MGR Online - นครบาลประกาศ บังคับใช้กฎหมายจราจรเด็ดขาด ใครถูกใบสั่งแล้วไม่เสียค่าปรับ ถูกหมายเรียก ครบ 2 ครั้ง ไม่มาโดนหมายจับ เตือน เสียประวัติ สมัครงานยาก ทำนิติกรรมลำบาก เดินทางไม่สะดวก มีผลวันนี้ และย้อนหลัง 1 ปี พบในกรุงเทพฯ มีผู้กระทำผิดสูงสุด 59 ใบ ทั่วประเทศ 700 ใบ
วันนี้ (20 มิ.ย.) ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น.ในฐานะโฆษก บช.น.และ พล.ต.ต.นิธิธร จินตกานนท์ รอง ผบช.น.ในฐานะรองโฆษก บช.น.ประชาสัมพันธ์ กรณี บช.น.มีแนวทางในการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำความผิดตามกฎหมายจราจร และไม่มาชำระค่าปรับภายในระยะเวลาที่กำหนด ที่ผ่านมา พบว่า มีผู้ที่กระทำความผิดตามกฎหมายจราจร แล้วไม่ไปชำระค่าปรับจำนวนมาก และยังคงมีพฤติการณ์ที่ฝ่าฝืนกฎหมายจราจรซ้ำๆ เป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนและเกิดปัญหาการจราจร สร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินรวมถึงภาพลักษณ์ของประเทศอย่างต่อเนื่อง จึงได้กำหนดมาตรการในการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว เพื่อส่งเสริมให้ผู้ขับขี่มีวินัยจราจร ซึ่งจะช่วยลดปัญหาอุบัติเหตุและปัญหาจราจรในกรุงเทพฯได้ในระดับหนึ่ง โดยมีขั้นตอนการปฏิบัติ ดังนี้
1. เจ้าพนักงานจราจรออกใบสั่งให้กับผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก ปี 2522 ทั้งแบบความผิดซึ่งหน้าและความผิดที่ตรวจจับด้วยกล้องตรวจจับการกระทำความผิด ระยะเวลาเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
2. กรณีผู้กระทำความผิดไม่มาชำระค่าปรับ เมื่อพ้นระยะเวลาที่กำหนดไว้ในใบสั่งแต่ละประเภท เจ้าพนักงานจราจรจะออกหนังสือแจ้งการไม่ปฏิบัติตามใบสั่ง (ใบเตือน) โดยจัดส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับภายใน 15 วัน นับแต่วันครบกำหนดชำระค่าปรับในใบสั่ง โดยให้ถือว่าเจ้าของ หรือผู้ครอบครองได้รับแจ้งเมื่อพ้นกำหนด 15 วัน นับแต่วันส่ง และต้องชำระค่าปรับภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ซึ่งในขั้นตอนที่ 1 และ 2 ผู้กระทำความผิดสามารถเลือกชำระค่าปรับ ได้ที่สถานีตำรวจ
ทุกสถานีทั่วประเทศ, ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคารกรุงไทย, เค้าเตอร์เซอร์วิสที่มีสัญลักษณ์ PTM และทางไปรษณีย์
3. กรณีพ้นระยะเวลาที่กำหนดไว้ในใบเตือน และผู้กระทำความผิดยังไม่มาชำระค่าปรับ นอกจากการส่งข้อมูลไปยังกรมการขนส่งทางบกเพื่อดำเนินการตามมาตรการงดออกเครื่องหมายการเสียภาษีประจำปีแล้ว พนักงานสอบสวนจะออกหมายเรียกผู้ต้องหา เพื่อให้มาชำระค่าปรับ หากไม่มาพบตามหมายเรียกทั้ง 2 ครั้ง พนักงานสอบสวนจะยื่นคำร้องขออนุมัติศาลในเขตพื้นที่ เพื่อออกหมายจับ
4. กรณีถูกออกหมายเรียก หรือหมายจับ ผู้ต้องหาจะถูกแจ้งข้อกล่าวหา ตามข้อหาที่ผู้ต้องหากระทำผิดตามใบสั่ง และความผิดข้อหาตามมาตรา 155 “ผู้ใดไม่ปฏิบัติตาม ม.141 (ชำระค่าปรับในเวลาที่กำหนดในใบสั่ง) โดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท ซึ่งในขั้ตอนนี้ผู้ต้องหาต้องเดินทางมาพบพนักงานสอบสวนด้วยตนเอง ณ สถานีตำรวจที่ออกหมายเรียก หรือหมายจับ ไม่สามารถชำระผ่านช่องทางต่างๆ ตามข้อ 2. ได้
5. ผลของการถูกออกหมายจับในคดีอาญา เมื่อถูกออกหมายจับแล้ว จะถูกบันทึกในระบบฐานข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมตัวบุคคลที่มีหมายจับได้ทั่วราชอาณาจักร โดยใช้เทคโนโลยีในการเชื่อมฐานข้อมูล หากบุคคลที่มีหมายจับเดินทางออกนอกประเทศจะถูกจับ และเกิดความยากลำบากในเรื่องการเดินทาง ถูกบันทึกในทะเบียนประวัติซึ่งอาจส่งผลต่อการประกอบอาชีพการทำงาน กรณีที่หน่วยงานสอบถามประวัติคดีอาญาว่าเป็นบุคคลที่มีหมายจับ เกิดความยากลำบากและความน่าเชื่อถือในการทำนิติกรรม
6. กรณีผู้ต้องหามาพบพนักงานสอบสวนตามหมายจับด้วยตนเอง หรือถูกจับกุม และยินยอมเปรียบเทียบปรับให้คดีอาญาเลิกกัน พนักงานสอบสวนจะยกเลิกหมายจับ และลบประวัติออกจากระบบ
ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อสงสัยว่ามีใบสั่งค้างชำระหรือไม่ สามารถตรวจสอบได้ผ่านช่องทางใบสั่งจราจรออนไลน์สำหรับประชาชน https://ptm.police.go.th/eTicket/#/ จึงขอแจ้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบ และขอความร่วมมือทุกท่านในการปฏิบัติตามกฎหมายจราจร เพื่อช่วยกันลดปัญหาการเกิดอุบัติเหตุ และปัญหาการจราจรที่เกิดจากการไม่เคาระกฎหมายจราจรและไม่มีวินัย เพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ปลอดภัยและน่าอยู่ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร (บก.02) หมายเลขโทรศัพท์ 1197 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือทาง Facebook และ Twitter 1197
พล.ต.ต.จิรสันต์ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป และย้อนหลัง 1 ปี สำหรับใบสั่งที่ยังไม่หมดอายุความ ซึ่งจะหมดอายุความใน 1 ปี มีระบบตรวจสอบโดยเน้นผู้ที่กระทำผิดซ้ำๆ ส่วนใบสั่งที่หมดอายุความเกิน 1 ปี นับย้อนหลังจากนี้ ไม่มีผลแต่อย่างใด ขณะนี้ในกรุงเทพฯ พบว่า มีผู้กระทำความผิดสูงสุดอยู่ที่ 59 ใบต่อ 1 ราย ทั่วประเทศอาจมากถึง 700 ใบ