xs
xsm
sm
md
lg

เผยผลผ่าพิสูจน์ “แตงโม” รอบสอง พบบาดแผล 22 จุด “ทนายเดชา” ระบุนำไปใช้แจ้งข้อหาเพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - เลขาฯ รมว.ยุติธรรม เผยผลผ่าพิสูจน์ “แตงโม” รอบสอง พบบาดแผล 22 จุด “ทนายเดชา” ชี้ผลส่วนใหญ่คล้ายครั้งแรก นำไปใช้ในการแจ้งข้อหาเพิ่ม

วันนี้ (31 มี.ค.) เวลา 15.00 น. ที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการ รมว.ยธ. พร้อมด้วย พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์, ผศ.นพ.วรวีร์ ไวยวุฒิ รองผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ในฐานะประธานกรรมการผ่าพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์, นพ.รักษชัย นาทองไชย หัวหน้ากลุ่มพยาธิวิทยา สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และ ทนายเดชา กิตติวิทยานันท์ ในฐานะทนายความของ นางภนิดา ศิระยุทธโยธิน หรือคุณแม่ของ น.ส.นิดา พัชรวีรพงศ์ “แตงโม” ร่วมแถลงผลการผ่าพิสูจน์ศพ ครั้งที่ 2

ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต กล่าวว่า สืบเนื่องจากคุณแม่แตงโมยื่นร้องขอให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ทำการผ่าชันสูตรศพซ้ำ หลังมีประเด็นข้อสงสัยเรื่องบาดแผลตามร่างกาย 11 ข้อ และรายงานผลตรวจเสร็จสิ้นแล้วแต่สามารถชี้แจงได้บางประเด็นเพราะเป็นเรื่องรายละเอียดในคดี เป็นความรับผิดชอบของตำรวจ ซึ่งผลพิสูจน์ครั้งที่ 2 มีข้อจำกัดหลายอย่าง ไม่ว่าจะสภาพศพที่เปลี่ยนแปลง โดยบริเวณศีรษะหรือใบหน้าจากการผ่าพิสูจน์ซ้ำไม่พบบาดแผล และเจ้าหน้าที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ลงพื้นที่ตั้งแต่ครั้งแรกมีภาพถ่าย ทางญาติสามารถร้องขอนำไปเปรียบเทียบได้ , ลำคอที่สวมสร้อย มีภาพตั้งแต่แรกว่าสร้อยคอยังคงหย่อน พอเวลาผ่านไปร่างกายก็บวมจนเป็นที่สังเกต ไม่พบว่ามีการรัดคอ

ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต กล่าวอีกว่า ส่วนบาดแผลต้นขาขวาจะบอกว่าเกิดขึ้นหรือหลังเสียชีวิตแต่ไม่ได้บอกว่าเกิดจากวัตถุใด, เล็บมือ ได้ตรวจซ้ำอีกครั้งว่ามีการต่อสู้หรือทำร้ายร่างกายหรือไม่, แผ่นหลัง ไม่พบบาดแผล, หลอดลมและอวัยวะเพศ ได้นำสารคัดหลั่งไปตรวจแล้ว, เสื้อผ้าที่สวมใส่ตอนเสียชีวิต แต่ไม่ใช่ชุดบอดี้สูท ไม่ใช่ชุดเดียวกัน เพราะเป็นหน้าที่ตำรวจ และ โครงสร้างกระดูกทั้งหมดไม่พบการแตกหัก เช่น ฟัน ยังครบถ้วนสมบูรณ์ เนื่องจากใช้ระบบซีทีสแกนตรวจสอบ ทั้งนี้ ในการตรวจสอบของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์พบบาดแผลทั้งหมด 22 จุด

ด้าน พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ เผยว่า สถาบันนิติวิทยาศาสตร์รับเรื่องตั้งแต่วันที่ 14 มี.ค. และ 15 มี.ค. ได้ประชุมมีมติรับผ่าศพครั้งที่ 2 ตามกฎหมาย พ.ร.บ.การให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2559 ที่กำหนดว่า หากมีการร้องขอให้ตรวจสอบรอบ 2 เข้ามา สถาบันฯ ต้องรับไปดำเนินการ เพื่อไม่ให้เป็นการขัดแย้งกับการตรวจครั้งแรก ซึ่งครั้งนี้ก็เสร็จสิ้นไปแล้ว โดยวันที่ 16 มี.ค. ได้ตั้งคณะทำงานจากแพทย์หลายสถาบัน ผ่าชันสูตรศพซ้ำวันที่ 17 มี.ค. และใช้เวลา 4 วันในการตรวจสอบ ส่วนความล่าช้าที่เกิดขึ้นนั้นเพราะต้องรอผลจากห้องแลป แต่มีข้อจำกัดเรื่องสภาพศพที่เปลี่ยนแปลงหลังการตาย

ผศ.นพ.วรวีร์ กล่าวว่า สำหรับบาดแผลที่ขายังตอบไม่ได้ว่าเกิดจากอะไร โดยตำรวจจะไปจำลองเหตุการณ์เกิดบาดแผลกับวัตถุต่างๆ อาจจะเป็นใบพัดเรือหรือวัตถุอื่น เพื่อเปรียบเทียบกับบาดแผล ส่วนการตรวจสอบเรื่องแอลกอฮอล์นั้น ปกติแล้วหากเสียชีวิตร่างกายจะไม่ขับแอลกอฮอล์เพราะต้องขับออกจากลมหายใจ ดังนั้นการตรวจสอบจากศพจะมีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย

“สำหรับสารยูเรียถือเป็นองค์ประกอบในปัสสาวะ หากมีน้ำปัสสาวะในแผ่นอนามัยก็จะตรวจเจอ แต่ที่ตรวจไม่พบเพราะอาจไม่มีปัสสาวะหรือแผ่นอนามัยแช่น้ำนาน สารยูเรียจึงอาจจะถูกชะล้างไป”

ทนายเดชา กล่าวว่า จะนำผลชันสูตรไปปรึกษากับตำรวจ ซึ่งผลตรวจส่วนใหญ่ตรงกับครั้งแรก และต้องดูรายละเอียดเพิ่มเติมก่อน แต่ถือว่าเป็นประโยชน์กับการแจ้งข้อหาเพิ่มว่าเกิดจากเจตนาหรือความประมาท สำหรับสภาพศพถือเป็นวัตถุพยานและต้องดูว่ามีร่องรอยการทำร้ายหรือไม่ หากมีก็ต้องเทียบกับพยานแวดล้อม จีพีเอส เพื่อประกอบการแจ้งข้อหาฆ่าผู้อื่น ทั้งนี้ คาดว่าคงไม่มีการผ่าพิสูจน์ซ้ำรอยที่ 3 ตั้งแต่ตนเป็นทนายความมามีเพียงครั้งเดียวเท่านั้น แต่คดีนี้คงพอแล้ว










กำลังโหลดความคิดเห็น