอีกหลายคนได้ร่วมกันก่อตั้งบริหารกลุ่มบริษัทบริหารสินทรัพย์ระหว่างประเทศ หรือบริษัท MBI ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในสหพันธรัฐมาเลเซีย โดยมีจำเลยดำรงตำแหน่งประธานบริษัท จากนั้นได้ก่อตั้งแพลตฟอร์มทางการเงินที่เรียกชื่อย่อว่า “MFC” และ “MIT” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ทำหน้าที่ขยายธุรกิจเครือข่าย ผ่านแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ มีการจัดงานสัมมนาชักชวนให้บุคคลเข้ามาร่วมลงทุน โดยผู้ที่เข้าร่วมลงทุนจะต้องชำระเงินเป็นค่าสมาชิก ซึ่งจำเลยกับพวกดังกล่าวได้ร่วมกันหลอกลวงว่าการลงทุนมีกำไรผลตอบแทน สูง ไม่มีขาดทุนเพื่อจูงใจให้บุคคลเข้าร่วมลงทุน ทำให้ยิ่งสมารถขยายธุรกิจระดับล่างหรือดาวน์ไลน์มากจะยิ่ง ทำกำไรได้มาก และชักชวนให้นักลงทุนชักชวนบุคคลอื่นมาสมัครสมาชิก โดยจะต้องจ่ายค่าสมาชิกและลงทุนซื้อสกุลเงินดิจิทัลโดยผู้ชักชวนจะได้รับคะแนนเงินรางวัลค่าแนะนำและสิทธิมากมายเป็นการตอบแทน และ หลอกลวงอีกว่า บริษัท MBI ได้ร่วมลงทุนเป็นเงินจำนวน 1.5 พันล้านหยวน ในโครงการด้านการท่องเที่ยว กับรัฐบาลกุ้ยโจว ในปี 2559 แต่บริษัท MBI ของจำเลยไม่ได้ร่วมลงทุนด้านการท่องเที่ยวกับรัฐบาลกุ้ยโจวแต่อย่างใด เงินรายได้ของบริษัท MBI จึงมาจากการหลอกลวงให้สมาชิกรายใหม่ร่วมลงทุนในลักษะองค์กร รูปทรงพีระมิด หรือแชร์ลูกโซ่ โดยไม่มีการนำเงินไปลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนจริง พฤติการณ์ของจำเลยกับพวกดังกล่าวที่ได้ร่วมกันหลอกลวงได้เงินมาอย่างมิชอบด้วยกฎหมาย เหตุเกิดเมื่อระหว่างปี 52-63 ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน และ สหพันธรัฐมาเลเซีย เกี่ยวพันกัน กระทรวงการต่างประเทศในฐานะฝ่ายบริหารซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายได้
พิจารณาแล้วเห็นว่า คำร้องขอของทางการจีน ให้ส่ง นายเดียว ฮุย ฮวด จำเลย บุคคลสัญชาติมาเลเซียเป็นผู้ร้ายข้ามแดนกลับไปดำเนินคดีที่สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นไปตามสนธิสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทย กับ สาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ความผิดตามคำร้องขอดังกล่าว กฎหมายไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนถือเป็นความผิดอาญามีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป และคดียังไม่ขาดอายุความ ทั้งมิใช่เป็นความผิดที่มีลักษณะทางการเมืองหรือเป็นความผิดทางทหาร และมีการออกหมายจับบุคคลดังกล่าวไว้แล้วในประเทศผู้ร้องขอ โดยความผิดที่ร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนเป็นความผิดตามกฎหมายไทยเทียบได้กับความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และชักชวนบุคคลเข้าร่วมเครือข่ายในการประกอบธุรกิจขายตรง หรือในการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง โดยตกลงว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่ายดังกล่าว ตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 4, 5 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 พ.ร.บ.ขายตรงและการตลาดแบบตรง พ.ศ. 2555 มาตรา 19 ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป และผู้ถูกร้องขอยังไม่เคยได้รับการพิจารณาหรือพิพากษาลงโทษหรือปล่อยตัวสำหรับข้อหาดังกล่าวในราชอาณาจักรไทย หรือสาธารณรัฐประชาชนจีนมาก่อน ทั้งทางการสาธารณรัฐประชาชนจีน ยืนยันว่า คดียังไม่ขาดอายุความ โดยผู้ร้องขอขอให้ศาลอาญาออกหมายจับผู้ถูกร้องขอแล้ว ต่อมาวันที่ 22 ส.ค. 55 ตำรวจจับผู้ถูกร้องขอได้ ขอให้มีคำสั่งขังผู้ถูกร้องขอไว้เพื่อส่งข้ามแดนไปยังสาธารณรัฐ ประชาชนจีน ตามพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน
ผู้ถูกร้องขอยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ถูกร้องขอถูกกลั่นแกล้งโดยพรรคการเมืองพรรคหนึ่งในประเทศไทย ร่วมมือกับนักการเมืองในจีนบางส่วน ทั้งที่ทราบดีว่าผู้ถูกร้องขอไม่ได้กระทำความผิดตามคำร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนของจีน และเหตุในคดีนี้เกิดเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 55 จนถึงวันฟ้องเป็นเวลาเกิน 10 ปีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายของประเทศใดคดีที่โจทก์กล่าวอ้างขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังยุติได้ว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนมีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับราชอาณาจักรไทย มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 52 รัฐบาลจีนโดยสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย มีคำร้องขอให้รัฐบาลไทยส่งตัวนายเตียว ฮุย ฮวด สัญชาติมาเลเซีย ไปดำเนินคดีในจีน ในความผิดฐานจัดตั้งองค์กรที่ชักจูงและประกอบการขายตรง โดยแอบอ้างเป็นธุรกิจการให้บริการ โดยให้ผู้เข้าร่วมชำระเงินค่าบริการหรือซื้อสินค้าเพื่อเข้าเป็นสมาชิก ให้มีการจัดลำดับชั้น ที่มีลักษณะแชร์ลูกโซ่เพื่อขยายฐานผู้เข้าร่วมมากขึ้น เพื่อนำมาคิดคำนวณเป็นค่าตอบแทน มีพฤติกรรมชักชวน ข่มขู่ให้ผู้อื่นมาเข้าร่วม หลอกเอาทรัพย์สิน โดยส่งผลกระทบเศรษฐกิจและสังคมฯ
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่าคดีของผู้ถูกร้องขอขาดอายุความแล้วหรือไม่ ผู้ร้องขอมี น.ส.สะลินน์ พุทธพิทักษ์ เจ้าหน้าที่กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ เป็นพยานเบิกความว่า ตามคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนสาธารณรัฐประชาชนจีน ยืนยันว่า ผู้ถูกร้องขอได้กระทำการมิชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่ปี 55-63 ซึ่งสำนักงานตำรวจความมั่นคงสาธารณะแห่งนครฉงชิ่ง เขตอวี่เป่ย ได้ยื่นคำร้องเพื่อสอบสวนผู้ถูกร้องขอแล้ว ตั้งแต่วันที่ 9 พ.ย. 63 การกระทำความผิดของผู้ถูกร้องขอจึงไม่จํากัดเวลาในการดำเนินคดี ตามมาตรา 88 แห่งประมวลกฎหมายอาญาของสาธารณรัฐประชาชนจีน
โดยผู้ถูกร้องขอนำสืบเพียงว่า หลังจากเดือน มี.ค. 55 ผู้ถูกร้องขอไม่ได้เดินทางเข้าไปในสาธารณรัฐประชาชนจีนอีก แต่ผู้ถูกร้องขอนำสืบว่ารับบริษัทของผู้ถูกร้องขอดำเนินธุรกิจที่สหพันธรัฐมาเลเซีย โดยมีการออนไลน์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนผ่านแพลตฟอร์ม MFC เห็นว่า การดำเนินธุรกิจของผู้ถูกร้องขอเป็นแบบออนไลน์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตผู้ถูกร้องขอเป็นผู้บริหาร องค์กรจึงไม่จำเป็นต้องเดินทางไปสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อดำเนินธุรกิจของตนด้วยตนเอง ข้ออ้างของผู้ถูกร้องขอไม่ทำให้ข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องขอนำสืบเปลี่ยนแปลงไป ข้อเท็จจริงพอรับฟังได้ว่าผู้ถูกร้องขอกระทำผิดตั้งแต่ปี 55-63 เมื่อทางการจีนยืนยันว่ามีการสอบสวนผู้ถูกร้องขอตั้งแต่วันที่ 9 พ.ย. 63 และคดียังไม่ขาดอายุความตามกฎหมายอาญาของจีน และความผิดของผู้ถูกร้องขอเทียบได้กับความผิดความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และชักชวนบุคคลเข้าร่วมเครือข่ายในการประกอบธุรกิจขายตรง หรือในการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง โดยตกลงว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่ายดังกล่าว ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป และมิใช่ความผิดที่มีลักษณะทางการเมืองหรือเป็นความผิดทางทหาร และผู้ถูกร้องขอไม่เคย ได้รับการพิจารณาหรือพิพากษาลงโทษหรือปล่อยตัวสําหรับการกระทำดังกล่าวจากศาลไทยหรือศาลของ สาธารณรัฐประชาชนจีนมาก่อน และผู้ร้องขอยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 65 ยังไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่ผู้ถูกร้องขอกระทำความผิด จึงยังไม่ขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 55
ปัญหาว่าพยานหลักฐานในคดีมีเหตุให้ศาลมีคำสั่งขังผู้ถูกร้องขอไว้เพื่อส่งข้ามแดนต่อไป หรือไม่ น.ส.สะลินน์ เบิกความว่า กระทรวงการต่างประเทศตรวจสอบคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่ได้รับ จากสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย แล้วพบว่า เอกสารถูกต้องครบถ้วนตามสนธิสัญญาและกฎหมายภายในประเทศ ทั้งมีการประทับตรารับรองจากผู้มี อำนาจแล้วทำให้สามารถเชื่อได้ว่าข้อความที่ระบุในคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนเป็นความจริง ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาในหนังสือยินยอมความผูกพันของเจ้าหน้าที่ตำรวจแห่งสำนักงานความมั่นคงสาธารณะนครฉงชิ่ง ผู้รับผิดชอบคดีอาญาของผู้ถูกร้องขอในสาธารณรัฐประชาชนจีนตามซึ่งสาธารณรัฐประชาชนจีนส่งมาประกอบคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน ยืนยันว่า มีการสืบสวน สอบสวนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ประกอบกับเอกสารที่เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงินระหว่างชาวมาเลเซียและผู้แชร์ลูกโซ่ บริษัท MBI ในหนังสือยินยอมความผูกพันปรากฏรายการทำธุรกรรมทางการเงินเข้าบัญชีต่างๆ ทั้งในสหพันธรัฐมาเลเซีย และสาธารณรัฐประชาชนจีน
นอกจากนี้ ผู้ร้องขอมีคำฟ้องของสำนักงานอัยการ ประชาชนเขตอเป่ย นครฉงชิ่ง ซึ่งยื่นฟ้องผู้ร่วมกระทำความผิดกับผู้ถูกร้องขอเป็นจำเลยในสาธารณรัฐประชาชนจีน
ซึ่งเมื่อพิจารณาหมายจับดังกล่าวและหนังสือร้องขอแล้วเป็นกรณีที่ผู้ถูกร้องขอถูก หมายจับในข้อหาฉ้อโกง
ที่ผู้ถูกร้องขอต่อสู้ว่าผู้ถูกร้องขอดำเนินธุรกิจในราชอาณาจักรไทยและในสหพันธรัฐมาเลเซียอย่างถูกต้องตามกฎหมายแต่ผู้ถูกร้องถูกเจ้าพนักงานตำรวจ พรรคการเมืองในประเทศไทย และ นักการเมืองในสาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมมือกันกลั่นแกล้งผู้ถูกร้องแต่ผู้ถูกร้องขอเบิกความยืนยันว่าไม่เคยถูกเรียกรับเงินจากนักการเมืองในจีน และไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงในการกลั่นแกล้ง ของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยผู้ถูกร้องขอเข้าใจว่าอาจมีสาเหตุมาจากโครงการที่ผู้ถูกร้องขอทำร่วมกับคนชาติจีนในมณฑลกุ้ยโจว ข้ออ้างดังกล่าวล้วนแต่เป็นความเข้าใจของผู้ถูกร้องขอไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง
พยานหลักฐานที่ผู้ร้องขอนำสืบมาดังกล่าวบ่งชี้ว่าผู้ถูกร้องขอกับพวกโดยทุจริตร่วมกันหลอกลวงประชาชน นั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม โฆษณา หรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชน หรือกระทำด้วยประการใดๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปว่า ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่า ในการกู้ยืมเงิน ตนหรือบุคคลใดจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้ตามพฤติการณ์แห่งการกู้ยืมเงิน ในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะ พึงจ่ายได้โดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าตนหรือบุคคลนั้นจะนำเงินจากผู้ให้กู้ยืมเงินรายนั้นหรือรายอื่นมา จ่ายหมุนเวียนให้แก่ผู้ให้กู้ยืมเงิน หรือโดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าตนหรือบุคคลนั้นไม่สามารถประกอบกิจการใดๆ โดยชอบด้วยกฎหมายที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงที่จะนำมาจ่ายในอัตรานั้นได้ และในการนั้นเป็นเหตุให้ตนหรือบุคคลใดได้กู้ยืมเงินไป และชักชวนบุคคลเข้าร่วมเครือข่ายในการประกอบธุรกิจ ขายตรง หรือในการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง โดยตกลงว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่ายดังกล่าว
ซึ่งหากในชั้นพิจารณาของศาล ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำร้องขอดังกล่าว การกระทำของผู้ถูกร้องขอย่อมครบองค์ประกอบความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ฉ้อโกง ประชาชน และชักชวนบุคคลเข้าร่วมเครือข่ายในการประกอบธุรกิจขายตรง
คดีของผู้ร้องขอมีมูล เมื่อ นายเตียว ฮุย ฮวด ผู้ถูกร้องขอมีสัญชาติมาเลเซีย ที่รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ร้องขอให้รัฐบาลไทยส่งตัวผู้ถูกร้องขอไปดำเนินคดีที่สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยสาธารณรัฐประชาชนจีน และราชอาณาจักรไทย มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน และคำฟ้องของผู้ร้องขอมีมูลที่จะประทับฟ้องไว้ พิจารณา หากความผิดนั้นได้กระทำลงในราชอาณาจักรและความผิดดังกล่าวกฎหมายสาธารณรัฐประชาชน จีนและกฎหมายแห่งราชอาณาจักรไทยกำหนดให้เป็นความผิดอาญาที่มีโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป และมิใช่ความผิดที่มีลักษณะทางการเมืองหรือเป็นความผิดทางทหาร ตามความแห่ง พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2551 มาตรา 19 จึงมีเหตุให้ขังผู้ถูกร้องขอไว้เพื่อส่งข้ามแดนต่อไป อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 19 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ. ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2551
จึงมีคำสั่งขังผู้ถูกร้องขอไว้เพื่อส่งตัวข้ามแดนไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน ต่อไป แต่มิให้ส่งตัวผู้ถูกร้องขอข้ามแดนก่อนครบระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งขังเพื่อส่งข้ามแดน และถ้ามิได้ส่งผู้ถูกร้องขอข้ามแดนภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งถึงที่สุดหรือภายใน กำหนดเวลาที่ศาลได้อนุญาตให้ขยายออกไป ให้ปล่อยตัวผู้ถูกร้องขอไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 ม.ค.ที้ผ่านมา ทางสถานเอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำประเทศไทย ได้มีหนังสือถึง อธิบดีอัยการสำนักงานต่างประเทศ ในฐานะผู้ประสานงานกลาง เกี่ยวกับคำร้องขอจับกุมชั่วคราวของรัฐบาลมาเลเซียต่อรัฐบาลไทยถึง นายเตียว ฮุย ฮวด ผู้หลบหนีดังกล่าวเป็นที่ต้องการตัวสำหรับการดำเนินคดีในความผิดฐานฉ้อโกงและส่งมอบทรัพย์สินโดยไม่สุจริต ซึ่งเป็นความผิดภายใต้บทบัญญัติมาตรา 420 ของประมวลกฎหมายอาญามาเลเซีย (พระราชบัญญัติ 574) มีโทษจำคุกไม่ต่ำกว่าหนึ่งปีและไม่เกินสิบปี และมีการเฆี่ยนตีและต้องระวางโทษปรับด้วย โดยสถานเอกอัครราชทูต ขอเน้นย้ำว่า คำขอจับกุมชั่วคราวเป็นไปตาม พ.ร.บ.ส่งผู้ร้าย ข้ามแดน พ.ศ. 2535 (พระราชบัญญัติ 479) และสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างประเทศไทยและสหราชอาณาจักร พ.ศ. 2454 ซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 4 มี.ค.54 และบังคับใช้กับ มาลายา (และต่อมาภายหลังคือ ประเทศมาเลเซีย) และราชอาณาจักรไทยโดยการแลกเปลี่ยน ทางการทูตลงวันที่ 27 ต.ค. 2502