โฆษกศาลยุติธรรม ชี้ ลดโทษผู้ต้องขังเป็นหลักสากลใช้กันทุกประเทศ กฎหมายให้อำนาจกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ดำเนินการได้ แต่ปัญหาเกิดจากความเหมาะสม ว่าควรลดโทษมากหรือน้อยเพียงใด
วันนี้ (15 ธ.ค.) นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม ให้ความเห็นกรณีกระแสสังคมวิพากษ์วิจารณ์ที่กรมราชทัณฑ์ สังกัดกระทรวงยุติธรรม ลดโทษให้ผู้ต้องขังคดีสำคัญ ว่า เรื่องการลดโทษเป็นไปตามหลักการสากล ซึ่งในต่างประเทศก็มีหลักการลักษณะคล้ายๆ กัน ซึ่งทำได้ไม่เป็นความผิดในฐานะการใช้อำนาจฝ่ายบริหาร ส่วนจะลดโทษมากหรือน้อยเเค่ไหนนั้น เป็นอีกประเด็นที่จะต้องพิจารณาเรื่องของความเหมาะสมว่าจะลดมากหรือน้อย และจำนวนความถี่แค่ไหน ศาลจะมีอำนาจในการวางกำหนดโทษ ซึ่งเมื่อพ้นไปเเล้วก็เป็นอำนาจกรมราชทัณฑ์
“แต่อำนาจศาลของประเทศไทยก็จะไม่เหมือนบางประเทศ อย่างเช่น ศาลในสหรัฐอเมริกา กฎหมายศาลจะกำหนดไว้เลยว่าคดีนี้จะลดโทษได้แค่ไหน แต่ประเทศไทยเรากฎหมายไม่ได้เขียนไว้เเบบนั้นจึงเป็นอำนาจของกรมราชทัณฑ์” โฆษกศาลยุติธรรมกล่าว
โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวต่อว่า ข้อดีข้อเสียตรงนี้ขึ้นอยู่กับการนำไปใช้ ต้องดูบริบทในประเทศมากกว่าอย่างของราชทัณฑ์ การลดโทษก็เป็นเเรงจูงใจให้นักโทษปฏิบัติตัวดีในเรือนจำ เพื่อป้องกันไม่ให้ก่อความวุ่นวายหรือประพฤติไม่ดี และคนเราสามารถเปลี่ยนกันได้ เพราะหากผู้กระทำผิดอยากกลับตัวกลับใจสามารถฟื้นฟูตนเองได้ ก็ไม่จำเป็นต้องถูกขังไว้เวลานาน แต่อีกมุมถ้าลดโทษมากเกินก็อาจจะส่งผลในการป้องปรามการกระทำผิด
เมื่อถามว่า ประเด็นเรื่องนี้จะมองว่าเป็นอำนาจเหนือศาลยุติธรรมหรือไม่
นายสรวิศ กล่าวว่า กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจศาลไปเกี่ยวข้องตรงนั้นเเล้ว
“การลดโทษเป็นเรื่องของหลักสากลเเละยอมรับ แต่ปัญหาจะมาจากลดแค่ไหนเเละใช้หลักเกณฑ์อย่างไร” โฆษกศาลยุติธรรม ระบุ