MGR Online - ดีเอสไอ รับมอบสำนวนจากตำรวจ สอท.1 สืบสวนสอบสวนคดี “P Miner” หลังรับเป็นคดีพิเศษ หลอกผู้เสียหายลงทุนจำนวนมาก เสียหาย 1,200 ล้านบาท
วันนี้ (28 พ.ย.) เวลา 13.00 น. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการกองบริหารคดีพิเศษ พร้อมด้วย ร.ต.อ.วิษณุ ฉิมตระกูล ผอ.กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ และ พ.ต.อรรคริน ลัทธศักดิ์ศิริ ผอ.ส่วนคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ 3 พร้อมด้วย คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 290/2565 รับมอบสำนวนจาก พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ คล้ายคลึง ผบก.ตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 และ พ.ต.อ.รชตโชค ลีวาณิชคุณ ผกก. (สอบสวน) กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 (บก.สอท.1)
กรณี ห้างหุ้นส่วนจำกัด พี มายเนอร์ คริปโตเคอเรนซี่ กรุ๊ป กับพวก พร้อมด้วยทรัพย์สินที่พนักงานสอบสวน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ทำการยึด ไว้เป็นของกลางในคดี อาทิเช่น รถยนต์ยี่ห้อ Bentley สีดำ รุ่น Bentayga จำนวน 1 คัน รถยนต์ยี่ห้อ LAMBORGHINI สีเหลือง รุ่น HURACAN LP610-4 COUPE จำนวน 1 คัน รถยนต์ยี่ห้อ FERRARI สีแดง รุ่น 488 SPIDER จำนวน 1 คัน รถยนต์ยี่ห้อ PORSCHE รุ่น BOXSTER 718 สีเทา จำนวน 1 คัน และ ของกลางอื่นๆ อีกหลายรายการ เพื่อให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ดีเอสไอ รับไว้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนตามอำนาจหน้าที่ต่อไป ซึ่งขณะนี้มีผู้เสียหายรวมแล้วมากกว่า 1,000 คน มูลค่าความเสียหายมากกว่า 1,200 ล้านบาท
พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ เปิดเผยว่า ได้มีการแจ้งความไว้กับ สอท.1 จำนวน 721 ราย ความเสียหายเกือบ 1,000 ล้านบาท โดยได้มีการสอบปากคำไปแล้วส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งก็จะส่งต่อให้ดีเอสไอ อีกทั้งมีการออกหมายจับไปแล้ว 4 ราย ได้แก่ 1. นายกิติกร อินต๊ะ หรือ เป้ P Miner 2. น.ส.ณัฐวดี พรหมปัญญา (ภรรยานายกิติกร) 3. นายกันติพัส อินต๊ะ (พี่ชายนายกิติกร) และ 4. นางอนงค์ อินต๊ะ (มารดานายกิติกร) ซึ่งทั้งหมดหลบหนีอยู่ที่ต่างประเทศแต่ได้มีการดำเนินการออกหมายแดงไปแล้ว รวมถึงได้มีการอายัดบัญชีธนาคารออมทรัพย์ เบื้องต้นจำนวน 117 บัญชี ยอดรวม 112 ล้านบาท และได้อายัดคริปโตเคอเรนซี หรือบิตคอยน์ ประมาณ 40 บิตคอยน์ รวมเป็นจำนวนเงินเกือบ 22 ล้านบาท พร้อมได้ยึดรถหรูอีก จำนวน 6 คัน รวมการยึดมอเตอร์ไซค์และรถยนต์หรู รวมเป็นทรัพย์สินจำนวน 100 กว่าล้านบาท ซึ่งจากนี้จะเป็นการดำเนินการของดีเอสไอต่อไป
พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ กล่าวอีกว่า สำหรับ 3 ข้อหาที่แจ้งผู้กระทำผิดทั้ง 4 ราย ประกอบด้วย ฐานความผิด พ.ร.ก.ว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527, ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และ ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการ ที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน
ด้าน ร.ต.อ.วิษณุ เผยว่า ดีเอสไอได้รับเป็นคดีพิเศษ หลังจากได้ร่วมบูรณาการเรื่องข้อมูลกับ สอท.1 มาตลอด โดย สอท.1 ได้ยึดทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูงหลายรายการ โดยเฉพาะเครื่องขุดบิตคอยน์ ประมาณ 100 เครื่อง จากการสอบสวนของของ สอท.1 พบว่าไม่มีการใช้เครื่องเลย จึงเห็นได้ว่ามีพฤติกรรมชัดเจนในการชักชวนหลอกลวงให้ผู้เสียหายเกือบพันรายร่วมลงทุนเทรดเหรียญและลงทุน
ร.ต.อ.วิษณุ กล่าวอีกว่า ส่วนรถหรูบางคันจาก 6 คันที่ยึดมานั้น พบว่าบางคันเป็นรถที่เขาใช้ไว้กระทำผิด เช่น ลัมบอร์กินี่ 1 คัน เฟอร์รารี่ 1 คัน ซึ่งผู้ต้องหาเอาไว้โชว์ให้ผู้เสียหายดูว่าถ้าลงทุนกับเขาจะได้ผลตอบแทนจำนวนมาก ดังนั้น รถทั้งสองคันนี้จึงเชื่อได้ว่าเป็นรถที่มาจากการกระทำผิด ส่วนทรัพย์สินอื่นๆ ที่มีมูลค่าที่ สอท.1 ได้ตรวจสอบไว้ เราก็จะนำมาแยกว่าส่วนไหนนำส่งให้ ปปง. ได้ เพื่อ ปปง. ดำเนินการเยียวยาผู้เสียหายได้เร็วขึ้น
“ส่วนผู้เสียหายที่เหลือเตรียมเปิดลงทะเบียนในระบบ QR CODE อีกครั้งในวันที่ 1 ธ.ค.นี้ จนถึง 31 ม.ค. 66 ที่หน้าเว็บไซต์ของกรมสอบสวนคดีพิเศษที่ www.dsi.go.th นอกจากนี้ นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีดีเอสไอ ก็ได้ให้นโยบายด้วย ว่า ดีเอสไอต้องรีบดูเรื่องทรัพย์สินเพื่อจะยึดเพิ่ม เพื่อจะเยียวยาผู้เสียหายให้มากที่สุด”
ร.ต.อ.วิษณุ กล่าวต่อว่า ส่วนถ้ามีผู้เกี่ยวข้องเพิ่มเติมจากการกระทำความผิดดังกล่าวจากการสอบปากคำผู้เสียหายหลังจากนี้ เราก็จะดำเนินคดีร่วมทุกราย และจะนำตัวผู้กระทำผิดกลับมารับโทษทุกราย ทั้งนี้ หลังจากรับสำนวนจาก สอท.1 มาแล้ว เราก็จะดำเนินการตรวจสำนวนและพยานหลักฐานต่างๆ เพื่อดูว่ามีการถ่ายโอนทรัพย์สินไปต่างประเทศหรือไม่ หรือยักย้ายถ่ายเทไปที่ใดอีก ทั้งนี้ จะเริ่มสอบปากคำผู้เสียหายได้ภายหลังจากรวบรวมยอดผู้เสียหายจากทุกช่องทาง อย่างไรก็ตาม จะลงทุนอะไรให้ดูว่าได้รับการรับรองจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) หรือไม่ ถ้าไม่มีการอนุญาตหรือรับรอง ขอให้ระมัดระวังการร่วมลงทุน เพราะอาจถูกหลอกได้