MGR Online - “ปคบ. ร่วม สบส.-อย.” บุกทลายคลินิกเถื่อนไม่ได้ขออนุญาต ลักลอบตรวจรับรองผลโควิด-19 เจอตัวอย่างเลือดและปัสสาวะ เก็บรักษาไม่ถูกสุขลักษณะ
วันนี้ (14 ธ.ค.) เวลา 13.00 น. ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. พร้อมด้วย พ.ต.อ.ธรากร เลิศพรเจริญ รอง ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ. นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และ ภญ. สุภัทรา บุญเสริม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข รักษาราชการเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมแถลงผลการจับกุมคลินิกเถื่อนลักลอบให้บริการห้องแล็บตรวจคัดกรองโควิด-19 แก่ประชาชนโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยผู้ให้บริการก็ไม่ใช่บุคลากรทางสาธารณสุข
พล.ต.ต.อนันต์ เผยว่า สืบเนื่องจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ได้รับการประสานจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ปทุมธานี ว่า พบเบาะแสการเปิดคลินิกเถื่อน ซึ่งให้บริการในลักษณะห้องปฏิบัติการตรวจสารคัดหลั่งของเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) และออกใบรับรองผลในนามคลินิกให้แก่ประชาชนทั่วไป ซึ่งอาจจะมีการดำเนินการที่ไม่ได้มาตรฐานสุ่มเสี่ยงให้เกิดการระบาดของโรคโควิด 19 จึงได้ประสานมายัง กก.4 บก.ปคบ. เพื่อสืบสวนหาข้อมูลเพิ่มเติม กระทั่งวานนี้ 13 ธ.ค. เจ้าหน้าที่จึงได้สนธิกำลังลงพื้นที่ดำเนินการตรวจสอบ ณ คลินิกเทคนิคการแพทย์ ตี แล็บ อินเตอร์กรุ๊ป ตั้งอยู่ที่ ต.บ้านกระแซง อ.เมือง จ.ปทุมธานี
พ.ต.อ.เนติ กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่าคลินิกดังกล่าวให้บริการตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 แก่ประชาชนด้วยชุดตรวจ ATK รายละ 500 บาท และออกใบรับรองผลในนามคลินิก โดยที่ไม่ได้ขออนุญาตประกอบกิจการกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี แต่มีการนำใบอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาลจากสถานพยาบาลอื่นมาแสดงแก่ผู้มารับบริการเพื่อความน่าเชื่อถือ อีกทั้ง เจ้าหน้าที่รวมถึงผู้ให้บริการและผู้ช่วยซึ่งอยู่ประจำคลินิกมิใช่แพทย์ หรือนักเทคนิคการแพทย์แต่อย่างใด และจากการตรวจสอบสถานที่แห่งนี้พบว่ามีการจัดเก็บตัวอย่างเลือดและตัวอย่างปัสสาวะหลายพัน ที่ได้จากการออกไปรับตรวจตามโรงงานหรือบริษัทต่างๆ มาเก็บรักษาไว้ในตู้เย็นโดยไม่ถูกสุขลักษณะ ประกอบกับการตรวจสอบเครื่องมือที่ใช้ในคลินิก ทำให้เห็นได้ว่าสถานที่แห่งนี้ไม่กระทำการตามมาตรฐานวิชาชีพเทคนิคการแพทย์และมาตรฐานของสถานพยาบาล และประการสำคัญได้ตรวจพบว่าไม่มีการเก็บขยะติดเชื้อที่เป็นไปตามมาตรฐาน
พ.ต.อ.เนติ กล่าวอีกว่า เจ้าหน้าที่ได้จับกุมตัวผู้ต้องหาจำนวน 2 ราย คือ น.ส.วาสิตา (สงวนนามสกุล) ซึ่งเป็นเจ้าของและผู้ดูแลสถานที่ ในความผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ฐานประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและได้รับอนุญาต (คลินิกเถื่อน) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ น.ส.พรนภา (สงวนนามสกุล) เป็นผู้ให้บริการตรวจขณะเข้าทำการตรวจสอบ ในความผิดตาม พ.ร.บ.เทคนิคการแพทย์ พ.ศ.2547 ฐานประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์โดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ โดยทั้ง 2 รายรับสารภาพและเปิดบริการมาประมาณ 6 เดือน พร้อมยึดของกลางที่ใช้ประกอบการกระทำความผิด ส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
ด้าน นายแพทย์ธเรศ เปิดเผยว่า สบส. ได้รับการร้องเรียนให้ตรวจสอบคลินิกดังกล่าว หลังมีผู้เข้ารับบริการตรวจหาเชื้อโควิดแล้วพบผลเป็นลบ แต่ต่อมาได้เสียชีวิต จึงส่งเจ้าหน้าที่เข้าล่อซื้อตรวจเชื้อโควิดปรากฎว่าไม่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง ทั้งนี้ การตรวจสารคัดหลั่งของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะต้องกระทำในคลินิก หรือห้องปฏิบัติการที่มีการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มิฉะนั้นก็อาจจะเป็นการเสียเวลาและเงินทองโดยเปล่าประโยชน์ โดยผู้ให้บริการขาดความชำนาญหรืออุปกรณ์การตรวจคัดกรองที่ไม่ได้มาตรฐานผลตรวจที่ได้ก็อาจจะขาดความเที่ยงตรง รวมถึง วิธีการที่ไม่ถูกต้องก็อาจทำให้เกิดการติดเชื้อหรือการระบาดจากสถานที่เก็บตัวอย่าง จึงขอให้ประชาชนตรวจสอบรายชื่อสถานพยาบาลทุกครั้งก่อนรับบริการ
“โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อคลินิกที่ขึ้นทะเบียนได้ที่เว็บไซต์กองสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ และในส่วนของห้องปฏิบัติการหรือห้องแล็บที่ตรวจคัดกรองด้วยวิธี RT-PCR สามารถตรวจสอบรายชื่อได้ที่เว็บไชต์กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งจะมีการแสดงที่ตั้งของสถานพยาบาล หรือห้องปฏิบัติการเหล่านั้นอย่างชัดเจน หากตรวจสอบรายชื่อไม่พบ หรือสถานที่ตั้งไม่ตรงกับที่แสดงในเว็บไซต์ ขอให้ตั้งข้อสงสัยไว้เบื้องต้นว่าเป็นคลินิกเถื่อน”
ส่วนทาง ภญ.สุภัทรา กล่าวว่า เทคนิคการตรวจด้วยชุดทดสอบตรวจหาแอนติเจนเบื้องต้น (ATK) ได้ถูกนำมาใช้ในการตรวจค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกเพื่อคัดกรองการติดเชื้อโควิด-19 ในเบื้องต้น ซึ่งในปัจจุบันมีอยู่ 2 แบบ คือ แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (home use) และแบบใช้โดยบุคลากรทางการแพทย์ (professional use) เท่านั้น ซึ่งทั้ง 2 แบบ ต่างกันที่อุปกรณ์และตำแหน่งการเก็บตัวอย่าง กรณีชุดตรวจด้วยตนเองจะเก็บตัวอย่างจากโพรงจมูกด้านหน้า (nasal swab) หรือน้ำลาย (saliva) ส่วนชุดตรวจสำหรับบุคลากรทางการแพทย์จะเก็บตัวอย่างจากเยื่อบุด้านหลังโพรงจมูก (Nasopharyngeal swab) ไม้เก็บตัวอย่างจะมีขนาดยาวกว่า ต้องใช้เทคนิคในการเก็บตัวอย่างเพื่อให้ได้ผลที่แม่นยำและไม่ทำให้เกิดการบาดเจ็บ
ภญ.สุภัทรา กล่าวต่อว่า สำหรับการจับกุมในครั้งนี้ แม้ว่าเจ้าหน้าที่จะพบว่า ชุดทดสอบที่ใช้ตรวจหาแอนติเจนเป็นแบบตรวจด้วยตนเอง (home use) ซึ่งได้รับอนุญาตจาก อย. อย่างถูกต้อง แต่เป็นการกระทำของผู้ที่ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์และไม่มีความรู้ความชำนาญในการเก็บตัวอย่างที่ถูกต้อง อีกทั้งสถานที่ดังกล่าวยังไม่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง เมื่อผู้มาใช้บริการจากคลินิกดังกล่าวคาดหวังว่าจะได้รับผลการตรวจที่แม่นยำ สามารถออกใบรับรองเพื่อใช้ประกอบการทำธุรกรรมต่างๆ ก็จะเป็นการเสียเวลา เสียเงินโดยเปล่าประโยชน์