xs
xsm
sm
md
lg

“สมศักดิ์” ยันไม่มีอำนาจสั่งลดโทษ-พักโทษ ชี้มีระเบียบขั้นตอนราชทัณฑ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - รมว.ยุติธรรม แจงไม่เคยร่วมประชุมกรรมการลดโทษ-พักโทษ ให้อิสระอำนาจเต็มที่ ไม่แทรกแซง เผยไม่เคยมีการเสนอพักโทษ 4 นักโทษจำนำข้าว

วันนี้ (20 ธ.ค.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีการลดโทษผู้ต้องขังว่า เรื่องนี้ทำตามกฎและระเบียบของกรมราชทัณฑ์ที่มีกำหนดไว้อย่างชัดเจน ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายและตามหลักการของกระบวนการยุติธรรมทั้งสิ้น ถ้าผู้ต้องขังทำถูกต้องผ่านตามเงื่อนไขก็จะได้รับสิทธิ เพราะตามกฎหมายจะมีการปรับชั้นของนักโทษอยู่แล้ว ผู้ต้องขังทุกคนมีสิทธิในการถูกพิจารณา ซึ่งในส่วนของคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยลดวันต้องโทษจำคุก จะมี อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เป็นประธาน และคณะอนุกรรมการจะประกอบด้วย ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ผู้แทนกรมคุมประพฤติ เป็นต้น ซึ่งมีทั้งหมด 9 ท่าน และยังมีคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษ จะมีปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน ซึ่งมีทั้งหมด 19 ท่าน โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากบุคคลภายนอก อาทิ ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนศาล ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ โดยอนุกรรมการทั้ง 2 ชุดตนไม่เคยไปก้าวล่วงในการทำงาน เพราะทุกท่านที่เข้ามาเป็นอนุกรรมการล้วนแต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า การทำงานของตนในขณะที่ดำรงตำแหน่งทำงานเช่นเดียวกับรัฐมนตรีท่านก่อนที่ผ่านมา โดยปฏิบัติตามหลักเดียวกันอย่างเคร่งครัด ไม่ได้เปลี่ยนแปลงหลักการในเรื่อง ของ พ.ร.ฎ.อภัยโทษ ส่วนการพักโทษก็ขอยืนยันอนุกรรมการแต่ละท่านเป็นผู้ที่ทรงคุณวุฒิจากหลายหน่วยงานที่ไม่ได้สังกัดกระทรวงยุติธรรม ตนก็ไม่เคยพูดคุยหรือชี้นำใดๆ และที่ผ่านมาตนไม่เคยเข้าไปร่วมประชุมกับอนุกรรมการทั้ง 2 ชุด เหมือนที่มีบางคนกล่าวหา และที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการไม่เคยเสนอการพักโทษให้กับ ผู้ต้องขังสำคัญคดีจำนำข้าว คือ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ นายภูมิ สาระผล นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร และนายมนัส สร้อยพลอย แต่อย่างใด ทุกคนยังอยู่ในเรือนจำ ตนให้อำนาจและความอิสระในการทำงาน นอกจากนี้ในการพิจารณาลดวันลงโทษและพักโทษ คณะกรรมการทุกท่านและข้าราชการทุกคนทำงานโดยอิสระ ไม่เคยมีการกำหนดนักโทษวีไอพี หรือให้สิทธิในการลดโทษ พักโทษเป็นพิเศษกับใครทั้งสิ้น เราดำเนินตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด และให้สิทธิ์แก่ผู้ต้องขังทุกคนอย่างเท่าเทียมตามหลักสิทธิมนุษยชน

"เรื่องนี้ผมจะขอพูดเป็นครั้งสุดท้าย จากนี้จะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการที่นายกรัฐมนตรีตั้งขึ้น การออก พ.ร.ฎ.อภัยโทษ ในสมัยผมมีทั้งหมด 4 ครั้ง ซึ่งผมทำตามกรอบกฎหมายและหลักการ เช่นเดียวกับรัฐมนตรีท่านก่อน ไม่ได้แตกต่างเลย การดำเนินการเป็นอำนาจของข้าราชการ ฝ่ายการเมืองไม่ได้เข้าไปยุ่ง เราทำทุกอย่างถูกกฎหมาย และทำตามที่กฎหมายให้ทำได้

ทั้งนี้จากการสำรวจความคิดเห็นของนิด้าโพล ถึงความเห็นของประชาชนต่อการลดโทษนักโทษคดีทุจริตคอร์รัปชัน พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 50.04 ระบุว่าไม่ควรลดโทษ รองลงมาร้อยละ 26.27 เห็นว่าควรต้องได้รับโทษมาแล้วไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งจึงมีสิทธิได้รับการลดโทษ และร้อยละ 22.02 เห็นว่าควรลดโทษตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ส่วนกรณีการเลื่อนชั้นนักโทษ ร้อยละ 54.52 เห็นว่าควรพิจารณาร่วมกันกับองค์กรอื่นๆ ในกระบวนการยุติธรรม เช่น อัยการ ศาล ร้อยละ 21.79 เห็นว่าควรเป็นอำนาจของกรมราชทัณฑ์เหมือนเดิม และร้อยละ 14.43 เห็นว่า ไม่ควรมีการกำหนดชั้นนักโทษ ซึ่งความเห็นต่างๆเหล่านี้เราจะนำมาพิจารณาต่อไป” นายสมศักดิ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น