นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง ขอให้เรียกตัวแทน สตช. มาไต่สวนกรณี คฝ.สลายการชุมนุมได้รับบาดเจ็บหลายราย
เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (22 พ.ย.) ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดา ทนายความภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง ขอให้ศาลเรียกตัวแทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) มาไต่สวนกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุม (คฝ.) ใช้กำลังสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงจนประชาชน รวมทั้งสื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บ
โดยจะยื่นคำร้องต่อศาลในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ.3683/2564 ที่ นายธนาพล เกิ่งไพบูลย์ กับพวกรวม 2 คน เป็นโจทก์ฟ้อง สตช. เรียกค่าเสียหายในทางแพ่งจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2564 ซึ่งศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวไว้ เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2564 ว่า “ให้จำเลยที่ 1 ใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการชุมนุมและสลายการชุมนุมโดยคำนึงความปลอดภัยของโจทก์ทั้งสองและสื่อมวลชนภายใต้หลักเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติงานของสื่อมวลชน”
แต่ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2565 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงใช้กำลังสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงและไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของสื่อมวลชนที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่การชุมนุม ซึ่งถือเป็นการละเมิดคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาล
ทั้งนี้ หากพิจารณาจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยาง นับแต่การชุมนุมในช่วงปี 2563 ถึงปัจจุบัน มีผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยาง เท่าที่มีข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, iLaw และ Mob Data Thail and จำนวนมากกว่า 65 ราย และเป็นการเล็งยิงกระสุนยางไปบริเวณศีรษะมากถึง 25 ราย โดยพบกรณีเด็กอายุ 13 ปี มีแผลที่กลางหน้าผาก และยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากกระสุนยางอย่างน้อย 5 ราย อยู่ในอาการอัมพาต 1 ราย นอกจากนี้ ยังมีเยาวชนที่บาดจากกระสุนยาง โดยมีอย่างน้อย 5 ราย ที่ถูกกระสุนยางยิงช่วงศีรษะ และมีผู้ที่สูญเสียการมองเห็นจากการใช้กระสุนยางจากการปฏิบัติหน้าที่ของ คฝ.
จำนวน 3 ราย ได้รับบาดเจ็บที่ดวงตา แต่ไม่สูญเสียการมองเห็นมากกว่า 5 ราย
การยื่นคำร้องขอให้ศาลเรียกตัวแทน สตช.มาไต่สวนในครั้งนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีส่วนช่วยในการปรับปรุงพฤติกรรมการใช้อำนาจของทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ คฝ.และผู้บังคับบัญชาที่สนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ สร้างความเสียหายและหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน