นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีต รมช.เกษตรฯ ออกมาโพสต์ข้อความแสดงความเป็นห่วงพี่น้องชาวจะนะในเฟซบุ๊กว่า ไม่สามารถสานงานต่อเรื่องปัญหาของพี่น้องประชาชนในหลายๆ เรื่อง รวมถึงปัญหาของพี่น้องชาวจะนะ ซึ่งคงไม่มีใครรู้ และเข้าใจถึงแก่นแท้ของปัญหา ยกเว้นผู้ที่มีส่วนได้เสียกับโครงการนี้ พร้อมกับแจ้งว่าได้รับการประสานจากเพื่อนๆ ส.ส.หลายท่าน ให้เข้ามาช่วยเหลือพี่น้องชาวจะนะเหมือนเดิม แต่ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นไม่สามารถไปก้าวล่วงกับคณะทำงานชุดใหม่ของรัฐบาลได้อีก แต่จะใช้ระบบสภาผู้แทนราษฎรเข้ามาช่วยเหลือพี่น้องชาวจะนะต่อไปนั้น
ในกรณีดังกล่าวเป็นผลมาจากการเข้าจับกุมแกนนำชาวจะนะ เมื่อคืนวันที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา หลังปักหลักชุมนุมทวงถามข้อสัญญาที่เคยให้ไว้กับชาวบ้านเมื่อปีที่แล้ว แต่ทว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี กลับออกมาให้สัมภาษณ์ว่า สัญญาที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ให้คำมั่นว่าจะชะลอโครงการดังกล่าวออกไปก่อนนั้น เรื่องนี้ก็ยังไม่มีการพิจารณา หรือมีมติเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแต่อย่างใด และยังกล่าวตำหนิ ร.อ.ธรรมนัสอีกว่า เคยเตือนไปหลายครั้งแล้วว่า ในการลงพื้นที่เป็นเพียงไปรับฟัง และนำข้อสังเกตรวบรวมเสนอสู่การพิจารณาแก้ไขปัญหา โดยต้องผ่านความเห็นชอบเป็นมติคณะรัฐมนตรี ก่อนจะไปตกลงกับชาวบ้าน
เป็นที่น่าแปลกใจอย่างยิ่งว่า กรณีที่ ร.อ.ธรรมนัส ไปเจรจาลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับชาวจะนะ เพื่อขอให้ยุติการชุมนุมประท้วง เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.63 ข้างทำเนียบรัฐบาลนั้น เอกสารการลงนามดังกล่าว ครม.ได้มีมติรับทราบรายงานผลการหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาของกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น ตามที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานกรรมการแก้ไขปัญหาฯ เสนอ ครม.เมื่อ 15 ธ.ค.63 แต่ทำไมนายกฯ กลับออกมาพูดปัดความรับผิดชอบไปว่า เรื่องนี้ก็ยังไม่มีการพิจารณา หรือมีมติเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแต่อย่างใด อีกทั้งเมื่อ 17 ม.ค.64 ท่านนายกฯ ยังได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 20/2564 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ตามที่กลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นเรียกร้องแล้วด้วย
กรณีเช่นนี้สะท้อนให้เห็นถึงความใจแคบ และความไร้ความรับผิดชอบต่อการกระทำของผู้นำประเทศที่เด่นชัดยิ่ง หรือคิดจะรับแต่ชอบ แต่ไม่ยอมรับความผิดพลาดล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดินของตนเอง อันอาจส่งผลกระทบกระเทือนถึงความเชื่อมั่นและศรัทธาของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลในที่สุด กรณีนิคมอุตสาหกรรมจะนะจะกลายเป็นมหากาพย์ของความขัดแย้งของสังคมไทยที่ไม่มีที่สิ้นสุด และจะกลายเป็นปัญหาทั้งทางสังคม และสิ่งแวดล้อมที่ต่อให้ 10 ประยุทธ์ก็ยากที่จะแก้ไขปัญหาลงได้ หากไม่รีบกลับตัวกลับใจ พลิกวิกฤตเป็นโอกาสสร้างผลงานชิ้นโบว์แดงเสีย นั่นคือ สั่งให้มีการปฏิบัติตามผลการหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาของกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นที่ ครม.รับทราบไป เมื่อ 15 ธ.ค.63 เสีย เท่านี้ก็ได้ใจชาวใต้อย่างมโหฬารแล้ว