xs
xsm
sm
md
lg

อัยการชี้ กม.ป้องกันทรมานและอุ้มหาย จะเริ่มใช้เดือน ก.พ.ปีหน้า เจ้าหน้าที่จับใครต้องแจ้งอัยการ ฝ่ายปกครองด้วยทันที

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด
“อัยการธนกฤต” ชี้ พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหาย ที่จะเริ่มใช้เดือน ก.พ.ปีหน้า เจ้าหน้าที่คุมตัวบุคคลทุกคดีต้องแจ้งพนักงานอัยการ ฝ่ายปกครองทันที หรือหากพบเหตุทรมาน หรืออุ้มหาย ร้องศาลยุติธรรมสั่งยุติการกระทำได้

วันนี้ (27 ธ.ค.) ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายพัฒนากฎหมาย สำนักงานวิชาการ ได้โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเห็นสาระสำคัญที่น่าสนใจ ของ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2656 ว่า พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายฯ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป โดยการบัญญัติ พ.ร.บ.ดังกล่าวนี้ มาบังคับใช้ เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ซึ่งประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีโดยการภาคยานุวัติ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2550 และมีผลบังคับใช้กับประเทศไทยเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance (CED) ) ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาแล้ว เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2555 แต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบันเพื่อเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญา อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ประเทศไทยเพียงแต่ลงนามในอนุสัญญาเท่านั้น แต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคี ทำให้ประเทศไทยยังไม่ผูกพันตามพันธกรณีในอนุสัญญาฉบับนี้ (CED) แต่ตามอนุสัญญาเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ. 1969 มาตรา 18 กำหนดให้ประเทศไทยซึ่งลงนามในอนุสัญญาแล้วต้องผูกพันที่จะหลีกเลี่ยงการกระทำใดๆ อันเป็นการทำลายวัตถุประสงค์และความมุ่งหมายของอนุสัญญานี้ด้วย


พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายฯ เป็นกฎหมาย ที่ใช้บังคับกับการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐใน 3 ฐานความผิดดังต่อไปนี้ 1. การกระทำความผิดฐานกระทำทรมาน 2. การกระทำความผิดฐานกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และ 3. การกระทำความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหาย

สาระสำคัญที่น่าสนใจของ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายฯ กล่าวโดยสังเขปเฉพาะประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

1. กำหนดให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน และมีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม รับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการ

2. เมื่อมีการควบคุมตัวบุคคลใด เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบจะต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับและควบคุมตัว จนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัวบุคคลดังกล่าวไป

3. เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐควบคุมตัวบุคคลใด เจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องแจ้งอัยการและนายอำเภอในท้องที่ที่มีการควบคุมตัวโดยทันที สำหรับในกรุงเทพมหานครให้แจ้งอัยการและผู้อำนวยการสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง

หากอัยการ นายอำเภอ หรือ ผู้อำนวยการสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง ผู้รับแจ้ง แล้วแต่กรณี เห็นว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่า จะมีการทรมาน การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย ให้ยื่นคำร้องต่อศาลท้องที่ที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญา เพื่อให้ศาลมีคำสั่งยุติการกระทำดังกล่าว เมื่อศาลได้รับคำร้องแล้ว ให้ศาลทำการไต่สวนฝ่ายเดียว

4. เมื่อบุคคลใดพบเห็นหรือทราบการทรมาน การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือ ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย สามารถแจ้งพนักงานฝ่ายปกครอง อัยการ พนักงานสอบสวน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย หรือคณะอนุกรรมการที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการฯ ได้โดยทันที

ทั้งนี้ ให้ผู้รับแจ้งดังกล่าวข้างต้นยื่นคำร้องต่อศาลท้องที่ที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญา เพื่อให้ศาลมีคำสั่งยุติการกระทำดังกล่าว และเมื่อศาลได้รับคำร้องแล้ว ให้ศาลทำการไต่สวนฝ่ายเดียว

5. นอกจากพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้ว ให้พนักงานฝ่ายปกครองชั้นผู้ใหญ่ พนักงานฝ่ายปกครองตำแหน่งตั้งแต่ปลัดอำเภอหรือเทียบเท่าขึ้นไปในสังกัดกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และอัยการ เป็นพนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนและรับผิดชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และดำเนินคดีความผิดตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายฯ และความผิดอื่นที่เกี่ยวพันกัน

6. ในกรณีที่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษทำการสอบสวนคดีความผิดตาม พ.ร.บ. นี้คดีใด ให้คดีนั้นเป็นคดีพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ

7. กรณีการสอบสวนที่กระทำโดยหน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่อัยการ ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบแจ้งเหตุแห่งคดีให้อัยการทราบ เพื่อให้อัยการเข้าตรวจสอบหรือกำกับการสอบสวนโดยทันที

8. ให้พนักงานสอบสวนหรืออัยการแล้วแต่กรณี แจ้งให้ผู้เสียหายทราบถึงสิทธิที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. นี้ และสิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมาย ในกรณีที่ผู้เสียหายมีสิทธิและประสงค์ที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทน ให้อัยการเรียกค่าสินไหมทดแทนแทนผู้เสียหายด้วย

9. ให้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเป็นศาลที่มีเขตอำนาจเหนือคดีความผิดตาม พ.ร.บ. นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น