xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ส.ชี้ต้องแยก “ผู้เสพ-ผู้ติด-ผู้มีอาการทางจิต” คุมเข้มเฝ้าระวัง ปมเหตุกราดยิง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - เลขาฯ ป.ป.ส. เสียใจเหตุกราดยิง จ.หนองบัวลำภู เผย ต้องควบคุมผู้ใช้ยาเสพติดที่ป่วยทางจิต เร่งส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สืบสวนความเกี่ยวข้องกับยาเสพติดในเหตุดังกล่าว

วันนี้ (7 ต.ค.) นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) เปิดเผยกรณีเหตุกราดยิงที่ จ.หนองบัวลำภู และนโยบาย “ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย” เป็นผลให้เกิดการเสพซ้ำและทำให้สถานการณ์ยาเสพติดแย่ลงหรือไม่

นายวิชัย กล่าวว่า ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้เสียชีวิต ผู้รับบาดเจ็บ ผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ จ.หนองบัวลำภู “เรายังไม่สามารถสรุปได้ว่าเหตุโศกนาฏกรรมดังกล่าว เกิดขึ้นจากอาการทางจิตที่มาจากฤทธิ์ยาเสพติด สาเหตุการก่อความรุนแรงอาจมีปัจจัยอื่นประกอบ ซึ่งการวินิจฉัยต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญโดยตรง ควบคู่กับผลการตรวจพิสูจน์ร่างกาย อย่างไรก็ตาม การกระทำรุนแรงดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ ทั้งนี้ ผมได้สั่งการให้สำนักงาน ปปส.ภาค 4 ลงพื้นที่เพื่อสืบสวนเหตุการณ์ ความเกี่ยวข้องกับยาเสพติดของผู้ก่อเหตุ ที่มาของยาเสพติด และมีเจ้าหน้าที่รัฐหรืออดีตเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องกับที่มาของยาเสพติดหรือไม่อย่างไร”

นายวิชัย กล่าวต่อว่า ต่อแนวคิด “ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย” ที่มาจากประมวลกฎหมายยาเสพติดใหม่ มีฐานคิดจากการประชุม ungass 2016 ของสหประชาชาติที่กำหนดแนวทางการแก้ปัญหายาเสพติดแนวใหม่ โดยแบ่งแยกการลงโทษผู้ค้ากับผู้เสพอย่างชัดเจน ผู้ค้าต้องลงโทษอย่างรุนแรง ขณะที่ผู้เสพต้องได้รับการรักษา เป็นที่มาของประมวลกฎหมายยาเสพติดที่มีนโยบาย “ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย” โดยตามกฎหมายยังกำหนดโทษชัดเจนสำหรับผู้เสพ แต่หากสมัครใจเข้ารับการบำบัดจะไม่ต้องรับโทษเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ผิดพลาดได้กลับคืนสู่สังคม ซึ่งการแบ่ง ผู้ค้า กับ ผู้เสพ ดูที่พฤติการณ์เป็นสำคัญ ไม่ใช่จำนวนเม็ดยา แม้มี 1 เม็ด แต่มีพฤติการณ์เป็นผู้ค้าก็จะถูกลงโทษฐานครอบครองเพื่อจำหน่าย

นายวิชัย กล่าวอีกว่า ผู้ที่เสพยาเสพติดมีจำนวนประมาณ 200,000 คนต่อปี ที่เข้ารับการบำบัด ซึ่งมีจำนวนมากที่สามารถรักษาหาย เลิกยาเสพติดได้ ซึ่งการยกเลิกนโยบาย “ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย” จะเป็นการตัดโอกาสของผู้ที่ผิดพลาดเสพยาเสพติด โดยกรณีผู้ที่มีอาการทางจิตจากยาเสพติด ควรจะมีการแยกออกเพื่อควบคุม โดยอาจเป็นการใช้เทคโนโลยีในการติดตามหรือกำหนดพื้นที่ให้เป็นพื้นที่พิเศษ เพื่อให้อยู่ในการควบคุม ไม่ส่งผลกระทบต่อสังคม

นายวิชัย เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ก่อนเกิดเหตุดังกล่าว ตนได้หารือกับ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เพื่อให้มีการสำรวจทั่วประเทศเพื่อคัดกรองเพื่อทราบจำนวนผู้ใช้ยาเสพติด และแบ่งประเภท เป็น ผู้ใช้, ผู้เสพ และผู้ติด ซึ่งกลุ่ม “ผู้ติด” คือผู้ที่มีการใช้ประจำ จำเป็นต้องควบคุมพิเศษ ซึ่งอย่างที่เรียนไป ตนและนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ต่างเห็นว่า กลุ่มผู้ติด ผู้มีพฤติกรรมใช้ความรุนแรง หรือกลุ่มที่มีอาการทางจิตต้องได้รับการควบคุมคุมพิเศษ เช่นการกำหนดพื้นที่ หรือการใช้เทคโนโลยีในการติดตามความประพฤติ

โดยเมื่อวันที่ 3 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการทำข้อตกลงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 15 หน่วยงานในการดำเนินการตามมาตรการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด เพื่อแก้ไขปัญหาผู้ป่วยที่มีการทางจิต โดยเป็นการร่วมกันของหลายภาคส่วน เพื่อเร่งมาตรการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดดำเนินการรองรับแนวคิดผู้เสพ คือ ผู้ป่วย ประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมสุขภาพจิต กรมการแพทย์ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมควบคุมโรค สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย กรมการปกครอง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กรมประชาสัมพันธ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และสำนักงาน ป.ป.ส.

เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวในตอนท้ายว่า แนวคิด “ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย” คือ การให้โอกาสผู้ที่เคยผิดพลาดได้มีโอกาสในการเปลี่ยนแปลงตัวเอง เป็นนโยบายที่ต้องปรับให้ทัศนคติและความรู้ความเข้าใจของบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติใช้กฎหมายนี้ก็ต้องสอดคล้องกัน โดยต้องมีการพัฒนาในหลายด้าน ทั้งการป้องกันในเด็กและเยาวชน การป้องกันกลุ่มเสี่ยง การปราบปรามนักค้า รวมทั้งกระบวนการบำบัด การดูแลหลังการบำบัดรักษา เพื่อให้การเกิดวงจรการกลับมาเสพซ้ำเกิดขึ้นน้อยที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น