MGR Online - ดีเอสไอ ลุยตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย 5 จุด 2 จังหวัด กระบี่-ตรัง คดีทุจริตและยักยอกทรัพย์ในชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ จำกัด
วันนี้ (10 พ.ย.) นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เผยว่า ตามที่ กรมสอบสวนสคดีพิเศษ ได้ปฏิบัติหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ ที่ 215/2564 กรณี การทุจริตและยักยอกทรัพย์ในชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ จำกัด มาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้มอบหมายให้ ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ ผอ.กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ และคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ นำหมายค้นของศาลจังหวัดกระบี่และศาลจังหวัดตรัง เข้าทำการตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย 2 จังหวัด รวม 5 จุด ประกอบด้วย พื้นที่ จ.กระบี่ 3 จุด และในพื้นที่ จ.ตรัง อีก 2 จุด ดังนี้
จุดที่ 1.บ้านเลขที่ 117 หมู่ 2 ต.ทรายขาว อ.คลองท่อม จ.กระบี่ จุดที่ 2.บ้านเลขที่ 5 หมู่ 1 ต.พรุดินนา อ.คลองท่อม จ.กระบี่ โดยมีผู้ครอบครอง คือ บุคคลที่ปรากฎข้อมูลว่าเป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงในนามของบริษัท กระบี่วิเศษน้ำมันปาล์ม จำกัด และต่อมา ชุมนุมสหกรณ์ฯ ได้ยื่นหนังสือกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมร่วมกันอดีตบริหารชุมนุมสหกรณ์ฯ และเป็นกลุ่มผู้จัดตั้งบริษัท กระบี่วิเศษน้ำมันปาล์ม จำกัด เข้าร่วมกันครอบครองทำประโยชน์ในโรงงานหรือทรัพย์ที่เกิดจากการกระทำความผิด
จุดที่ 3.บ้านเลขที่ 19 ถนนจันทร์กวีกูล ต.ปากน้ำ อ.เมืองกระบี่ จ.กระบี่ ซึ่งมีผู้ครอบครองที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีส่วนร่วมกับการประชุมของคณะกรรมการและมีบทบาทสำคัญ ในการชักจูงให้ชุมนุมสหกรณ์ฯ ขายโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม สาขาคลองท่อม และยังปรากฏข้อมูลว่าอาจเป็นผู้ยกร่างสัญญาจะซื้อจะขายโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม สาขาคลองท่อม เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัท กระบี่วิเศษน้ำมันปาล์ม จำกัด ในการเข้าทำสัญญากับชุมนุมสหกรณ์ฯ
จุดที่ 4.บ้านเลขที่ 62 ถนนจริงจิตร ต.ทับเที่ยง อ.เมืองตรัง จ.ตรัง และ จุดที่ 5.บ้านเลขที่ 20/35 ถนนบางรัก ต.ทับเที่ยง อ.เมืองตรัง จ.ตรัง โดยนิติบุคคลซึ่งปรากฏข้อมูลว่า ผู้บริหารของชุมนุมสหกรณ์ฯ ที่เป็นผู้ต้องหาในคดี มีการนำรถส่วนตัวของตนมาเข้าร่วมรับจ้างขนย้ายน้ำมันปาล์มจากชุมนุมสหกรณ์ฯ ในนามของนิติบุคคลขนส่งที่จังหวัดตรัง และยังปรากฏข้อมูลจากพยานบุคคลว่ามีผู้ต้องหาซึ่งเป็นอดีตผู้บริหารในชุมนุมสหกรณ์ฯ บางราย มีการโอนรถยนต์บรรทุกพ่วง มีชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์เป็นนิติบุคคลดังกล่าว มาเพื่อเป็นการชำระหนี้ของตนเอง
พฤติการณ์นิติบุคคลและบุคคลที่เกี่ยวข้อง จึงอาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐาน “สนับสนุนผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่น กระทำผิดหน้าที่ของตนด้วยประการใดๆ โดยทุจริตจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน” และ “ในกรณีที่สหกรณ์กระทำความผิดกรรมการหรือผู้จัดการ ซึ่งเป็นผู้ลงมติให้สหกรณ์ดำเนินการหรืองดเว้นการดำเนินการ หรือเป็นผู้ดำเนินการหรือรับผิดชอบในการดำเนินการนั้น ได้กระทำผิดหน้าที่ของตนด้วยประการใดๆ โดยทุจริต” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 353 และพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 มาตรา 51/1 มาตรา 51/2 ประกอบมาตรา 133/5 ประกอบมาตรา 86 และพฤติการณ์ยังอาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐาน “ร่วมกันฟอกเงิน”
สำหรับผลการตรวจค้น พบสมุดบัญชีเอกสารและข้อมูลที่เกี่ยวข้องหลายรายการ ซึ่งกองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ได้ดำเนินการยึดอายัดเพื่อนำมาตรวจสอบและจะเร่งดำเนินการสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีกับบุคคล นิติบุคคลที่เกี่ยวข้องต่อไป
คดีนี้เป็นคดีสำคัญที่มีผลกระทบก่อให้เกิดความเสียหายต่อสหกรณ์และเกษตรกรชาวสวนปาล์ม เป็นวงกว้าง เป็นคดีที่สื่อมวลชนและประชาชนให้ความสนใจ เนื่องจากมีรูปแบบการทุจริตเชิงนโยบายที่มีความซับซ้อนอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ในความผิดเกี่ยวกับการบริหารงานของผู้บริหารสหกรณ์ และเกี่ยวข้องโดยตรงกับนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญในการปราบปรามการทุจริต
ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อมูลหรือเบาะแสการกระทำความผิด สามารถแจ้งมายังกองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ กรมสอบสวนคดีพิเศษ เลขที่ 128 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร หรือทางสายด่วน DSI Call Center 1202 (โทร.ฟรีทั่วประเทศ) โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ จะเก็บรักษาข้อมูลผู้แจ้งเบาะแสไว้เป็นความลับ