xs
xsm
sm
md
lg

หญิงซื้อปิกอัพ! โดนเซลส์สวมป้ายแดงปลอมเข้าพบอัยการ แนะให้การ ตร.เพิ่มเพื่อสู้คดี!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


อัยการให้ความช่วยเหลือผู้เสียหาย
หญิงซื้อปิกอัพ! โดนเซลส์สวมป้ายแดงปลอมเข้าพบอัยการ ด้าน “โกศลวัฒน์” เผยเตรียมประสานเซลส์-ศูนย์รถ มาไกล่เกลี่ยที่อัยการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อเยียวยาผู้เสียหาย ส่วนคดีอาญา เเนะให้การ ตร.เพิ่มเติม

วันนี้ (29 ต.ค.) ที่สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานคุ้มครองสิทธิเเละช่วยเหลือกฎหมายทางกฎหมายประชาชน ผู้เสียหายหญิง ซึ่งเป็นผู้ซื้อรถยนต์ปิกอัพจากศูนย์โชว์รูมย่านตลิ่งชัน ออกรถป้ายแดง แล้วถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมบริเวณทางด่วนบางนาบูรพาวิถี ส่งพนักงานสอบสวน สภ.บางแก้ว จ.สมุทรปราการ ดำเนินคดี โดยตามข่าวระบุว่า ผู้ซื้อรถได้วางมัดจำป้ายแดงไว้จำนวน 5,000 บาท เดินทางมาขอรับความช่วยเหลือทางด้านกฎหมาย

นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองอธิบดีอัยการสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช.) เเละโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เเละ น.ส.จีรวรรณ นิลอุบล อัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองผู้บริโภค เป็นผู้รับเรื่องเเละรับฟังข้อเท็จจริง

โดยภายหลังรับฟังข้อเท็จจริง นายโกศลวัฒน์ กล่าวว่า สคช.เรามีหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภค เมื่อได้รับเรื่องร้องเรียน และผู้เสียหายเข้ามาที่สำนักงาน ก็จะมีทนายอาสา ดำเนินการสอบข้อเท็จจริง โดยมีอัยการพิเศษฝ่าย เข้าร่วมสอบข้อเท็จจริงด้วย ภารกิจของการคุ้มครองผู้บริโภค เราจะช่วยเหลือกฎหมายและเยียวยา จะเรียกร้องสิทธิให้

ชี้ให้ดูความแตกต่างของป้ายทะเบียนจริงและปลอม
เบื้องต้นทราบว่า ผู้เสียหายถูกแจ้งข้อหา มีและใช้เอกสารราชการปลอม จากกรณีติดแผ่นป้ายทะเบียนปลอม หลังจากผู้เสียหายเข้ามา ตนเองได้ไปยืมป้ายทะเบียนป้ายแดง จากศูนย์รถแห่งหนึ่งย่านรัชดา พร้อมให้ผู้เสียหายอธิบายความแตกต่างจากป้ายที่ตนเองถูกแจ้งข้อหา จะเห็นได้ว่า ความแตกต่าง คือ ป้ายทะเบียนของจริง จะมีลายน้ำและมีตัวเลขเล็กๆกำกับอยู่ด้านซ้ายล่าง และด้านขวาจะมีตราขนส่งอยู่ ซึ่งป้ายปลอมที่ผู้เสียหายถูกดำเนินคดี ไม่มีลักษณะดังกล่าวและป้ายที่แท้จริงต้องมีเล่มรถกำกับ

กรณีนี้ผู้เสียหาย ถูกตำรวจแจ้งข้อหาและนำตัวเข้าห้องควบคุม ของ สภ.บางแก้ว นานกว่า 5 ชั่วโมงก่อนจะได้รับการประกันตัวออกมา

ประเด็นแรกที่ผู้เสียหายมาขอความช่วยเหลือ คือ ห่วงเรื่องคดีอาญา ที่ถูกดำเนินคดี ซึ่งทางอัยการ สคช.ได้ให้ความรู้ถึงกระบวนการ ตั้งแต่ชั้นจับกุม ขึ้นไป และแนะนำผู้เสียหาย ให้รู้ถึงสิทธิ เพราะอัยการ สคช.ไม่มีหน้าที่ไปฟ้องใคร แต่มีหน้าที่ให้ความรู้ ในกระบวนการที่ถูกต้อง เพื่อใช้สู้คดี ในกรณีที่ต้องคดีอาญา ซึ่ง ป.วิอาญา กำหนดไว้ว่า พนักงานสอบสวน จะต้องสอบให้ได้ความจริงทั้ง 2 ฝ่าย ต้องสอบให้ได้ว่า ผู้ต้องหาได้กระทำผิด หรือ บริสุทธิ์ ไม่ใช่สอบเพื่อเอาผิดอย่างเดียว โดยหลังจากสอบสวนดำเนินคดีแล้ว พนักงานสอบสวนจะต้องทำความเห็นส่งอัยการว่าควรจะสั่งฟ้อง หรือไม่ควรสั่งฟ้อง พร้อมแนบเหตุผลประกอบ พนักงานอัยการก็จะพิจารณาตามพยานหลักฐาน เพื่อพิจารณาและมีคำสั่งทางคดีต่อไป

โดยหลังจากสอบข้อเท็จจริง อัยการจะขอทราบความประสงค์ของผู้เสียหาย ว่า ประสงค์จะได้รับการเยียวยาอย่างไรบ้าง และจะช่วยเหลือ ดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบสำนักงาน อัยการสูงสุด ซึ่งเป็นนโยบายของ น.ส.นารี ตัณฑเสถียร อัยการสูงสุดที่สั่งการให้อัยการ สคช.ปฏิบัติหน้าที่เชิงรุก

ป้ายทะเบียนจริง จะต้องมีเล่มรถกำกับด้วยเสมอ
เมื่อถามว่า ข้อมูลที่ผู้เสียหายมายื่นร้องขออัยการ จะถูกส่งไปยังสำนวนคดีอาญาที่มีการพิจารณาด้วยหรือไม่

นายโกศลวัฒน์ กล่าวว่า อาจจะมีการส่งไป ถ้าอัยการที่เป็นเจ้าของสำนวนคดี สอบถามมา

เมื่อถามว่า จะฟ้องคดีผู้บริโภค กับเซลส์ และศูนย์รถยนต์หรือไม่

นายโกศลวัฒน์ กล่าวว่า อัยการคุ้มครองผู้บริโภค มีอำนาจฟ้องคดีให้ได้และเป็นบริการฟรีไม่เสียเงิน ถ้าข้อเท็จจริงเป็นอย่างที่ผู้ร้องกล่าวมาก็ฟ้องได้ แต่เบื้องต้น ต้องมีการเชิญศูนย์รถ หรือ เซลส์ เข้ามาพูดคุยหรือเจรจากันก่อน ว่า จะมีการเยียวยาแก้ไขอย่างไร ถ้าเจรจากันได้ก็ไม่ต้องดำเนินคดี ส่วนมากจะจบที่การไกล่เกลี่ย

เมื่อถามว่า ถ้าข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่ร้องผลคดีจะเปลี่ยนไปหรือไม่

นายโกศลวัฒน์ กล่าวว่า การดำเนินคดีอาญา คือ การนำความจริงมาดำเนินคดีทางกฎหมาย ข้อมูลจะต้องเป็นไปตามความจริง ว่า เกิดอะไรขึ้นในส่วนนี้ก็ต้องให้เวลาการสืบสวนของตำรวจ ซึ่งในกระบวนการดำเนินคดีอาญาพยานหลักฐานจะต้องเข้าสู่สำนวนโดยชอบ

ขณะที่ผู้เสียหาย กล่าวว่า เบื้องต้นยังไม่คิดดำเนินคดีกับใคร อยากได้รับความเป็นธรรมในคดี ซึ่งวันนี้ได้รับความเมตตาจากอัยการที่เข้ามาดูแล ซึ่งได้รับคำแนะนำที่ดีมาก อธิบายละเอียดจนทำให้เข้าใจทุกอย่าง จริงๆ เรื่องนี้ไม่ควรจะถึงขั้นไปฟ้อง เเต่คนที่ทำควรออกมารับผิดชอบ หลังจากได้คุยกับอัยการ วันนี้สบายใจมากที่สุด เพราะที่ผ่านมา รู้สึกว่าไม่ได้ทำผิดอะไร บริสุทธิ์ใจมาโดยตลอด แต่กลายเป็นว่าเราจะมีรถสักคัน กลับเป็นปัญหา จากการหาข้อมูลพบว่า นอกจากเราแล้ว ก็เคยมีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นมานาน แต่กลับไม่มีใครถูกดำเนินคดี เรื่องที่ศูนย์รถ ส่งมอบป้ายทะเบียนป้ายแดงปลอม มีมานานแล้ว ที่ผ่านมา ไม่มีใครโดนจับ ทำไมเรื่องนี้ไม่ได้รับการแก้ไขสักที ทั้งที่มีมานานแล้ว แต่ละคนจะมีเหตุผลในมุมของตัวเอง อย่างตนเองเดือดร้อน เพราะถูกดำเนินคดี คนขายรถเดือดร้อน เพราะป้ายแดงขนส่งมีไม่พอ ทางศูนย์ก็เดือดร้อน เพราะขายรถไม่ได้ ทุกคนเดือดร้อนไปหมด ไม่มีการแก้ปัญหา ตอนนี้ทางศูนย์รถยังไม่ติดต่อมา เราโดนแจ้งข้อหาในคดีอาญา ซึ่งจะไปขอให้การเพิ่มเติม ให้พนักงานสอบสวนทราบข้อเท็จจริงให้ครบถ้วน เพื่อที่จะทำความเห็นสมควรสั่งไม่ฟ้อง
กำลังโหลดความคิดเห็น