xs
xsm
sm
md
lg

“สมศักดิ์” ชี้กฎหมาย JSOC ช่วยป้องกันคดีสะเทือนขวัญ หวั่นไม่ทันสภาฯ สมัยนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - รมว.ยุติธรรม เผย นายกฯ เตรียมกำชับ กฤษฎีกา เร่งพิจารณากฎหมาย JSOC หลังผ่าน ครม.ไปแล้ว 4 เดือน กังวลทำไม่ทันสมัยนี้ ชี้เป็นประโยชน์ต่อสังคม

วันนี้ (5 ธ.ค.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงความคืบหน้า ร่างพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง หรือกฎหมาย JSOC ว่า ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และส่งให้ คณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาตั้งแต่เดือน ส.ค. 2564 ซึ่งถึงขณะนี้ก็ผ่านมา 4 เดือนแล้ว คณะกรรมการกฤษฎีกาก็ยังพิจารณาไม่เสร็จ อาจจะเนื่องจากการเป็นกฎหมายรูปแบบใหม่

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง ได้แก่ กำหนดให้มีคณะกรรมการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ กำหนดมาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดเฉพาะราย การเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษ การคุมขังภายหลังพ้นโทษ การคุมขังฉุกเฉิน และการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่มีประวัติเป็นผู้กระทำความผิดเหตุการณ์ที่ใช้ความรุนแรง ซึ่งนักวิชาการบางท่าน อาจจะมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ตนคิดว่า เรื่องสิทธิมนุษยชนนั้น ควรจะให้สำหรับ ปกติชน คนที่มีจิตใจปกติ แต่สำหรับคนที่มีจิตใจไม่ปกติผิดมนุษย์ ไม่ควรได้รับสิทธินั้น

“ประโยชน์ของร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวนั้น ผู้ที่ได้ประโยชน์มากที่สุดคือครอบครัวที่มีผู้หญิงและเด็ก เพราะเวลาที่มีข่าวคดีอาชญากรรมที่สะเทือนขวัญ ฆ่าข่มขืน ผู้คนในสังคมจะเกิดความหวาดกลัว วิตกกังวล และเกลียดสิ่งที่เกิดขึ้นในลักษณะนี้ เช่น กรณีของ ไอซ์ หีบเหล็ก หรือ สมคิด พุ่มพวง ที่เป็นฆาตกรต่อเนื่องและโรคจิต และผู้คนในสังคมจะรู้สึกเศร้าอย่างมาก เพราะกรณีแบบนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ดังนั้น หากเราสามารถทำกฎหมายออกมาใช้ได้เร็ว เราจะทำให้สังคมปลอดภัยมากขึ้น เพราะหากคนพวกนี้เมื่อพ้นโทษออกจากคุก หากสังคมไม่รู้ตัวจะเกิดเหตุลักษณะนี้ขึ้นอีกได้ เหมือนการปล่อยเสือเข้าป่า เพราะเมื่อถูกขัง เวลาถูกปล่อยออกมา จะมองคนในสังคมเป็นอาหารและเข้ากัดเข้าทำร้ายได้ตามสัญชาตญาณ แต่หากสังคมรับรู้ มีมาตรการป้องกันที่ดี จะช่วยลดการเกิดเหตุแบบนี้ได้อย่างมากและเกิดขึ้นได้ยาก” นายสมศักดิ์ กล่าว

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า รัฐสภาชุดนี้ยังเหลือเวลาในการทำงานอีกประมาณ 1 ปีครึ่ง แต่การประชุมสภาฯนั้น จะมีการเปิดและปิดสมัยประชุม อาจจะเหลือระยะเวลาพิจารณากฎหมายอยู่ประมาณแค่ 1 ปี ตนกังวลว่า หากคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่เร่งพิจารณาให้เสร็จ ร่างกฎหมายอาจจะเสร็จไม่ทันในสมัยนี้ เพราะต้องผ่านทั้งการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ที่มี 3 วาระ และเมื่อผ่านก็ต้องเข้าสู่การพิจารณาของชั้นวุฒิสภาอีก ซึ่งทั้ง 2 สภาฯต้องใช้เวลาพิจารณาอีกหลายเดือน ดังนั้น ตนจึงอยากขอร้องให้ทางคณะกรรมการกฤษฎีกา เร่งพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ เพื่อนำเข้าสู่สภาฯโดยเร็ว เพื่อให้สังคมเกิดความปลอดภัยมากขึ้น

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า เพราะหากลูกหลานของใครไม่พบกับสถานการณ์แบบนั้นก็คงไม่ได้รับรู้ ไม่มีความรู้สึกอะไร แต่สำหรับครอบครัวที่เขาต้องประสบพบเจอเหตุการณ์ลักษณะแบบนั้น เขามีความเจ็บปวดและเศร้าใจเป็นอย่างมาก เราไม่อยากให้ใครหรือครอบครัวใดต้องเจอกับความเลวร้ายและเศร้าใจแบบนั้นอีก ทั้งนี้ นายกรัฐมตรี พร้อมที่จะกำชับให้ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาเร่งพิจารณาร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อให้เข้าสู่การบรรจุวาระของสภาฯ เพื่อให้เสร็จทันของสภาฯในสมัยนี้ เพราะถือว่าเป็นกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและสังคมเป็นอย่างมาก


กำลังโหลดความคิดเห็น