รายการ “ถอนหมุดข่าว” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APP และสถานีโทรทัศน์ NEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันพุธที่ 1 มิถุนายน 2565 นำเสนอรายงานพิเศษ ถอนหมุดข่าว PDPA กม.ห้ามเผือก ป่วนจิตสังคมไทย
1 มิ.ย. 65 ไม่ใช่แค่วันหวยออก แต่เป็นวันที่กฎหมายใหม่อีกฉบับ ออกมามีผลบังคับใช้ ซึ่งคนไทยทั้งหลายก็เหมือนถูกหวยกิน มีอาการมึนๆ งงๆ กับกฎหมายนี้กันมาก
มันคือ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 เรียกย่อภาษาอังกฤษว่า PDPA
มีสื่อมากมายพยายามให้ความรู้ความเข้าใจในสาระของ PDPA ในรูปของกราฟฟิกบ้าง ย่อประเด็นสำคัญๆ บ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็อ่านไปงงไปอยู่ดี
นำเสนออย่างไร ก็พ่ายแพ้ให้กับนักสร้างคอนเทนต์ใน tiktok แบบราบคาบ
เจอคลิปฮาประเภท คนจะถ่ายเซลฟี่ตัวเอง ต้องถือโทรโข่งประกาศไล่คนรอบๆ ก่อนถ่าย ก็กลายเป็นไวรัล แชร์กันกระจาย ฮากันกลิ้ง
เป็นธรรมดาที่คนไทยย่อมจะไม่ชินกับความแปลกใหม่ของ PDPA เพราะที่มาของกฎหมาย ก็มาจากสหภาพยุโรป หรืออียู โน่นเลยทีเดียว จึงมีกลิ่นอาย “ฝรั่งจ๋า” ลอยมาแต่ไกล
ถ้าไม่มี PDPA ไทยจะไม่สามารถคบค้ากับทางอียูได้ เพราะทางนั้นซีเรียสด้านการรักษาข้อมูลส่วนบุคคล ต้องการให้เราอยู่ในมาตรฐานเดียวกับยุโรป
เอาเข้าจริง คนที่วุ่นวายมากกว่าก็คือ องค์กร บริษัท ห้างร้าน ต่างๆ ที่ต้องสร้างระบบการจัดเก็บข้อมูลใหม่ให้ได้มาตรฐาน ทั้งของลูกจ้างและลูกค้า
ส่วนระดับชาวบ้าน เราๆ ท่านๆ แทบไม่ได้รับผลกระทบมากนัก อย่างการเซลฟี่หรือถ่ายรูปในที่สาธารณะ แล้วติดคนอื่นรอบๆ มาด้วย ถ้าเอาไปเผยแพร่ในโซเชียล ก็ไม่ได้ถือเป็นความผิดแต่อย่างใด
ไม่ใช่อย่างที่พูดๆ กันไป โน่นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ได้ เล่นเอาประสาทจะรับประทาน กลายเป็นขยับตัวถ่ายอะไรก็ไม่ได้ มันไม่ถึงขนาดน้านน
ไม่ว่าเรื่องใดๆ ก็ตาม ทุกอย่างต้องมองที่ “เจตนา” เป็นหลัก หากเป็นนำภาพคนอื่นไปหากิน โดยไม่ได้รับความยินยอม ตลอดจนสร้างความเสียหายให้เขา จึงจะเข้าองค์ประกอบความผิด
ทั้งนี้ ข้อมูลส่วนบุคคล ที่จะได้รับการคุ้มครองอย่างเข้มงวด ก็เช่น ชื่อ-นามสกุล เบอร์โทรศัพท์ อีเมลส่วนตัว ที่อยู่ปัจจุบัน เลขบัตรประชาชน เลขหนังสือเดินทาง เลขใบอนุญาตขับขี่ ข้อมูลทางการศึกษา ข้อมูลทางการเงิน ข้อมูลทางการแพทย์ ทะเบียนรถยนต์ โฉนดที่ดิน ทะเบียนบ้าน วันเดือนปีเกิด สัญชาติ น้ำหนักส่วนสูง เป็นต้น
สำหรับประชาชน ชาวบ้านแล้ว ต้องบอกว่า เป็นสิ่งดี มีประโยชน์ ที่ข้อมูลเหล่านั้นจะได้รับการปกปิดเป็นความลับ ไม่ถูกใครแอบดูดไปทำมาหากิน หรือสร้างความเดือดร้อน
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าช่วงแรกๆ ของการมี PDPA ก็คงจะมีความสับสนอลหม่านกันเป็นธรรมดา ไม่ว่าจากระดับคนทั่วไป องค์กร รวมถึงผู้รักษากฎหมาย ในการตีความว่าอะไร ใช่หรือไม่ใช่
เพราะข้อกฎหมายของ PDPA มันมีรายละเอียดที่ยิบย่อยมากมายจริงๆ ยากแก่ทำความเข้าใจ และจดจำได้ครบหมด
เพียงแต่หลักการง่ายๆ ที่ทุกคนพึงเตือนสติตัวเองไว้ ก็คือคำว่า “เจตนา” ถ้าเอาข้อมูลส่วนบุคคลใครไปใช้ด้วยเจตนาที่ไม่ดี สร้างความเสื่อมเสีย ก็เตรียมตัวรอรับหมายได้
พฤติกรรมตัวอย่างที่น่าจะตรงกับบทบัญญัติของ PDPA ก็คือ พฤติกรรมของ “บังแจ๊ค” ที่เอารูปส่วนตัวของดาราสาว “แตงโม นิดา” มาโพสต์ปั่น เพื่อหายอดไลค์ให้เพจตัวเอง แถมยังมีข้อความที่มีเจตนาใส่ร้ายคนอื่นแนบมาด้วย แบบนี้โดนแน่นอน
หลังมี PDPA ทุกคนคงฝันหวานถึงโลกอันสงบสุข ไม่มีโทรศัพท์ลึกลับ โทรมาขายประกันชีวิต หรือขายบัตรเครดิต เพราะเบอร์โทรศัพท์ของเรา ย่อมได้รับการปกปิดเรียบร้อยแล้ว
แต่มีคนหนึ่งที่มีอำนาจเหนือ PDPA ต่อให้กำหนดโทษร้ายแรงแค่ไหน ก็ทำอะไรเขาไม่ได้
เขาก็คือ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ผู้มุ่งมั่น ขยันล่าเหยื่อแบบแรงดีไม่มีตกนั่นเอง
--------------------------------
**หมายเหตุ
ดาวโหลดแอป Sondhi App ได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore : https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play : https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android
สมัครสมาชิกได้แล้ววันนี้
รายเดือนเพียง เดือนละ 99 บาท
รายปี 990 บาท (10 เดือน แถม 2เดือน )
ถ้ามีปัญหาการใช้งาน app หรือการสมัครสมาชิกใน app ติดต่อสอบถามได้ที่ Line id : @sondhitalk หรือ https://lin.ee/Skns1k1