MGR Online - “ปปง.-ตร.” ร่วมประชุมหาแนวทางแก้ปัญหาคดีค้ามนุษย์ มุ่งเลื่อนระดับเป็นเทียร์ 2 ของไทยได้ในปี 2565 เตรียมยึดทรัพย์ผู้กระทำผิด 3 แนวทาง
วันนี้ (14 ม.ค.) เวลา 10.00 น. ณ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ ปิงเมือง เลขาธิการ ปปง. ได้มอบหมายให้ นายเทพสุ บวรโชติดารา รองเลขาธิการ ปปง. เป็นผู้แทนเข้าร่วมการประชุม ร่วมกับ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, พล.ต.ต.กฤษดากร พลีธัญญวงค์ รองผู้บัญชาการการศึกษา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ ผู้บริหารสำนักงาน ปปง. พนักงานสืบสวนสอบสวนเจ้าของคดี พนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงาน ปปง. ร่วมประชุมหารือเรื่อง การประสานงานระหว่างพนักงานสืบสวนสอบสวนกับพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องในความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 โดยการประชุมดังกล่าวดำเนินการภายใต้มาตรการด้านการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข
พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า จากกรณีที่ประเทศไทยถูกลดอันดับการรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์จากทางการสหรัฐฯ ลงเป็นอันดับประเทศที่ต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) โดยมีข้อสังเกตในเรื่องการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการค้ามนุษย์อย่างจริงจังในทุกภาคส่วนนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ให้ทุกหน่วยเร่งรัดปราบปรามการค้ามนุษย์ทุกรูปแบบและใช้มาตรการยึดทรัพย์
พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ กล่าวอีกว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงสั่งการให้ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศพดส.ตร.) ดำเนินการจับกุมปราบปรามทุกรูปแบบมาต่อเนื่อง และสืบสวนขยายผลคดีค้ามนุษย์ที่เข้าข่ายทำการฟอกเงิน 48 คดี ซึ่งเป็นคดีที่อยู่ในความรับผิดชอบของตำรวจ 44 คดี กรมสอบสวนคดีพิเศษ 3 คดี และกระทรวงมหาดไทย 1 คดี มีมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท แต่การดำเนินการยังเป็นไปด้วยความล่าช้า เพื่อให้การยึดทรัพย์รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ เป็นไปตามกระบวนการตามกฎหมาย
“ดังนั้น ในวันนี้จึงนำพนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบคดีมาหารือร่วมกับสำนักงาน ปปง. เพื่อหารือแนวทางในการประสานงานในการยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด 3 แนวทาง คือ 1. ทรัพย์สินโดยตรง เช่น เงินสด 2. ทรัพย์สินที่เกิดจากการแปรสภาพ เช่น บ้าน รถ และ 3. ทรัพย์สินที่ผสมผสาน เช่น บ้านหรือรถที่ผ่อนชำระ ซึ่งหลังจากที่ประชุมจะมีการกำหนดไทม์ไลน์ (Timeline) การทำงานที่ชัดเจน เช่น การออกคำสั่งสืบทรัพย์ มอบหมายให้ พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปสืบทรัพย์ ตรวจค้น แล้วรายงานผลให้ที่ประชุมรับทราบตามขั้นตอน เพื่อจะได้ทำการยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด และนำทรัพย์สินมาเยียวยาเหยื่อ ผู้เสียหายต่อไป” พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ กล่าว
ด้าน นายเทพสุ เผยว่า ที่ผ่านมา สำนักงาน ปปง. ได้ดำเนินการเกี่ยวกับการยึดอายัดทรัพย์สินผู้กระทำความผิดภายใต้กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินอย่างเด็ดขาดและจริงจัง โดยเฉพาะความผิดตามมูลฐานค้ามนุษย์ทุกรูปแบบ โดยได้บูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้สามารถดำเนินการกับทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดได้จำนวนมาก ทั้งนี้ จากนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลดังกล่าว สำนักงาน ปปง. ได้เร่งดำเนินการตามมาตรการด้านการปราบปรามและขยายผลการดำเนินงานอย่างเข้มข้น ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 ได้มีมติมอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมและทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดในคดีค้ามนุษย์ จำนวน 48 คดี
นายเทพสุ เผยอีกว่า สำหรับการประชุมในวันนี้เป็นการหารือร่วมกันระหว่าง สำนักงาน ปปง. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อกำหนดแนวทางการประสานงานในการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างพนักงานสอบสวนและพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงาน ปปง. ผู้รับผิดชอบสำนวนคดี ซึ่งถือเป็นการเพิ่มศักยภาพในการดำเนินการด้านการยึดและอายัดทรัพย์กับผู้ต้องหาและดำเนินคดีฐานฟอกเงินกับกลุ่มผู้กระทำความผิดที่อยู่เบื้องหลังแบบขุดราก ถอนโคน และคุ้มครองสิทธิของประชาชนตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล ทั้งนี้ การดำเนินการในลักษณะนี้ทางสำนักงาน ปปง. สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะร่วมกันทำงานอย่างนี้ต่อไป เราจะเดินหน้าไปด้วยกัน เพื่อให้สังคมมีความสงบสุขเรียบร้อย
“สำนักงาน ปปง. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะสานต่อแนวทางในการทำงานร่วมกันเชิงบูรณาการเช่นนี้ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นที่ตั้ง ทั้งนี้ หากประชาชนพบการกระทำความผิด สามารถแจ้งเบาะแสมายังสำนักงาน ปปง. ได้ที่สายด่วน ปปง. 1710” รองเลขาธิการ ปปง. กล่าว