MGR Online - นครบาลออกหนังสือ ชี้แจง หลังบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่ฝ่าฝืนกฎจราจร ได้รับใบสั่งแล้วไม่ยอมเสียค่าปรับจะโดนหมายจับ ยังมีประชาชนเข้าใจคลาดเคลื่อน ย้ำ มุ่งเน้นดำเนินคดีคนที่มีเจตนาทำผิดซ้ำซาก และเป็นข้อหาสาเหตุหลักการเกิดอุบัติเหตุ ยัน ต้องการลดความสูญเสียบนท้องถนน ทั้งชีวิต ทรัพย์สิน และสร้างวินัยจราจรให้แก่ผู้ขับขี่
วันนี้ (22 มิ.ย.) พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น.ในฐานะโฆษก บช.น.และ พล.ต.ต.นิธิธร จินตกานนท์ รอง ผบช.น.ในฐานะรองโฆษก บช.น.ประชาสัมพันธ์กรณี บช.น.มีแนวทางในการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำความผิดตามกฎหมายจราจร และไม่มาชำระค่าปรับภายในระยะเวลาที่กำหนดตามกฎหมาย จนนำมาสู่การขอศาลอนุมัติออกหมายจับ อาจมีบางประเด็นที่ประชาชนยังเข้าใจคลาดเคลื่อนในข้อเท็จจริงอยู่นั้น บช.น.จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบเพิ่มเติม ดังนี้
1. วัตถุประสงค์ในการดำเนินการ บช.น.มีความมุ่งหวังที่จะลดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน จากการเกิดอุบัติเหตุทางถนนและปัญหาการจราจร โดยมีสาเหตุอันเนื่องมาจากการไม่เคารพกฎหมายจราจร และไม่มีวินัยจราจรของผู้ใช้รถใช้ถนน ซึ่งได้กระทำความผิดกฎหมายจราจรซ้ำๆ โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ร่วมใช้ทางเป็นหลัก
2. การดำเนินการตามกระบวนการและขั้นตอนของกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายในขั้นตอนของการดำเนินคดี และนำไปสู่การออกหมายเรียก และขอศาลอนุมัติออกหมายจับผู้กระทำความผิดนั้น จะมุ่งเน้นดำเนินการกับผู้ที่มีเจตนากระทำความผิดซ้ำซาก และเป็นข้อหาที่เป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุ หลังจากที่ได้ดำเนินการออกใบสั่ง และส่งใบแจ้งเตือนให้มาชำระค่าปรับตามขั้นตอน พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 140 และมาตรา 141/1 จนครบตามกำหนดเวลาแล้ว เจ้าพนักงานจราจรจะเป็นผู้กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการตาม ป.วิอาญา มาตรา 52-มาตรา 56 และการออกหมายเรียกไปยังเจ้าของรถ หรือผู้ครอบครองนั้น พนักงานสอบสวนจะออกหมายเรียกอย่างน้อย 2 ครั้ง กรณีไม่มาพบโดยไม่มีเหตุอันสมควรให้สันนิษฐานว่า มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนีอันเป็นเหตุให้ออกหมายจับตาม ป.วิอาญา มาตรา 66 (2) พนักงานสอบสวนจะรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อขอศาลอนุมัติออกหมายจับต่อไป
3. กรณีที่มีความสงสัยว่าไม่ปรากฏแน่ชัดว่าเจ้าของ หรือผู้ครอบครองรถเป็นผู้ฝ่าฝืนกฎหมายจราจร ซึ่งถูกตรวจจับด้วยกล้องตรวจจับนั้น ขอเรียนว่าตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 140/1 เมื่อเจ้าของรถ หรือผู้ครอบครองรถได้รับใบสั่งดังกล่าวแล้วให้สันนิษฐานว่า เจ้าของรถ หรือผู้ครอบครองรถเป็นผู้กระทำความผิดตามที่ระบุในใบสั่ง เว้นแต่เจ้าของรถ หรือผู้ครอบครองรถจะได้แจ้งต่อพนักงานสอบสวนภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับใบสั่งว่าผู้อื่นเป็นผู้ขับขี่ และผู้นั้นยอมรับว่าตนเป็นผู้ขับขี่ หรือในกรณีที่ไม่มีผู้ใดยอมรับว่าเป็นผู้ขับขี่ เจ้าของรถ หรือผู้ครอบครองรถซึ่งไม่ใช่นิติบุคคล จะต้องแสดงหลักฐานให้พนักงานสอบสวน เชื่อว่าตนเองมิได้เป็นผู้ขับขี่นั้น
4. การดำเนินการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก ที่มีอายุความ 1 ปี และหลายคนอาจมองเห็นว่าเป็นเพียงคดีความผิดเล็กน้อย หรือลหุโทษนั้น หากแต่ผลของการละเมิดกฎหมายที่เป็นความผิดเล็กน้อยนั้น กลับสร้างความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ นั่นคือการสูญเสียชีวิต การบาดเจ็บ และทรัพย์สินเสียหายจำนวนมาก การไม่ดำเนินการตามมาตรการที่จะส่งผลกระทบ ต่อการกระตุ้นจิตสำนึกในการมีวินัยจราจร กลับเป็นการละเลยที่จะทำให้เกิดผลเสีย ที่สร้างความสูญเสียให้เกิดกับประชาชนและสังคมโดยรวม
บช.น.ขอย้ำให้ประชาชนได้รับทราบว่า ในการบังคับใช้กฎหมายกรณีดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อลดความสูญเสียจากการเกิดอุบัติเหตุทางถนน และสร้างวินัยจราจรให้แก่ผู้ขับขี่เท่านั้น และหากทุกคนร่วมใจกันปฏิบัติตามกฎหมายจราจร ก็จะไม่ถูกออกหมายเรียก หรือหมายจับอย่างแน่นอน จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ได้รับทราบ หากมีข้อสงสัยว่ามีใบสั่งค้างชำระหรือไม่ สามารถตรวจสอบได้ผ่านช่องทางใบสั่งจราจรออนไลน์สำหรับประชาชน https://ptm.police.go.th/eTicket/#/ ทั้งนี้ ขอความร่วมมือทุกท่านในการปฏิบัติตามกฎหมายจราจร เพื่อช่วยกันลดปัญหาการเกิดอุบัติเหตุและปัญหาการจราจร ที่เกิดจากการไม่เคารพกฎหมายจราจรและไม่มีวินัย เพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ปลอดภัยและน่าอยู่ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ ศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร (บก.02) หมายเลขโทรศัพท์ 1197 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือทาง Facebook และ Twitter 1197.