xs
xsm
sm
md
lg

ราชทัณฑ์แจงลดโทษผู้ต้องขังปฏิบัติตามกฎหมาย ยันไม่ช่วยคนบางกลุ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เผย กรณีการลดโทษผู้ต้องขังเป็นไปตามการบริหารโทษและตามกรอบของกฎหมาย เพื่อให้กลับตัวเป็นคนดี ไม่ได้ช่วยเหลือเฉพาะบางกลุ่ม

วันนี้ (10 ธ.ค.) นายณรงค์ จุ้ยเส่ย รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยถึงกรณีที่มีกระแสสังคมตั้งคำถามผ่านสื่อต่างๆ ถึงหลักเกณฑ์การอภัยโทษ ว่า อาจมีการให้สิทธิพิเศษต่อผู้ต้องขังบางกลุ่ม ว่า กรมราชทัณฑ์ ขอทำความเข้าใจเพิ่มเติมเพื่อให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การอภัยโทษ รวมถึงการบริหารโทษของกรมราชทัณฑ์ ว่า การอภัยโทษมีการสืบทอดเป็นโบราณราชประเพณีเนื่องในโอกาสสำคัญของบ้านเมือง เพื่อให้โอกาสแก่ผู้กระทำผิดได้กลับตนเป็นพลเมืองดี อันจะเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ

นายณรงค์ เผยว่า ส่วนกรณีที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ว่า กรมราชทัณฑ์ และกระทรวงยุติธรรม มีอำนาจเหนือคำพิพากษาศาล ขอชี้แจงว่า การพิพากษากำหนดโทษเป็นอำนาจของศาล ในส่วนการบริหารโทษ เป็นอำนาจของกรมราชทัณฑ์ ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ภายใต้อำนาจของกฎหมาย

นายณรงค์ เผยอีกว่า สำหรับหลักเกณฑ์ในการที่นักโทษจะได้รับอภัยโทษ ต้องเป็นนักโทษเด็ดขาดที่มีความประพฤติดี ตั้งแต่ชั้นกลางขึ้นไป ส่วนจะได้รับการลดโทษมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับชั้นและประเภทคดีเป็นสำคัญ ประกอบด้วย คดีอาญาทั่วไป คดีอาญาร้ายแรง คดียาเสพติดรายย่อย และคดียาเสพติดรายใหญ่  โดยจะได้รับการลดโทษตามหลักเกณฑ์ คือ คดีอาญาทั่วไป ชั้นเยี่ยม 1 ใน 2, ชั้นดีมาก 1 ใน 3, ชั้นดี 1 ใน 4, ชั้นกลาง 1 ใน 5 ส่วนคดีอาญาร้ายแรง ชั้นเยี่ยม 1 ใน 3, ชั้นดีมาก 1 ใน 4, ชั้นดี 1 ใน 5, ชั้นกลาง 1 ใน 6 สำหรับคดียาเสพติดรายย่อย ชั้นเยี่ยม 1 ใน 5, ชั้นดีมาก 1 ใน 6, ชั้นดี 1 ใน 7, ชั้นกลาง 1 ใน 8 และคดียาเสพติดรายใหญ่ ชั้นเยี่ยม 1 ใน 6, ชั้นดีมาก 1 ใน 7, ชั้นดี 1 ใน 8, ชั้นกลาง 1 ใน 9 

“โดยตัวอย่างการคำนวณการลดโทษ สำหรับคดีอาญาทั่วไป นักโทษเด็ดขาดชาย ก. อยู่ในชั้นเยี่ยม กำหนดโทษจำคุก 30 ปี จะได้ลด 1 ใน 2 ตามเกณฑ์ข้างต้น คือจะได้ลด 15 ปี ดังนั้น จึงเหลือกำหนดโทษจำคุกอีก 15 ปี แต่หากเป็นคดีอาญาร้ายแรง ถ้านักโทษเด็ดขาดชาย ก. เป็นผู้กระทำผิดในคดีอาญาร้ายแรง มีกำหนดโทษจำคุก 30 ปี และเป็นชั้นเยี่ยมเช่นเดียวกัน จะได้รับการลดโทษ 1 ใน 3 คือ จะได้ลด 10 ปี ดังนั้น จึงเหลือกำหนดโทษจำคุกอีก 20 ปี”

นายณรงค์ กล่าวเสริมว่า กรณีของ นายบุญทรง คดีจำนำข้าวที่ปรากฏเป็นข่าว ถือเป็นคดีอาญาร้ายแรง ศาลได้ตัดสินจำคุก มีกำหนดโทษ 48 ปี และได้รับการอภัยโทษจำนวน 4 ครั้ง ดังนี้ ครั้งที่ 1 วันที่ 15 ส.ค. 63 ได้ลดโทษ 12 ปี (ลดโทษ 1 ใน 4 ชั้นดีมาก) เหลือโทษจำคุก 36 ปี, ครั้งที่ 2 วันที่ 5 ธ.ค. 63 ได้ลดโทษ 12 ปี (ลดโทษ 1 ใน 3 ชั้นเยี่ยม) เหลือโทษจำคุก 24 ปี, ครั้งที่ 3 วันที่ 28 ก.ค. 64 ได้ลดโทษ 8 ปี (ลดโทษ 1 ใน 3 ชั้นเยี่ยม) เหลือโทษจำคุก 16 ปี และ ครั้งที่ 4 วันที่ 6 ธ.ค. 64 ได้ลดโทษ 5 ปี 4 เดือน (ลดโทษ 1 ใน 3 ชั้นเยี่ยม) เหลือโทษจำคุก 10 ปี 8 เดือน

นายณรงค์ กล่าวปิดท้ายว่า กรมราชทัณฑ์ ขอให้สังคมและประชาชนเชื่อมั่นในการปฏิบัติงาน ว่า เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ภายใต้กรอบของกฎหมาย และจะปฏิบัติต่อผู้ต้องขังทุกคนด้วยความเสมอภาค เท่าเทียม ไม่มีการเลือกปฏิบัติ หรือให้สิทธิประโยชน์ต่อผู้ต้องขังกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นการเฉพาะ พร้อมให้โอกาสแก่ผู้กระทำความผิดทุกคนได้กลับตนเป็นพลเมืองที่ดีของสังคมต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น