xs
xsm
sm
md
lg

อย.เร่งติดต่อผู้ซื้อ "โดนัท" หมดอายุจากห้างผ่านแอปฯ รับ กม.ยังเอาผิดไม่ได้ จ่อแก้ใหม่เพิ่มโทษ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อย.เร่งติดต่อผู้โพสต์ซื้อโดนัทได้ของหมดอายุ รับไม่สบายใจกฎหมายเอาผิดไม่ได้ เหตุจำหน่ายหมดอายุไม่ถือเป็นความผิด เนื่องจากส่วนใหญ่กำหนดวันหมดอายุตามปริมาณที่คิดว่าจะขายหมด ต้องตรวจสอบอาหารยังมีคุณภาพกินได้หรือไม่ แต่หากอาหารเน่าเสียก่อนหมดอายุผิดแน่ จ่อแก้กฎหมายใหม่เพิ่มโทษ ส่วนแปะราคาเพิ่มต้องใช้กฎหมาย สคบ.

เมื่อวันที่ 25 ต.ค. ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงกรณีโซเชียลมีเดียมีการโพสต์ข้อความและรูปภาพเรื่องสั่งซื้อโดนัทจากห้างดังผ่านแอปพลิเคชัน แต่กลับได้รับของหมดอายุที่แปะป้ายราคาใหม่ที่แพงขึ้น ว่า อย.ได้พยายามประสานไปยังผู้โพสต์ข้อมูลแล้ว เพื่อขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติม แต่ยังไม่สามารถติดต่อได้ จึงยังไม่ทราบว่ารายละเอียดเป็นอย่างไรกันแน่ อย่างไรก็ตาม ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 การจำหน่ายอาหารที่หมดอายุยังไม่ถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร ถ้ามีข้อเท็จจริงว่าเกิดที่ห้างใด สาขาใด สิ่งที่ อย.ทำได้คือ เข้าไปเก็บตัวอย่างส่งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจวิเคราะห์ว่า อาหารนั้นยังมีคุณภาพสามารถรับประทานได้หรือไม่ ซึ่งแตกต่างจาก พ.ร.บ.ยา หากจำหน่ายยาที่หมดอายุแล้วจะถือว่ามีความผิด เพราะในเชิงเทคนิคเรื่องอาหารจะเป็นค่าโดยประมาณการของผู้ผลิต ซึ่งไม่ได้มีเกณฑ์มาตรฐาน

"อย่างขนมผู้ผลิตก็จะกำหนดเองว่า 3 วัน 5 วัน หรือ 7 วัน หมดอายุตามปริมาณที่เขาคิดว่าจะขายหมด หากกำหนดวันหมดอายุไว้นาน แล้วเกิดขนมเน่าเสีย ขึ้นราก่อนวันหมดอายุแบบนี้ผิดแน่ๆ แต่หากกำหนดวันหมดอายุสั้นๆ ขายไม่ทัน แล้วเกิดเหตุการณ์แบบนี้อาจจะทำให้ผู้บริโภครู้สึกไม่ปลอดภัย ซึ่งในเชิงวิชาการอาหารที่รับประทานหากเก็บตามคำแนะนำข้างฉลากที่ถูกต้อง เมื่อดูรูปลักษณ์ รส กลิ่นไม่เปลี่ยนแปลง โดยหลักการอาจจะไม่เป็นอันตราย แต่ไม่แนะนำให้รับประทาน" ภก.วีระชัยกล่าว

ภก.วีระชัยกล่าวว่า จากที่เราทำงานมา อย.มีหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค แต่เราเห็นตรงนี้ก็รู้สึกไม่สบายใจว่า อาหารหมดอายุแล้วเรามาขายก็ไม่มีความผิด ดังนั้น อย.จึงได้มีการปรับปรุง พ.ร.บ.อาหารฉบับใหม่ อยู่ในชั้นกรรมาธิการ สภาผู้แทนราษฎรกำลังแปรญัตติรายมาตรา ซึ่งระบุว่าถ้าผู้ใดขายอาหารหมดอายุจะมีความผิดแน่นอน ซึ่งจะครอบคลุมอาหารแปรรูปทั้งหมดที่อยู่ภายใต้การกำกับของ อย. ส่วนที่มีการนำอาหารที่หมดอายุมาแปะป้ายราคาใหม่ที่แพงขึ้น ถ้ามีการกระทำจริง มีป้ายราคาใหม่ซึ่งสูงกว่าเดิมมาปิดทับ อาจจะต้องใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ซึ่งกฎหมายอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)

"หากกรณีนี้เป็นข้อเท็จจริงว่าขายของหมดอายุ เราจะมีกระบวนการไกล่เกลี่ยที่เอาผู้บริโภคเป็นที่ตั้ง หากผู้บริโภคประสงค์ที่จะดำเนินคดี อย.จะทำงานให้เต็มที่ โดยผู้บริโภคต้องให้รายละเอียดการซื้อขายเป็นอย่างไร หลักฐานเป็นอย่างไร เพื่อประกอบแล้ว อย.จะลงไปสาขาที่เกิดเหตุ เก็บตัวอย่างส่งวิเคราะห์ เมื่อผลวิเคราะห์ออกมาอย่างไรก็ดำเนินคดีตามนั้น หากผลพบว่าอาหารมีมาตรฐานถูกต้องก็ดำเนินคดีไม่ได้ ก็จะแจ้งให้ผู้บริโภคทราบว่าอาหารปกติดีไม่มีปัญหา แต่หากอาหารผิดมาตรฐานก็จะดำเนินคดีในข้อหาจำหน่ายอาหารผิดมาตรฐาน กับอีกแบบ คือผู้ประกอบการยอมชดใช้ความเสียหายให้ผู้บริโภคตามที่ทั้งคู่ตกลงกัน" ภก.วีระชัยกล่าว
ภก.วีระชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมา อย.ไม่ได้ละเลยกรณีมีรายงานเกี่ยวกับคุณภาพของอาหาร หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพทางโซเชียล หาก อย.พบเห็นก็จะประสานขอข้อมูลไปยังผู้โพสต์ ว่ามีขายที่ไหน รายละเอียดเป็นอย่างไร เพื่อดำเนินการช่วยเหลือ แต่หลายครั้งที่ผู้โพสต์ ระบุว่าไม่ต้องการให้มีการช่วยเหลือ เขาเพียงแต่อยากโพสต์เท่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น