อัยการไทยประสานแคนาดาจับกุมตัว “แมทธิว” 1 ใน 2 คนร้าย ยิงนักท่องเที่ยวที่ภูเก็ต รอขั้นตอนขอส่งเป็นผู้ร้ายข้ามแดนกลับมาดำเนินคดีตามกฎหมาย
เมื่อเวลา 10.30 น. วันนี้ (28 ก.พ.) ที่ Press Center ชั้น 2 สำนักงานอัยการสูงสุด อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร
นายประยุทธ เพชรคุณ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ ในฐานะรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด นายจิตภัทร พุ่มหิรัญ อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ในฐานะรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด พร้อมด้วย นายจุมพล พันธุ์สัมฤทธิ์ อธิบดีอัยการ สำนักงานต่างประเทศ และ นางอินทรานี สุมาวงศ์ อัยการอาวุโส สำนักงานต่างประเทศ ได้ร่วมกันแถลงข่าว เรื่อง การส่งผู้ร้ายข้ามแดนคดีที่คนร้ายได้ร่วมกันยิงนาย Jimi SANDHU เสียชีวิตที่จังหวัดภูเก็ต
นายประยุทธ รองโฆษก ระบุว่า เกี่ยวกับคดีดังกล่าวเหตุเกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา ประมาณ 22.30 น. ได้เกิดเหตุคนร้ายชาวต่างชาติ 2 คนใช้อาวุธปืนยิงนาย จิมมี่ ซานดู (Jimi SANDHU) ชาวต่างชาติเสียชีวิต เหตุเกิดที่บริเวณหน้าวิลล่า A (ริมหาด) The Beachfront Hotel Phuket หมู่ที่ 5 ตำบลราไวย์ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ซึ่งจากการสอบสวนของพนักงานสอบสวนจังหวัดภูเก็ต พบว่า นาย แเมทธิว ดูปรี (Matthew DUPRE)
เป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดในคดีนี้ ร่วมกับผู้ต้องหาคนอื่น ซึ่งต่อมาพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรฉลอง ได้ยื่นคำร้องขอหมายจับผู้ต้องหา เมื่อวันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 ศาลจังหวัดภูเก็ตได้ออกหมายจับผู้ต้องหาร่วมกับผู้ต้องหาอื่น ในข้อหา “ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน หรือเพื่อตระเตรียมการ หรือเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่างอื่น, มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนและยิงปืนโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้าน หรือที่ชุมนุมชน” โดยจากการตรวจสอบข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่า ผู้ต้องหาได้เดินทางออกจากประเทศไทย เมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ 6 กุมภาพันธ์ 2565 ปลายทางประเทศแคนาดา และจากการประสานตรวจสอบพบว่าผู้ต้องหาได้เดินทางถึงประเทศแคนาดาแล้ว
นายจุมพล พันธุ์สัมฤทธิ์ อธิบดีอัยการ สำนักงานต่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ต่อมาเมื่อวันอังคารที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 (เวลา 17.00 น.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยกองการต่างประเทศ ได้ส่งเรื่องมายังสำนักงานอัยการสูงสุด พร้อมหมายจับผู้ต้องหาเพื่อขอให้อัยการสูงสุด ในฐานะอัยการสูงสุดเป็นผู้ประสานงานกลาง ตามพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2551 และอัยการสูงสุดได้มอบหมายให้อธิบดีอัยการสำนักงานต่างประเทศ และคณะพนักงานอัยการสำนักงานต่างประเทศ ดำเนินการร้องขอทางการแคนาดาให้จับกุมและส่งผู้ร้ายข้ามแดนผู้ต้องหากลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย สำนักงานต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด ได้รับเรื่องแล้วเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญกระทำการอุกฉกรรจ์และเกี่ยวกับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติที่อยู่ในความสนใจของประชาชน จึงได้ดำเนินการโดยเร่งด่วน
ในวันเดียวกัน (15 กุมภาพันธ์ 2565) เวลา 22.30 น. โดยประชุมกับพนักงานอัยการแคนาดา ฝ่ายส่งผู้ร้ายข้ามแดน กระทรวงยุติธรรม ผู้ประสานงานกลางของแคนาดา (ผ่านการแนะนำและประสานงานของเครือข่ายสากลระดับโลก ในการต่อต้านองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ (GPTOC) ของสำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime (UNODC)) เพื่อหารือในรายละเอียดการจัดทำคำร้องขอให้ทางการแคนาดาจับกุมชั่วคราว (Provisional Arrest) ผู้ต้องหาโดยเร่งด่วน ตามสนธิสัญญาว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนกันในระหว่างกรุงสยามกับอังกฤษ ร.ศ. 129 (พ.ศ. 2454) ซึ่งประเทศแคนาดาสืบสิทธิจากสหราชอาณาจักร (อังกฤษ)
วันพุธที่ 16 กุมภาพันธ์ 2565 พนักงานอัยการ สำนักงานต่างประเทศ ได้ประชุมหารือกับพนักงานอัยการแคนาดาต่อเนื่องในประเด็นการรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อจัดทำคำร้องขอจับกุมชั่วคราวและพนักงานอัยการ สำนักงานต่างประเทศเจ้าของสำนวน ได้เดินทางไปจังหวัดภูเก็ต เพื่อประสานงานกับพนักงานสอบสวนตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุและพยานหลักฐานเพื่อบรรยายในคำร้องขอของไทยให้พนักงานอัยการแคนาดาสามารถยื่นคำร้องขอออกหมายจับตามกฎหมายแคนาดาได้
วันพฤหัสบดีที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 อัยการสูงสุด ผู้ประสานงานกลาง ได้อนุมัติให้ส่งคำร้องขอจับกุมชั่วคราวผู้ต้องหาไปยังทางการแคนาดา สำนักงานต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด ได้ส่งคำร้องขอจับกุมชั่วคราวไปยังทางการแคนาดา ต่อมาอัยการสูงสุดแคนาดา ผู้ประสานงานกลาง อนุมัติให้ขอหมายจับผู้ต้องหาได้ และส่งเรื่องไปยังพนักงานอัยการรัฐอัลเบอร์ต้าเพื่อยื่นคำร้องต่อศาล และศาลรัฐอัลเบอร์ต้าได้ออกหมายจับนาย Matthew DUPRE วันอาทิตย์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2565 เจ้าหน้าที่ตำรวจของรัฐบาลกลางแคนาดา (Royal Canadian Mounted Police (RCMP)) จับกุมนาย Matthew DUPRE ได้ และนำตัวส่งศาล ขณะนี้ นาย Matthew DUPRE อยู่ในความควบคุมของศาลรัฐอัลเบอร์ต้า เมืองเอ็ดมันตัน เพื่อรอการพิจารณาคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งตามกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน ค.ศ. 1999 ของแคนาดา ทางการไทยต้องส่งคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนเต็มรูป (Full Request) ที่มีคำสั่งฟ้องของพนักงานอัยการในข้อหาและตัวบทกฎหมายที่ชัดเจนส่งไปพร้อมคำร้องขอผ่านวิถีทางการทูตต่อไป
นางอินทรานี กล่าวต่อว่า การจับกุม นาย Matthew DUPRE ผู้ต้องหาได้ในครั้งนี้ เกิดจากการประสานงานร่วมกันหลายฝ่ายอย่างรวดเร็วทั้งกลางวันกลางคืนตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดต้องขอขอบคุณหน่วยงานต่างประเทศ คือ พนักงานอัยการ ฝ่ายส่งผู้ร้ายข้ามแดนกระทรวงยุติธรรมแคนาดา พนักงานอัยการรัฐอัลเบอร์ต้า เจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐบาลกลางแคนาดา (RCMP) และเจ้าหน้าที่ของเครือข่ายสากลระดับโลกในการต่อต้านองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ (GPTOC) ของสำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ หน่วยงานไทย คือ กองการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และพนักงานสอบสวนจังหวัดภูเก็ต ที่ร่วมมือประสานงานกันอย่างใกล้ชิดตลอดเวลาทำให้ศาลแคนาดาออกหมายจับผู้ต้องหาได้อย่างรวดเร็ว
นางอินทรานี ตอบคำถามถึงระยะเวลาในการนำตัวกลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย ว่า ระยะเวลานั้นมีช่วงขอจับกุมตัวชั่วคราว ซึ่งต้องทำงานเเข่งกับเวลา บางประเทศต้องการคำสั่งฟ้อง บางประเทศใช้ของพนักงานสอบสวนก็ได้เเต่บางประเทศระบุเลยว่าต้องเป็นของพนักงานอัยการซึ่งประเทศปลายทางจะเเจ้งมาตรฐานของเรื่องระยะเวลา เรื่องนี้ประเทศปลายทางต้องการหลักฐาน เพื่อขอศาลในประเทศที่ทางอัยการเรายื่นเรื่องไป โดยศาลประเทศปลายทางจะดูจากคำร้องขอเเล้วจับกุมชั่วคราว หลังจากนั้นเราจึงทำคำร้องขอของอัยการเข้าไปซึ่งกระบวนการในซาลต่สงประเทศก็จะให้โอกาสผู้ต้องหามีทนายคัดค้านการส่งผู้ร้ายข้ามเเดน โดยการทำคำร้องเพื่อไต่สวนในต่างประเทศอัยการทั้งสองประเทศจะต้องประสานงานกัน เรื่องระยะเวลาขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานเเต่ละคดี ซึ่งก็จะมีตั้งแต่ 1-2 ปี หรืออาจจะนานกว่าอย่างคดี นายราเกซ สักเสนา คดีทุจริตฯบีบีซีใช้เวลาถึง 13 ปี ซึ่งระยะเวลาในคดีนี้ก็เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมายเเต่ละประเทศ แต่สำนักงานอัยการสูงสุดจะทำเต็มที่ แต่ในขณะนี้สิ่งสำคัญที่สุดคือผู้ต้องหาถูกจับกุมแล้วตามคำขอของเรา เราทำในนามประเทศ ที่ผ่านมาเราไม่เคยผิดพลาดเรื่องระยะเวลาขอให้มั่นใจ ถ้าหากพบปัญหาเราก็จะเดินทางไปติดตามคดีดำเนินการด้วยตนเอง เราจะเอาใจใส่จนถึงที่สุด
ครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งเเรกที่ประเทศแคนาดาดำเนินการจับกุมได้รวดเร็วตามคำร้องขอของอัยการประเทศไทย ถือเป็นเรื่องที่ที่ดีเป็นเรื่องสำคัญที่มองเห็นถึงภาพความร่วมมือค่อไปของหลายหน่วยงาน
นายจุมพล ยังตอบคำถามถึงการตามตัวผู้ต้องหาที่เหลือ ว่า ทางการแคนาดาให้ข้อมูลมาบางส่วนแล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ และหากจับตัวได้ก็จะเข้าสู่กระบวนการเช่นเดียวกับผู้ต้องหารายนี้