MGR Online - “ปคบ.- กรมวิชาการเกษตร” ร่วมตรวจค้นทลายเครือข่ายวัตถุอันตรายปลอม ไม่ได้มาตรฐาน ยึดของกลาง 3,000 แกลลอน มูลค่ากว่า 3 ล้านบาท
วันนี้ (8 ธ.ค.) เวลา 11.00 น. กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. พร้อม พ.ต.อ.อภิชาติ เรนชนะ ผกก.2 บก.ปคบ. และ นายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตรกร ร่วมแถลงผลการตรวจค้นทลายเครือข่ายวัตถุอันตรายจำกัดการใช้สารกำจัดวัชพืช (ไกลโฟเซต) ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายปลอม จำนวน 3,000 แกลลอน มูลค่ากว่า 3 ล้านบาท
พ.ต.อ.อภิชาติ เผยว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.2 บก.ปคบ. ได้รับแจ้งจากสายว่า มีกลุ่มผู้กระทำผิดลักลอบผลิตวัตถุอันตรายทางการเกษตร เป็นสารกำจัดวัชพืช โดยไม่ได้รับอนุญาตและเสนอขายผ่านช่องทางออนไลน์ จึงได้ทำการติดต่อล่อซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าว จากการตรวจสอบ พบว่าเป็นผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายปลอม ซึ่งได้รับการยืนยันจากบริษัทผู้เสียหาย ต่อมา ตำรวจ กก.2 บก.ปคบ. จึงได้ทำการสืบสวนขยายผลจนทราบว่า นายศุภฤทธิ์ (สงวนนามสกุล) เป็นเซลส์จำหน่าย ได้ลักลอบขายผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายจำกัดการใช้สารกำจัดวัชพืช (ไกลโฟเซต) ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายปลอม
พ.ต.อ.อภิชาติ เผยอีกว่า จากการสืบสวน นายศุภฤทธิ์ มีร้านในเครือข่ายที่ได้นำสินค้าวัตถุอันตรายปลอมมาจำหน่ายให้แก่เกษตรกรทั่วไป จำนวน 6 ร้าน ดังนี้ 1. ร้านทองเกษตร เลขที่ 258 ม.1 ต.นาเหล่า อ.นาวัง จ.หนองบัวลำภู 2. ร้านโกรกแก้วการเกษตร เลขที่ 139 ม.11 ต.โกรกแก้ว อ.โนนสุวรรณ จ.บุรีรัมย์ 3. ร้านศรีสุขพานิช เลขที่ 206 ม.10 ถ.นิมิตรเมือง ต.หนองโก อ.กระนวน จ.ขอนแก่น 4. บจก.มุกข์รดาการเกษตร (สาขา 1) เลขที่ 22 ม.2 ต.บ้านขาม อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น 5. บจก.มุกข์รดาการเกษตร เลขที่ 356 ม.10 ต.หนองตูม อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น และ 6. ร้านพากเพียรการเกษตร เลขที่ 364/2 ม.2 ต.เสิงสาง อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา
“ต่อมา บก.ปคบ. ร่วมกับ กรมวิชาการเกษตร ได้รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อขออนุมัติศาลและประสานงานกับเจ้าหน้าที่วิชาการเกษตร เข้าทำการตรวจค้นสถานที่จำหน่ายทั้ง 6 แห่ง พบ ผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายดังกล่าวและวัตถุอันตรายอื่นๆ อีกหลายรายการ จึงยึดนำส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป” พ.ต.อ.อภิชาติ กล่าว
ด้าน พล.ต.ต.อนันต์ กล่าวว่า ฝากเตือนภัยในกรณีที่เกษตรกรซื้อผลิตภัณฑ์สารกำจัดวัชพืชให้ตรวจสอบผู้ผลิต สถานที่ผลิตให้ถูกต้อง หากไม่ได้ผ่านการตรวจคุณภาพจากกรมวิชาการเกษตรหรือไม่ได้ตามคุณภาพอาจทำให้ผลผลิตของเกษตรกรไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และยังเป็นการเพิ่มต้นทุนในการผลิต และอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่เกษตรกรผู้ใช้อีกด้วย
นายภัสชญภณ กล่าวเสริมว่า วัตถุอันตรายดังกล่าว มีประกาศต้องจำกัดการใช้กับพืชบางชนิด และผู้ใช้ต้องผ่านการอบรมเกษตรกร รวมทั้งผู้ผลิตและจำหน่ายต้องผ่านการตรวจสอบจากกรมวิชาการเกษตร โดยของกลางทั้งหมดพบว่าเป็นการปลอมทั้งตัวยา, ฉลาก, ชื่อบริษัทและทะเบียน ทำให้ไม่มีคุณภาพเกษตรกรได้รับความเสียหาย นอกจากนี้ ยังไม่มีขายผ่านทางออนไลน์หากพบแจ้งมาที่กรมวิชาการเกษตรได้ทันที
เบื้องต้น การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ฐาน ผลิต นำเข้า
ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ปลอม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 700,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ