ศาลอาญาธนบุรี สั่งจำคุก “สาวเจ้าของร้านเพชร” เป็นเวลา 3 ปี เบิกความเท็จ กล่าวหาพ่อค้าข้าวเหนียวไก่ทอดเป็นโจรวิ่งราวเพชร มูลค่า 15 ล้าน จนตกเป็นแพะ ถูกฟ้องติดคุกฟรี 7 เดือน
วันนี้ (20 ม.ค.) ศาลอาญาธนบุรี อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ.1150/2562 ที่นายพิสิษฐ์ สุวรรณพิมพ์ อาชีพพ่อค้าหมูปิ้ง อดีตจำเลยคดีวิ่งราวเพชรมูลค่า 15 ล้านบาท เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.บุญญรัตน์ รัศมีสุขานนท์ จำเลยที่ 1 บริษัท กาแล็คซี่ไดมอนด์ จำกัด จำเลยที่ 2 นายดีวัง กุมาร ชีวันทิลาล ซังกาวี จำเลยที่ 3 นางประยอม ตันสถาพร จำเลยที่ 4 ในความผิดฐานนำความเท็จฟ้องผู้อื่นฯ และเบิกความเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาลฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา (ป.อ.) มาตรา 175, 177
พฤติการณ์กล่าวหาคดีนี้ สรุปว่า เมื่อเดือน เม.ย. 2560 พนักงานอัยการ ยื่นฟ้องโจทก์คดีนี้ เป็นจำเลยต่อศาลอาญาธนบุรี ในข้อหาวิ่งราวทรัพย์และหน่วงเหนี่ยวกักขัง จากที่เกิดเหตุมีคนร้ายคือนายแดง วิ่งราวทรัพย์แหวนเพชร 4 รายการ ของจำเลยที่ 1 ซึ่งประกอบอาชีพขายเพชรที่นำไปขายให้นายแดง ที่บ้านแห่งหนึ่ง ย่านภาษีเจริญ โดยคนร้ายได้กักขังจำเลยที่ 1 ไว้ในบ้านแล้วได้หลบหนีไปพร้อมถาดแหวนเพชร
ภายหลังเมื่อมีการแจ้งความ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ส่งรูปบัตรประชาชนของ นายพิสิษฐ์ โจทก์ที่เคยนำไปใช้เป็นเอกสารสำหรับเปิดใช้โทรศัพท์มือถือ ให้ น.ส.บุญญรัตน์ จำเลยที่ 1 ดู แล้วแจ้งว่าโจทก์ คือ นายแดง คนร้ายวิ่งราวทรัพย์ นอกจากนี้ ยังได้มีการสอบปากคำ นางประยอม จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นแม่บ้านเป็นพยาน โดยเมื่อเดือน ก.ค. 2560 จำเลยที่ 1 ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมคดีดังกล่าว ส่วนบริษัท กาแล็คซี่ไดมอนด์ จำกัด โดยจำเลยที่ 3 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 เข้าเป็นโจทก์ร่วมด้วย ซึ่งภายหลัง น.ส.บุญญรัตน์ จำเลยที่ 1 และ นางประยอม จำเลยที่ 4 ได้เบิกความในคดีดังกล่าว โดยการเบิกความนั้นเป็นเท็จ ปรักปรำให้โจทก์ต้องได้รับโทษทางอาญา
โดยในชั้นตรวจฟ้อง ศาลมีคำสั่งรับฟ้องเฉพาะข้อหาเบิกความเท็จ ตาม ป.อ.มาตรา 177 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ น.ส.บุญญรัตน์ จำเลยที่ 1 และ นางประยอม จำเลยที่ 4 ส่วนข้อหาอื่นให้ยก และยกฟ้องจำเลยที่ 2-3 ขณะที่ชั้นไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ ชั้นพิจารณา น.ส.บุญญรัตน์ จำเลยที่ 1 และ นางประยอม จำเลยที่ 4 ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา
ซึ่งศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์และจำเลยแล้วเห็นว่า การที่จะเบิกความเท็จ ตาม ป.อ.มาตรา 177 ผู้กระทำจะต้องกระทำโดยเจตนาคือรู้อยู่แล้วว่าข้อความที่นำมาเบิกความนั้นเป็นเท็จ โดยจำเลยที่ 1 เบิกความเป็นพยานในคดีดังกล่าวซึ่งยืนยันว่าโจทก์คือนายแดง คนร้ายที่วิ่งราวทรัพย์ โดยรู้อยู่แล้วว่าโจทก์ไม่ใช่นายแดง ซึ่งคำเบิกความดังกล่าวหากศาลฟังข้อเท็จจริงตามที่จำเลยที่ 1 เบิกความจะมีผลให้ได้รับโทษ จึงเป็นข้อสำคัญในคดี จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดตาม มาตรา 177 วรรคสอง
สำหรับจำเลยที่ 4 ไม่ปรากฏว่าเคยพบกับนายแดงมาก่อนเกิดเหตุ อีกทั้งในวันเกิดเหตุได้พบกับคนร้าย 2 ครั้งแต่ละครั้งใช้เวลาไม่นาน และเมื่อมีการวัดความสูงเปรียบเทียบโจทก์กับคนร้าย ภายหลังจำเลยที่ 4 จึงเบิกความใหม่ว่าโจทก์ไม่ใช่คนร้าย เมื่อไม่ปรากฏเหตุจูงใจที่จะทำให้เห็นได้จำเลยที่ 4 มีเจตนาเบิกความอันเป็นเท็จ พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมายังมีข้อสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 4 กระทำผิดหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งข้อสงสัยให้ ตามประมวลกฎหมายวิธิจารณาความอาญา (ป.วิ.อ.) มาตรา 227 วรรคสอง
ศาลจึงพิพากษาว่า น.ส.บุญญรัตน์ จำเลยที่ 1 มีความผิดตาม ป.อ.มาตรา 177 วรรคสอง ให้จำคุก 3 ปี และให้ยกฟ้อง นางประยอม จำเลยที่ 4
สำหรับคดีเพชรถูกโจรกรรม มูลค่ากว่า 15 ล้านบาท เกิดเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2559 ในบ้านแห่งหนึ่งเขตภาษีเจริญ กรุงเทพ และตำรวจติดตามไปจับกุมตัวนายพิสิษฐ์ ได้ที่บ้านเช่าในจังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 และถูกอัยการยื่นฟ้องเป็นจำเลย และถูกขังที่เรือนจำพิเศษธนบุรี ระหว่างการพิจารณาคดีเป็นเวลา 7 เดือน 10 วัน จนกระทั่งศาลอาญาธนบุรีพิพากษายกฟ้อง เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2560 จึงปล่อยตัวสู่อิสรภาพ
ต่อมาฝ่ายโจทก์ยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2561 จากนั้นฝ่ายโจทก์ก็ไม่ได้ขอยื่นฎีกา คดีแพะชิงเพชรจึงคดีสิ้นสุดในวันที่ 24 ธันวาคม 2561
ดังนั้น นายพิสิษฐ์ จึงได้นำคดีไปร้องเรียนหลายหน่วยงานเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม และมายื่นฟ้องต่อศาลเป็นคดีนี้ด้วยตัวเอง โดยศาลอาญาธนบุรี พิพากษาลงโทษจำคุก น.ส.บุญญรัตน์ จำเลยที่ 1 ในคดีนี้ฐานเบิกความเท็จ เป็นเวลา 3 ปี ดังกล่าว
ภายหลังศาลอาญาธนบุรี อนุญาตให้ประกัน น.ส.บุญญรัตน์ รัศมีสุขานนท์ จำเลยที่ 1 ฐานเบิกความเท็จ ในระหว่างอุทธรณ์ โดยตีราคาประกัน 150,000 บาท