ศาลอาญาคดีทุจริตพิพากษาประหารชีวิต“อดีต ผกก.โจ้” ใช้ถุงดำคลุมศีรษะฆ่าทารุณผู้ต้องหาค้ายา แต่คำให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต ส่วนจำเลยที่ 6 โดนมาตรา 157 จำคุก 5 ปี 4 เดือน
วันนี้ (8 มิ.ย.) ที่ศาลอาญาคดีทุจริตเเละประพฤติมิชอบกลาง ถนนเลียบทางรถไฟ ตลิ่งชัน ศาลนัดอ่านคำพิพากษาในคดีอท.180/2564 ที่อัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งฟ้อง พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือ ผกก.โจ้ กับพวกรวม 7 คน ในความผิดฐาน เป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต, เป็นเจ้าพนักงานของรัฐร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต, ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย และ ร่วมกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใดโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเอง หรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้นหรือจำยอมต่อสิ่งนั้น อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 157, 288, 289(5), 309 วรรค 2 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 4, 172
สืบเนื่องจาก นายจิระพงษ์ หรือ มาวิน ธนะพัฒน์ ผู้เสียชีวิต ซึ่งถูกจับและควบคุมไว้ในคดียาเสพติดและถูกฆ่าถึงแก่ความตายขณะอยู่ในความความควบคุมของเจ้าพนักงาน เมื่อช่วงระหว่างวันที่ 4-6 สิงหาคม พ.ศ. 2564 ที่ สภ.เมืองนครสวรรค์
โดยวันนี้จะเป็นการอ่านคำพิพากษา ผ่านระบบ Video Conference ไปยังเรือนจำให้จำเลยทั้ง 7 คน เนื่องจากสถานการณ์โควิด
ในวันนี้ นายจักรกฤษ กลั่นดี และ นางจันจิรา ธนพัฒน์ บิดา มารดา ของนายมาวิน ผู้ตาย รวมทั้งทนายความ เดินทางมาฟังคำพิพากษา
นายจักรกฤษ บิดาผู้ตาย กล่าวว่า ไม่ว่าผลคดีจะออกมาเป็นอย่างไร ก็พร้อมยอมรับ และจะไม่ขออุทธรณ์ หรือฎีกา ขอสู้แค่ศาลเดียวพอ ทั้งนี้ ขอให้ฝ่ายจำเลยจ่ายเงินเยียวยา 1 ล้าน 5 แสนบาท ให้ตามที่ตกลงกัน
นายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความของอดีตผู้กำกับโจ้ เปิดเผยถึงคดีนี้ก่อนเข้าฟังคำพิพากษา ว่า คดีนี้สู้กันตามข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน โดยเฉพาะคลิปเหตุการณ์ตอนคลุมศีรษะนายมาวิน ด้วยถุงดำ เป็นการกระทำที่ไม่มีเจตนาให้นายมาวิน เสียชีวิต แม้จำเลยกับพวก จะคุมด้วยถุงพลาสติกหลายใบ ได้มีการคลายถุงให้มีอากาศหายใจ ใช้เวลาคลุมและผ่อนๆ นาน 7 นาที หากจงใจให้เสียชีวิต จะใช้เวลาคลุมถุงแค่ 4 นาที ก็เสียชีวิตได้โดยประเด็นการต่อสู้ โดยการใช้ถุงดำคลุมศีรษะต้องการรีดข้อมูลที่ซ่อนยาเสพติดจากนายมาวิน เพื่อประโยชน์ทางราชการเท่านั้น 6 สิงหาคม พ.ศ.2564 ที่ สภ.เมืองนครสวรรค์
ทั้งนี้ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลย ที่ 1-7 กับพวกรวม 13 คนล่อซื้อจับกุมนายจิระพงษ์หรือมาวิน กับแฟนสาว คดียาไอซ์ จากนั้นจำเลยที่ 1-5 และ7 นำตัวผู้ตายมาสอบสวนเพื่อขยายผลจับกุมยาเสพติด ที่ห้องปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือห้อง 05 โดยไม่ทราบว่ามีการติดกล้องวงจรปิด แต่เมื่อศาลเปิดภาพเคลื่อนไหวจากกล้องวงจรปิด ก็ยอมรับว่าเป็นบุคลในภาพและมีพยานโจทก์ปากอื่นที่เป็นเจ้าหน้าที่กองตรวจพิสูจน์หลักฐานเบิกความยืนยันว่าไม่พบการตัดต่อคลิปภาพดังกล่าว ซึ่งมีการใช้ถุงดำคลุมศีรษะผู้ตายตีละใบ จนครบจำนวน 7 ใบนาน 6 นาทีเศษ ใส่กุญแจมือไพล่หลัง ใช้เข่าทับร่างกายเพื่อมิให้ดิ้นรนขัดขืน เพื่อบังคับให้บอกข้อมูลที่ซุกซ่อนยาเสพติด ซึ่งตรวจดูโทรศัพท์ผู้ตายแล้วเจอภาพยาเสพติดอีกจำนวนหนึ่ง และข่มขู่ว่า"กูจะเอามึงยันตาย หากไม่บอกความจริง"จนผู้ตายส่งเสียงร้อง และพลัดตกจากเก้าอี้และหมดสติดอยู่ที่พื้นห้อง จากนั้นจำเลยที่ 1และพวกได้ช่วยกันปั้มหัวใจ ตรวจดูชีพจร แต่พบว่าผู้ตายหมดสติแล้ว จากนั้นจึงพากันนำส่งโรงพยาบาลพริ้นซ์ปากน้ำโพ ซึ่งแพทย์ได้ช่วยเหลือจนสามารถกู้สัญญาณชีพกลับมาได้แต่ยังอยู่ในภาวะวิกฤติ
การที่จำเลย 1,2,3,4,5 และ 7 ใช้ถุงดำคลุมหัวผู้ตายย่อมเล็งเห็นผลว่าผู้ตายอาจขาดอากาศหายใจได้ ซึ่งการตายเป็นผลโดยตรงจากการถูกคลุมศีรษะด้วยถุงพลาสติก จนขาดอากาศหายใจ การกระทำของจำเลยทั้ง 6 คน จึงมีเจตนาฆ่าผู้ตายโดยใช้ถุงพลาสติก 7 ใช้คลุมศีรษะทีละใบด้วยความโหดร้ายทรมาน
ส่วนด.ต.ศุภากร จำเลยที่ 6 ฟังได้ว่า แม้จะมีส่วนร่วมกับการจับกุมตัว นายจิระพงษ์ หรือมาวิน แต่เมื่อจำเลยที่ 1-5 และ 7 นำตัวมาสอบสวนขยายผลยาเสพติด จำเลยที่ 6 ได้เข้าไปยังห้องที่เกิดเหตุดังกล่าวแล้วเห็นว่าผู้ตายนอนหมดสติอยู่ที่พื้นห้อง ก็มีการตื่นตกใจและได้เดินออกจากห้องไปไม่กลับเข้ามาอีก จนกระทั่งได้ยินเสียงเรียกให้ช่วยนำผู้ตายส่งโรงพยาบาล จึงได้เข้ามาช่วยเหลือดังกล่าว
พิพากษาว่า จำเลยที่1-5,7 มีความผิดตามประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา157,289(5) (มีเจตนาฆ่าผู้อื่นโดยเล็งเห็นผล โดยทรมานหรือโดยกระทำ ทารุณโหดร้าย), 308 วรรคสอง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำเลยที่ 6 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 , 309 วรรคสอง พระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172 ประกอบ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทําความผิดของจำเลยที่ 1-5,7 ฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหาย แก่ผู้หนึ่งผู้ใด ฐานเป็นเจ้าพนักงานของรัฐร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่ง หรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ฐานร่วมกันกระทำผิดตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้ กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต หรือร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงและทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจ หรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้น หรือจำยอมต่อสิ่งนั้น และฐานร่วมกันฆ่าอื่นผู้โดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้ายเป็นการกระทำ อันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยที่ 1-5,7 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น (โดยเป็นเจตนาเล็งผลตามที่โจทก์บรรยายฟ้อง) โดยทรมานหรือโดยกระทำ ทารุณโหดร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(5)ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษประหารชีวิต
การกระทําความผิดของจำเลยที่ 6 ฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติ หน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ฐานเป็นเจ้าพนักงานของรัฐร่วมกันปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และฐานร่วมกับตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด หรือจ่ายอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต หรือร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง และทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจหรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจ ต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้น หรือจำยอมต่อสิ่งนั้น เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด แต่ความผิดบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กับพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172 มีระวางโทษเท่ากัน จึงให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จำคุก 8 ปี
จำเลยทั้งเจ็ดรับข้อเท็จจริงบางส่วนและนำสืบเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง หลังเกิดเหตุจําเลยทั้งเจ็ด พยายามช่วยเหลือผู้ตายโดยช่วยปั๊มหัวใจผู้ตาย และรีบนำตัวผู้ตาย ส่งโรงพยาบาล จนแพทย์ช่วยรักษาผู้ตายมีสัญญาณชีพและหัวใจกลับมาเต้นก่อนที่ผู้ตาย จะถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา รู้สึกความผิดช่วยค่าปลงศพผู้ตายเป็นเงิน 30,000บาท และวางเงินบรรเทาผลร้ายให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสองคนละ 300,000 บาท นับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงลงโทษจำคุก จำเลยที่ 1-5,7 ตลอดชีวิต คงจำคุกจำเลยที่6 มีกำหนด 5ปี 4เดือน ข้อหาและคำขออื่นให้ยก
ในส่วนคำร้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันกระทำความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้ตาย โดยกระทำทรมานหรือโดยทารุณโหดร้าย จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ร่วมทั้งสองซึ่งเป็นบิดาและมารดา ผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา420 แต่เมื่อจำเลยทั้งเจ็ดเป็นเจ้าพนักงาน เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ โดยที่พระราชบัญญัติความรับผิด ทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 บัญญัติว่า หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหาย ในผลแห่งละเมิดของเจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้อง หน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ ดังนั้น โดยผลของมาตรา 5 ดังกล่าว โจทก์ร่วมทั้งสองเป็นบิดาและมารดาของผู้ตายซึ่งเป็นผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ จึงไม่มีอำนาจฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้กระทำการในการปฏิบัติหน้าที่ได้ จึงเป็นผลให้โจทก์ร่วมทั้งสอง ผู้เสียหายจากการกระทำละเมิดเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ไม่มีสิทธิ์ยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญา ขอให้บังคับจำเลยทั้งเจ็ดซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1วรรคหนึ่ง ได้
ทั้งนี้การยกคำร้องขอดังกล่าวมิได้เป็นการตัดสิทธิ ในการเรียกร้องค่าสินไหมของโจทก์ร่วมทั้งสอง แต่โจทก์ร่วมทั้งสองต้องไปดำเนินการเรียกเอากับ หน่วยงานของรัฐที่จำเลยทั้งเจ็ดสังกัดอยู่
ภายหลังศาลอ่านคำพิพากษา นายจักรกฤษณ์ กลั่นดี พ่อของมาวิน กล่าวว่า วันนี้ศาลอ่านคำพิจารณาโดยละเอียดมาก ซึ่งก่อนหน้านี้ที่ตนยังไม่เห็นคลิป อดีตผู้กำกับโจ้ได้เข้ามากอดพ่อกอดแม่แล้วร้องไห้ ซึ่งพอได้ฟังศาลอ่านพฤติการณ์อย่างละเอียด ก็รู้สึกคาดไม่ถึงว่าจะทำขนาดนี้ ส่วนเรื่องการเรียกร้องค่าสินไหม หลังจากนี้ ก็จะไปดำเนินการฟ้องเรียกค่าเสียหายกับศาลแพ่ง ซึ่งตอนแรกได้คำนวณค่าเสียหายจากการที่หากมาวินมีชีวิตอยู่อีก 10 ปี จะสามารถดูแลครอบครัวได้เป็นเงิน 1.5 ล้าน แต่ก็มีทนายความมาแนะนำว่าให้เพิ่มวงเงินจึงขอปรึกษากันก่อน
นายจักรกฤษณ์กล่าวอีกว่า ระหว่างฟังคำพิพากษาวันนี้ ได้เห็นท่าทีของจำเลย ก็คิดว่า เขาคงคิดว่าทำในสิ่งที่คิดว่าถูกแล้ว ซึ่งตนเข้าใจในการทำงาน แต่เมื่อพลาดพลั้งไปแล้ว และมีการรวมกลุ่มกัน ก็น่าจะห้ามปราม ไม่ใช่ร่วมกันทำให้บอบช้ำทั้งตัว
ส่วนโทษที่ศาลตัดสินในวันนี้ ตนเองพอใจแล้ว และคงจะไม่สู้ต่อในชั้นต่อไป เพราะมองว่า ไม่อยากจะไปพยายามอาฆาตกัน
ส่วนตำรวจที่เป็นคนติดตั้งกล้องวงจรปิด นั้นเคยเจอกันครั้งหนึ่ง เขาบอกกับตนว่า หากเป็นอะไรไปก็ทำใจแล้ว และขอโทษที่ช่วยน้องไม่ได้ คิดไม่ถึงว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ จึงต้องนำคลิปออกมาเผยแพร่ ซึ่งตนก็อยากจะเจอกับตำรวจคนนี้อีกครั้งหนึ่งเพื่อขอบคุณ
กรณีการเรียกค่าสินไหมทดแทนที่ต้องไปฟ้องร้องเรียกกับหน่วยงานต้นสังกัดของจำเลยนั้น ตนขอปรึกษากันกับทนายความก่อน
ด้านนางจันทร์จิรา ธนพัฒน์ แม่ของมาวิน ระบุว่า วันนี้ตนไม่รู้ว่าจำเลยเขาสำนึกจริงหรือไม่ แต่แม่ก็ไม่เข้าใจ ว่าทำไมต้องทำให้ลูกแม่ตายแบบนี้ แต่ส่วนตัว แม่อยากให้ลงโทษประหารชีวิต ให้จำเลยเป็นไปตามลูก เพราะจากที่ฟังศาลบรรยาย พฤติการณ์มันยิ่งกว่าที่ตนเคยดูคลิป ฟังแล้วรับไม่ได้ จึงอยากให้ประหาร แลกกับชีวิตลูกตน
สำหรับรายชื่อตำรวจทั้ง 7 นาย ประกอบด้วย พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล ผกก.สภ.เมืองนครสวรรค์ หรือ ผกก.โจ้ พ.ต.ต.รวีโรจน์ ดิษทอง สว.สส.ร.ต.อ.ทรงยศ คล้ายนาค รอง สวป. ร.ต.ท.ธรณินทร์ มาศวรรณา รอง สวป. ด.ต.วิสุทธิ์ บุญเขียว ผบ.หมู่ ป. ด.ต.ศุภากร นิ่มชื่น ผบ.หมู่ ป. และ ส.ต.ต.ปวีณ์กร คำมาเร็ว ผขบ.หมู่ ป.